หรือดาวเทียมไทยไม่พร้อมเปิดเสรี? เอ็นที-OneWeb หลบฉากหันลุยตลาดอาเซียน
เอ็นทีกัดฟันดันเกตเวย์ดาวเทียมวงโคจรต่ำร่วมกับ OneWeb หลังดีเลย์ 3 เดือนเต็ม ได้ฤกษ์เปิดบริการม.ค.ปี 68 หลบฉากทำตลาดแค่ในต่างประเทศ หลังสัญญาในไทยยังไม่ผ่านกสทช.-อัยการสูงสุด
แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) ได้ลงมติเอกฉันท์เปิดเสรีกิจการดาวเทียมเพื่อให้ผู้ประกอบการดาวเทียมจากต่างประเทศ สามารถเข้ามาทำตลาดได้ในไทย หลังจากที่สิ้นสุดยุคสัมปทานนานกว่า 30 ปี
โดยรายละเอียดของมติบอร์ดกสทช.ประกอบด้วย
1.อนุญาตให้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในการให้บริการในประเทศ (Landing Right) สำหรับโครงข่ายดาวเทียมต่างชาติ โดยมีระยะเวลา 5 ปี
2.อนุญาตการเพิ่มบริการขายความจุดาวเทียม (satellite network capacity) ตามระยะเวลาใบอนุญาตของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 3 ส.ค. 2568 นี้
3.อนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระยะเวลา 5 ปี เพื่อให้ปรับเงื่อนไขใบอนุญาตให้สอดคล้องกัน
โดยเหตุผลที่อนุญาตนั้น บอร์ดกสทช. ระบุว่าเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์ในระดับรัฐเพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. 2564
อีกทั้ง คำนึงถึงผลกระทบกับผู้ประกอบกิจการดาวเทียมไทย ที่ได้มีการประมูลไปแล้วเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการที่มีคุณภาพดีสูงขึ้น และราคาถูกลง รวมทั้ง สามารถให้บริการได้ทุกที่ ก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการ ทั้งในเชิงคุณภาพ บริการ และราคา อีกด้วย
โครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต
พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด หรือ เอ็นที แถลงข่าวล่าสุดร่วมกับ Eutelsat OneWeb บริษัท OneWeb เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ เตรียมเปิดให้บริการ Satellite Network Portal Gateway (SNP Gateway) ให้ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อยกระดับการสื่อสารผ่านดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับระบบดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit - LEO) ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางการให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค
เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน ตำแหน่งที่ตั้งเชิงยุทธศาสตร์ ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค และจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย ไม่เพียงแต่จะเพิ่มประสิทธิภาพการเชื่อมต่อระดับประเทศ แต่ยังเชื่อมโยงประเทศไทยกับโครงข่ายการสื่อสารระดับโลก
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคต
SNP Gateway แห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ที่สถานีดาวเทียมสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับการออกแบบและพัฒนาด้วยเทคโนโลยีล่าสุด เพื่อรองรับการรับ-ส่งสัญญาณผ่านโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ OneWeb ความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลสูงสุดถึง 10Gbps ค่าหน่วงเวลา (Latency) ต่ำเพียง 20-50 มิลลิวินาที
ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียตะวันออก ระบบสำรองและความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล โดยมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 400 ล้านบาท ซึ่งมีการคาดการณ์รายได้ต่อปี 200 ล้านบาท โดยรายได้มาจาก 2 ส่วนจาก โครงสร้างพื้นฐาน และขายรีเทล
ลุยขอบเขตการให้บริการในอาเซียน
SNP Gateway แห่งนี้จะรองรับการเชื่อมโยงการติดต่อสื่อสารผ่านโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ OneWeb ครอบคลุมพื้นที่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว เมียนมาไต้หวัน เกาหลีใต้ บางส่วนของประเทศอินโดนีเซีย นอกจากนี้ ยังสามารถเชื่อมโยงกับ SNP Gateway ในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อรองรับการสื่อสารระหว่างประเทศอย่างไร้รอยต่อ
โดยการให้บริการผ่าน SNP Gateway จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ภาคธุรกิจ จะเพิ่มความเร็วและเสถียรภาพในการเชื่อมต่อสำหรับองค์กร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องการการสื่อสารแบบ Real-time เช่น การเงิน การธนาคาร และ ระบบโลจิสติกส์ ภาคการศึกษา สนับสนุนการเรียนรู้ทางไกลในพื้นที่ห่างไกล เชื่อมต่อโรงเรียนในชนบทสู่แหล่งความรู้ดิจิทัล ภาคประชาชน ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่โครงข่ายโทรคมนาคมภาคพื้นดินเข้าไม่ถึง รวมถึงพื้นที่เกาะ น่านน้ำมหาสมุทร และชายแดน ภาครัฐ สนับสนุนการให้บริการภาครัฐและการจัดการภัยพิบัติ พร้อมระบบสำรองฉุกเฉินสำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤต
ยอมรับโครงการดีเลย์ 3 เดือนเต็ม
เอ็นทีมีกำหนดเปิดให้บริการ SNP Gateway อย่างเป็นทางการในม.ค.ปี 2568 โดยจะเริ่มทดสอบระบบในเดือนนี้ เพื่อให้มั่นใจในคุณภาพการให้บริการสูงสุด โดยคาดว่าจะสามารถรองรับการให้บริการครอบคลุมผู้ใช้งานในภูมิภาคได้มากกว่า 50,000 ราย ภายในปีแรกของการให้บริการ
หลังจากที่เราได้ใบอนุญาตจากกสทช.เพื่อให้พันธมิตรเราก็คือ OneWeb และมีกำหนดเปิดบริการตั้งแต่เดือนก.ย.ที่ผ่านมา แต่ด้วยกฎระเบียบและรายละเอียดของกสทช.ที่ต้องพิจารณา และที่สำคัญต้องตรวจสอบจากอัยการสูงสุด ทำให้เราให้บริการในไทยไม่ได้ ต้องให้บริการเฉพาะในต่างประเทศก่อน
บริษัท OneWeb เครือข่ายดาวเทียมบรอดแบนด์ระดับโลกจากประเทศอังกฤษ ให้บริการโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ Low Earth Orbit (LEO) โดยปัจจุบันได้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้ว 428 ดวง หรือ 66% ของกลุ่มดาวทั้งหมด 648 ดวง ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการทั่วโลก คาดว่าการปล่อยดาวเทียมที่เหลือจะเสร็จสิ้นในปีนี้
ทั้งนี้ OneWeb ต้องการจะเดินหน้าทำตลาดในภูมิภาคอาเซียน หลังจากที่สรุปแล้วว่าจะร่วมเป็นพันธมิตรกับเอ็นที ต่อมาได้ตั้งสถานีเกตเวย์ภาคพื้นดิน ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศไทย ณ สถานีดาวเทียมสิรินธร เป็นหนึ่งในจำนวนกว่า 40 เกตเวย์ที่เชื่อมต่อกับสถานีเกตเวย์ของ OneWeb ในภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก โดยร่วมกันเชื่อมโยงสัญญาณผ่านระบบดาวเทียมหลายดวงในเครือข่าย ดาวเทียมวงโคจรต่ำทั่วโลก
สำหรับสถานีเกตเวย์ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี มีขนาดพื้นที่ประมาณ 40,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยการติดตั้งฐานจานสายอากาศจำนวน 14 ฐาน เพื่อติดตั้งจานสายอากาศเบื้องต้น 12 จาน สายอากาศ พร้อมอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้รับการออกแบบให้รองรับสถานีภาคพื้นดินที่สมบูรณ์แบบ