‘อาลีบาบา’ สำรวจอุปสรรค เส้นทางธุรกิจสู่ ‘ความยั่งยืน’
อาลีบาบา มองความท้าทายและสำรวจอุปสรรค เส้นทางสู่ "ความยั่งยืน” ที่วันนี้ถูกยกระดับให้เป็นวาระสำคัญและกลายเป็นส่วนหนึ่งในโรดแมปทางธุรกิจขององค์กรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย
KEY
POINTS
-
ดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญทำให้ก้าวสู่ความยั่งยืนได้เร็วขึ้น
-
อุปสรรคที่องค์กรพบบ่อยที่สุดต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน คือ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซัพพลายเชนที่ซับซ้อน และทางเทคโนโลยี
- มีความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต่างๆ ต้องประเมินวิธีการวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของตนใหม่
- องค์กรควรเปิดรับเทคโนโลยีโซลูชันที่ล้ำหน้า เช่น แพลตฟอร์มที่ทำงานบนคลาวด์ และบริการด้าน AI ต่างๆ
วันนี้ “ความยั่งยืน” ถูกยกระดับให้เป็นวาระสำคัญและกลายเป็นส่วนหนึ่งในโรดแมปทางธุรกิจขององค์กรทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย...
ทว่าในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายนัก เห็นได้จากผลสำรวจโดย “อาลีบาบา คลาวด์” ที่เผยว่า อุปสรรคต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืน 3 ลำดับแรกที่องค์กรพบบ่อยที่สุดคือ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ ซัพพลายเชนที่ซับซ้อน และข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
ขณะเดียวกัน มีความจำเป็นเร่งด่วนที่องค์กรต่างๆ ต้องประเมินวิธีการวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนของตนใหม่ และเปิดรับเทคโนโลยีโซลูชันที่ล้ำหน้า เช่น แพลตฟอร์มที่ทำงานบนคลาวด์ และบริการด้าน AI ต่างๆ
เนื่องจากเครื่องมือดิจิทัลเหล่านี้ไม่เพียงเพิ่มประสิทธิภาพให้กับการวัดผลเท่านั้น แต่ยังมอบข้อมูลเชิงลึกที่นำไปใช้ได้จริง ซึ่งสามารถขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านความยั่งยืนได้อย่างมีนัยสำคัญ
วาระสู่ความสำเร็จระยะยาว
ผลสำรวจระบุว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ต่างมีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่มากกว่าครึ่งยังใช้เครื่องมือวัดประสิทธิภาพแบบแมนนวล โดยธุรกิจ 80% จากเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืนแล้ว แต่ในจำนวนนี้ 53% ยังคงใช้วิธีการวัดประสิทธิภาพความก้าวหน้าของเป้าหมายดังกล่าวแบบแมนนวล
ธุรกิจไทยเองก็มีแนวโน้มคล้ายกัน โดยมีธุรกิจถึง 82% ที่มีการตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน แต่ 50% ยังคงใช้วิธีวัดประสิทธิภาพแบบแมนนวลอยู่
เว่ย หลิว หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ ESG อาลีบาบา กรุ๊ป มีมุมมองว่า ความยั่งยืนเป็นทั้งโอกาสและความท้าทาย วาระสำคัญที่จะช่วยปูทางในการสร้างความสำเร็จระยะยาว
อย่างไรก็ดี ธุรกิจต่างมีข้อจำกัดทั้งด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ เวลา สอดคล้องไปกับผลสำรวจที่บอกว่า ธุรกิจมากกว่าครึ่งยังคงใช้วิธีการเก็บข้อมูลและวัดผลแบบแมนนวล
แม้จะทราบดีว่าเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ก้าวสู่ความยั่งยืนได้เร็วขึ้น ทว่ายังมีความกังวลหลายประการไม่ว่าจะเป็น ด้านงบประมาณ ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการใช้พลังงาน
บรรลุเป้าหมายด้วยเทคฯ
ข้อมูลระบุว่า ธุรกิจ 78% เห็นด้วยว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญมากต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของโลก หากพิจารณาในระดับภูมิภาค ตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่มีความเชื่อว่า เทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากที่สุด 86%
โดยมีตลาดเกิดใหม่ในเอเชียตามติดมาเป็นอันดับสอง 83% ขณะที่ 78% เชื่อว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง และ AI มาใช้ จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้เร็วขึ้น
ที่น่าสนใจธุรกิจที่มีเป้าหมายด้านความยั่งยืนประมาณครึ่งหนึ่งระบุว่า แรงจูงใจสำคัญในการตั้งเป้าหมายต่างๆ มาจาก การขับเคลื่อนการเติบโต (56%) การปฏิบัติตามกฎระเบียบ (54%) และเพื่อความแข็งแกร่งขององค์กร (49%)
สำหรับตลาดไทย ธุรกิจให้ความสำคัญกับความต้องการของลูกค้า (45%) การขับเคลื่อนการเติบโต (44%) และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (43%)
‘รัฐบาล’ กลไกความสำเร็จ
พบด้วยว่า ธุรกิจต่างต้องเผชิญกับอุปสรรคหลากหลายบนเส้นทางสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน องค์กรที่ตอบแบบสำรวจ 29% ระบุว่า ข้อจำกัดด้านงบประมาณเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่ส่งผลกระทบต่อองค์กร
หากดูเฉพาะองค์กรในไทยผลสำรวจเผยว่า ได้รับผลกระทบในสัดส่วนที่สูงกว่า (32%) มากกว่านั้น 23% ของบริษัทต่างๆ พบกับอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดทางเทคโนโลยี
ส่วนข้อจำกัดด้านเวลาเป็นความท้าทายที่สำคัญมากในทุกภูมิภาค และส่งผลกระทบต่อ 23% ขององค์กรที่ตอบแบบสำรวจ โดยไทยมีสัดส่วนสูงสุดที่ 34% ส่วนอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ยังไม่ได้ตั้งเป้าหมายด้านความยั่งยืน ได้แก่ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ (32%) และข้อจำกัดทางเทคโนโลยี (29%)
ท้ายที่สุด นอกจากการวางแผนอย่างมีกลยุทธ์แล้ว ภาครัฐเป็นอีกหนึ่งกลไกที่มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะบทบาทในการส่งเสริมสนับสนุน วางกฎเกณฑ์การกำกับดูแลและนโยบายที่เหมาะสมชัดเจน เพื่อเร่งกระบวนการต่างๆ ให้เร็วขึ้นและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้