'3 วงโคจร' มองเห็นครึ่งโลก เปิดไมล์สโตน 'ไทยคม' ชิงดำธุรกิจอวกาศ
ไทยคมเผย 3 วงโคจรดาวเทียมที่ถือครองจะสปริงบอร์ดธุรกิจให้ก้าวกระโดดปี‘70 เพราะทำตลาดได้ดีบนทำเลทองเห็นไกลครึ่งโลก ด้านรัฐบาลขานรับเศรษฐกิจอวกาศมองไทยไปได้ดีเป็นฮับดาวเทียมของภูมิภาคได้
Asia-Pacific Satellite Communications Council (APSCC 2024) เมื่อ 5-7 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นการประชุมสมาคมสื่อสารผ่านดาวเทียมแห่งเอเชียแปซิฟิกประจำปี ซึ่งฉายให้เห็นการพัฒนาของอุตสาหกรรมกิจการอวกาศ ว่าปัจจุบันมีความเจริญและรุดหน้าไปขนาดไหน
ย้อนกลับมาที่ไทยเองบนเวทีมีหน่วยงานที่เป็นตัวแทนของประเทศขึ้นพูดแสดงวิสัยทัศน์ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน)
ซึ่งสปอตไลท์ก็ส่องมาที่ไทยคมเต็มที่ เพราะถือเป็นเอกชนไทยที่ดำเนินธุรกิจดาวเทียมเจ้าเดียวมากว่า 30 ปี
นายปฐมภพ สุวรรณสิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคม กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมที่ล้ำสมัยของไทยเริ่มเป็นที่จับตามองตั้งแต่ให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์ดวงแรกของโลก เกือบ 30 ปีที่แล้วเป็นดาวเทียมไทยคม 4 (IP Star) ซึ่งเป็นดาวเทียมประเภท High Throughput หรือ HTS ตัวแรกในปี 2548 สามารถให้บริการครอบคลุมหลายประเทศในเอเชีย เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย รองรับการสื่อสารได้มากกว่าดาวเทียมอื่นในยุคนั้นถึง 10 เท่า
หันโฟกัสสเปซ เทค มองธุรกิจใหม่
เมื่อ 3 ปีก่อน ไทยคมได้ปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ใหม่จากการเน้นดาวเทียม สู่เทคโนโลยีอวกาศ โดยมองว่าอุตสาหกรรมนี้เป็น New S-Curve ใหม่ที่ต้องลงทุนในทักษะใหม่ๆ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ AI และการวิเคราะห์ข้อมูลซึ่งเป็นแกนหลักของการดำเนินธุรกิจในอนาคต เช่น การสำรวจโลก การวิเคราะห์ข้อมูล และการเกษตรอัจฉริยะ
ทั้งนี้ ได้เน้นการสร้างทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้ข้อมูลดาวเทียมทั้งนี้ ไทยคมยังได้รับรางวัลในด้านความยั่งยืนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
โดยพัฒนาแพลตฟอร์ม Carbon Watch สำหรับตรวจวัดปริมาณการดูดซับคาร์บอนในพื้นที่ป่าไทยโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งสามารถเพิ่มความแม่นยำในการประเมินข้อมูลได้ถึง 90% ทำให้การตรวจสอบป่าทั่วประเทศสามารถดำเนินการได้รวดเร็วและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการตรวจสอบแบบดั้งเดิม มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในประเทศไทยและขยายบริการสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดีย ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์ โดยเน้นการเข้าใจลักษณะเฉพาะของตลาดท้องถิ่นและการสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่ง
อีกทั้งยังจับมือกับ Globalstar ในการให้บริการ ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) ในไทย เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและการแข่งขันในตลาดระดับโลก ซึ่งการแข่งขันจากผู้เล่นข้ามชาติยักษ์ใหญ่ ถือเป็นความท้าทายที่ต้องอาศัยการปรับตัวอย่างรวดเร็วและใช้จุดแข็งในท้องถิ่นเพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาดในระดับภูมิภาค
ทำเลทองทำตลาดได้ครึ่งโลก
แผนปี 2568 สำหรับธุรกิจดาวเทียม เตรียมลากดาวเทียม 9A มาประจำตำแหน่งวงโคจร 50.5 องศาตะวันออกเพื่อรักษาสิทธิการใช้งานในวงโคจรตามที่ยื่นข้อเสนอเพื่อรักษาวงโคจรกับ สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรทัศน์กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
ขณะเดียวกันมีแผนเพิ่มดาวเทียมใหม่ในปีหน้าเพื่อเสริมธุรกิจด้านดาวเทียมต่อเนื่อง คือไทยคม 9 และไทยคม 10 ส่วนในธุรกิจเทคโนโลยีอวกาศ (Space Tech) ไทยคมมุ่งขยายฐานลูกค้าให้บริการโซลูชันตรวจสอบการดูดซับคาร์บอนทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นไปที่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีลักษณะป่าคล้ายไทย ขณะนี้ ไทยคมอยู่ระหว่างเจรจากับองค์กรที่สนใจและตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ESG)
ในปี 2570 บริษัทจะให้บริการบนวงโคจรดาวเทียมที่ได้รับการจัดสรรสามวงโคจรใหม่องค์ประกอบไปด้วยตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออกโดยจะมีฟุตพริ้นท์ไปทางประเทศอินเดีย ตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออกกลาง มีฟุตพริ้นท์ครอบคลุมตะวันออก และสุดท้ายในตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออกครอบคลุมเอเชียแปซิฟิก น่านน้ำฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และ ญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เห็นว่า 3 วงโคจรนี้ทำให้ไทยคมอยู่ในทำเลศักยภาพ มองเห็นและทำตลาดได้ครึ่งโลกก็จะเป็นเป้าหมายและความท้าทายที่ ทำให้ไทยคมเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
เร่งกฎหมายแผนเทคโนโลยีอวกาศ
พรพรรณ ตันนุกิจ ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศแห่งชาติ สดช. สมทบว่า รัฐบาล เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของไทย โดยจัดทำแผนส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจยุคใหม่ หรือ New Space Economy ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการลงทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของประเทศ พร้อมโครงการขนาดใหญ่ที่จะเป็นโครงการร่วมกับเอกชน เช่น Space Center หรือศูนย์อวกาศของไทย และ Spaceport หรือท่าอวกาศยานของไทย
อีกทั้ง ได้พยายามออกนโยบายเพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมอวกาศ และจะนำเข้ากระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมียุทธศาสตร์แม่บท 20 ปี ขยายเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจยุคใหม่ต่อจากแผนดังกล่าว และจะมีการออกพ.ร.บ.กิจการอวกาศ หากแผนดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์
"หาก พ.ร.บ.ดังกล่าวดำเนินการสำเร็จและมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จะสามารถผลักดันอุตสาหกรรมอวกาศได้มากขึ้น และจะมีกองทุนกิจการอวกาศเพื่อสนับสนุนด้านเงินทุนโดยเฉพาะ
ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ของสดช. ประกอบด้วย 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
-ส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐาน
-ส่งเสริมห่วงโซ่คุณค่าทางด้านเศรษฐกิจ
-ส่งเสริมด้านกิจการอวกาศ และวิจัย
-ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร
-ส่งเสริมการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอวกาศได้ในอนาคต
มองไทยมีศักยภาพเป็นฮับดาวเทียม
พันเอกสรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็นที กล่าวในงาน APSCC 2024 ว่า ไทยได้การพัฒนา Satellite Network Portal Gateway (SNP Gateway) สำหรับดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) เพื่อยกระดับการสื่อสารผ่านดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นก้าวสำคัญของเอ็นทีในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารของประเทศไทยและภูมิภาค สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราในการเป็นผู้นำด้านดิจิทัลอย่างยั่งยืน
ประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการการให้บริการผ่าน SNP Gateway จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารในหลากหลายภาคส่วน:
• ภาคธุรกิจ: เพิ่มความเร็วและเสถียรภาพในการเชื่อมต่อสำหรับองค์กร โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องการการสื่อสารแบบ Real-time เช่น การเงิน การธนาคาร และ ระบบโลจิสติกส์
• ภาคการศึกษา: สนับสนุนการเรียนรู้ทางไกลในพื้นที่ห่างไกล เชื่อมต่อโรงเรียนในชนบทสู่แหล่งความรู้ดิจิทัล
• ภาคประชาชน: ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ที่โครงข่ายโทรคมนาคมภาคพื้นดินเข้าไม่ถึง รวมถึงพื้นที่เกาะ น่านน้ำมหาสมุทร และชายแดน
• ภาครัฐ: สนับสนุนการให้บริการภาครัฐและการจัดการภัยพิบัติ พร้อมระบบสำรองฉุกเฉินสำหรับการสื่อสารในภาวะวิกฤต