'AI - Gen AI' ความหวังฝ่าวิกฤติ สร้างจุดเปลี่ยนดิจิทัลองค์กร
"เดลล์ เทคโนโลยีส์" เผยวิจัย องค์กรเติบโตสูง คาดหวังว่า AI และ GenAI จะช่วยปฏิรูปอุตสาหกรรม ชี้องค์กรทั่วโลกต่างกำลังเผชิญความท้าทายในการนำ AI มาใช้ เพื่อเป้าหมายการสร้างจุดยืนสำหรับการพัฒนานวัตกรรมในอนาคต
KEY
POINTS
- องค์กรไทย 99% เชื่อว่า AI จะเข้ามาปฏิรูปอุตสาหกรรม
- องค์กรไทย 98% กล่าวว่าข้อมูลคือหัวใจสำคัญของความสำเร็จด้าน AI
- ธุรกิจ 27% กำลังเปลี่ยนผ่านจากแนวคิดสู่การนำ GenAI มาใช้งานจริง
- ผู้ร่วมสำรวจในไทย 89% กล่าวว่า เครื่องมือ AI ช่วยเพิ่มศักยภาพให้มนุษย์ และให้ผลลัพธ์สูงสุด
ผลการสำรวจโดย “เดลล์ เทคโนโลยีส์” เผยว่า องค์กรทั่วโลกต่างกำลังเผชิญความท้าทายในการสร้างจุดยืนเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในอนาคตเมื่อนำ AI มาใช้งาน
จากรายงาน Dell Technologies Innovation Catalyst Research พบว่า 99% ขององค์กรในประเทศไทยเชื่อว่า AI จะเข้ามาปฏิรูปอุตสาหกรรม (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 85% ทั่วโลก 81%)
การสำรวจความคิดเห็นผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอที และผู้มีอำนาจตัดสินใจทางธุรกิจจำนวน 6,600 คน ครอบคลุม 40 ประเทศ ชี้ให้เห็นว่า แม้องค์กรส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในศักยภาพของ AI และ GenAI แต่ระดับความพร้อมขององค์กรในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ล้วนแตกต่างกันไปมาก
ทั้งนี้ เกือบทุกองค์กรในประเทศไทย (98%) กล่าวว่า ตัวเองมีจุดยืนที่ดีในการแข่งขันและมีกลยุทธ์ที่แข็งแกร่ง (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 80% ทั่วโลก 82%)
อย่างไรก็ดี กว่าครึ่งหนึ่งยังคงมีความไม่แน่ใจว่าอุตสาหกรรมจะเป็นอย่างไรในอีก 3-5 ปีข้างหน้า และทุกองค์กรรายงานถึงความยากลำบากในการตามให้ทันกับสถานการณ์ โดย 40% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทยกล่าวว่า ยังขาดบุคลากรที่มีความสามารถ
ขณะที่ 37% รายงานถึงความกังวลใจเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ และ 34% ขององค์กรในประเทศไทยรายงานถึงการขาดงบประมาณว่าเป็นความท้าทายที่ต้องเผชิญในการขับเคลื่อนนวัตกรรม
GenAI จากแนวคิดสู่การใช้งานจริง
ผลสำรวจระบุว่า 60% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย กล่าวว่า GenAI ให้ศักยภาพที่โดดเด่นในการปฏิรูปการทำงาน ช่วยสร้างคุณค่าในการปรับปรุงการรักษาความปลอดภัยไอที (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 51% ทั่วโลก 52%)
ขณะที่ 65% อ้างถึงการสร้างผลลัพธ์ที่ดี (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 53% ทั่วโลก 52%) ทั้งยังมี 62% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย อ้างถึงศักยภาพที่ช่วยปรับปรุงประสบการณ์ลูกค้าได้ดีขึ้น (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 51% ทั่วโลก 51%)
นอกจากนี้ ผู้ร่วมการสำรวจยังตระหนักดีถึงความท้าทายที่ต้องรับมือ 88% ขององค์กรในไทยกลัวว่า AI จะนำพาปัญหาใหม่ๆ ด้านความปลอดภัยภัยและความเป็นส่วนตัวมาด้วย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 69% ทั่วโลก 68%) และ 90% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 76% ทั่วโลก 73%) เห็นพ้องว่าข้อมูลและทรัพย์สินทางปัญญาในองค์กรตนมีค่ามากเกินกว่าจะเอามาไว้ในเครื่องมือ GenAI ที่บุคคลที่สามสามารถเข้าถึงได้
ในภาพรวม องค์กรต่างๆ กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ของ GenAI ในการเปลี่ยนจากแนวคิดสู่การนำมาใช้งานจริง 27% ของผู้ร่วมการสำรวจจากไทยกล่าวว่า กำลังเริ่มนำ GenAI มาใช้งาน โดย 92% เห็นพ้องว่าองค์กรควรเป็นผู้รับผิดชอบต่อความผิดพลาดหรือพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของ AI มากกว่าตัวระบบ การใช้งาน หรือสาธารณะเองก็ตาม
ท้าท้าย ‘ภัยคุกคาม’ ไซเบอร์
ฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บรรดาธุรกิจในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงพลังในการเปลี่ยนแปลงของ AI และ GenAI ที่ให้ศักยภาพสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยและยกระดับประสบการณ์ที่เหนือชั้นให้แก่ลูกค้า
สำหรับความท้าทายในขณะนี้ คือการเปลี่ยนจากแนวคิดสู่การใช้งานจริง และการสร้างระบบนิเวศของพันธมิตรที่เชื่อถือได้คือสิ่งสำคัญยิ่งที่ช่วยให้องค์กรสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย สามารถปรับขยายเพื่อรองรับนวัตกรรมได้
อีกทั้งช่วยตอบโจทย์ความกังวลใจหลักอย่างความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถที่เหมาะสม และการสร้างความยั่งยืน
ขณะเดียวกัน องค์กรกำลังต่อกรกับความท้าท้ายของภาพรวมภัยคุกคามในปัจจุบัน การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับองค์กรในวงกว้าง ความกังวลเหล่านี้ มีที่มาที่ไป เนื่องจาก 92% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย กล่าวว่าได้รับผลกระทบจากการโจมตีความปลอดภัยภายใน 12 เดือนที่ผ่านมา (เอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น 84% ทั่วโลก 83%)
ส่วนใหญ่ (96%) กำลังนำกลยุทธ์ Zero Trust มาใช้ และ 94% ขององค์กรในประเทศไทย กล่าวว่าองค์กรตนมีแผนตอบสนองต่อเหตุการณ์ (Incident Response Plan) อยู่แล้ว ในการรับมือการโจมตี หรือข้อมูลรั่วไหล
โดยปัญหาหลักสามอันดับแรก ได้แก่ มัลแวร์ ฟิชชิ่ง และการละเมิดข้อมูล พบด้วยว่าปัญหาที่เกิดจากฟิชชิ่งเป็นสัญญานบ่งชี้ถึงปัญหาที่ใหญ่ขึ้นตามมา โดยพนักงานมีบทบาทสำคัญต่อภัยคุกคามในภาพรวม
อินฟราฯ ที่ดี รากฐานสำคัญ
อีกประเด็นที่น่าสนใจ โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีที่เหมาะสมจะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ การวิจัยยังเผยว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยมีบทบาทสำคัญในขณะที่เทคโนโลยีอย่าง GenAI กำลังเดินหน้าพัฒนาและมีปริมาณข้อมูลเพิ่มขึ้น
การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย รองรับการปรับขยายได้ ถูกหยิบยกว่าเป็นปัจจัยสำคัญอันดับแรกที่ธุรกิจต้องปรับปรุงเพื่อเร่งสร้างนวัตกรรม ผู้มีอำนาจตัดสินใจด้านไอทีส่วนใหญ่ในประเทศไทย (78%) กล่าวถึงความชื่นชอบในโมเดลแบบ on-prem หรือไฮบริด ว่าช่วยตอบโจทย์ความท้าทายที่คาดว่าจะเกิดจากการนำ GenAI มาใช้ในองค์กร
นอกจากนี้ ความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลทั่วองค์กร ยังนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างนวัตกรรม องค์กรไทย 53% กล่าวว่า ปัจจุบันตนสามารถเปลี่ยนข้อมูลให้เป็นข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์เพื่อช่วยสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมได้
ขณะที่ 98% ของผู้ร่วมการสำรวจในไทย กล่าวว่า ข้อมูลคือปัจจัยที่สร้างความแตกต่างและกลยุทธ์ GenAI ต้องสัมพันธ์กับการใช้และปกป้องข้อมูล