‘ยิบอินซอย’ เร่งเกมปลุก ‘Robinhood’ สู่ธุรกิจทำกำไรภายในส้ินปี 67 นี้

‘ยิบอินซอย’ เร่งเกมปลุก ‘Robinhood’ สู่ธุรกิจทำกำไรภายในส้ินปี 67 นี้

“ยิบอินซอย” เดินเกมพลิกฟื้น “โรบินฮู้ด” ปักธงรักษาฐานลูกค้าเดิม ดึงไรเดอร์ - ร้านอาหารกลับคืน ล่าสุดร่วมมือกับ “เพย์พอยต์” ยกระดับการให้บริการ หวังเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ตั้งเป้าภายในสิ้นปี 2567 ปั้นยอดคำสั่งซื้อแตะ 5 หมื่นต่อวัน พร้อมปลุกธุรกิจสู่การทำกำไร

มรกต  ยิบอินซอย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยิบอินซอย จำกัด และบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โรบินฮู้ด (Robinhood) เผยว่า ผลประกอบการของโรบินฮู้ดดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่บริษัทต้องการผลักดันอย่างมากขณะนี้คือ ทำให้การใช้งานกลับมาจำนวนมากเช่นเดิม

พร้อมกันนี้ สร้างการรับรู้เพื่อให้เห็นว่าแอปยังคงอยู่ ทำให้ทั้งไรเดอร์ ร้านค้า รวมถึงฐานผู้ใช้งานกลับคืนมาใช้แอปอีกครั้ง และที่ให้ความสำคัญอย่างมากคือ การทำงานร่วมกับพันธมิตรเพื่อทำให้อีโคซิสเตมแข็งแรง

ตั้งเป้าว่า ภายในสิ้นปีนี้หวังไว้ว่าจะทำให้คำสั่งซื้อแตะ 4-5 หมื่นคำสั่งซื้อต่อวัน จากปัจจุบันทำได้เฉียด 4 หมื่นคำสั่งซื้อแล้ว ทั้งหวังด้วยว่าภายในสิ้นปี 2567 จะทำให้โรบินฮู้ดกลับมาทำกำไรให้ได้

ส่วนของการเพิ่มทุน ยิบอินซอยมองว่าเงินที่ใส่ลงไปกับโรบินฮู้ดเพียงพอแล้ว ดังนั้นมองเรื่องการทำงานร่วมกับพันธมิตรมากกว่า และจะใช้จุดนี้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพื่อทำให้ฐานลูกค้าของพันธมิตรหันมาใช้งานโรบินฮู้ดด้วย

ขณะที่ทางเอสซีบี เอ็กซ์ ยังให้เวลา และไม่ได้กดดันให้ชำระค่าซื้อกิจการที่เหลือ มีเพียงคำมั่นที่ให้ไว้ว่าจะทำให้ธุรกิจมีกำไรให้ได้ภายในปีหน้าเท่านั้น

‘ต้องมีกำไร’ - ไม่ใช่ ‘มันนี่ เกม’

สำหรับแนวทางการทำธุรกิจมุ่งให้บริการโดย “ต้องมีกำไร” มีอีโคซิสเตมที่ดี ได้กำไรจากการให้บริการ ไม่ใช่ราคาหุ้น ไม่ใช่ “มันนี่ เกม” โดยเป้าหมายแรกคือ การทำออเดอร์รายวันเพิ่มมากขึ้น

สำหรับการทำรายได้ เก็บค่าจีพีที่ 28% (GP 25% รวมค่าการตลาด 3%) บางร้านที่ไม่ต้องการจ่ายใช้วิธีการเก็บค่าส่งเต็มจำนวน ขอให้เข้าใจว่าราคาที่อาจแพงกว่าแอปอื่นเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายซึ่งดำเนินการไปตามจริง และต้องการทำให้ธุรกิจเป็น  “Good Business Ecosystem”

ภาพของโรบินฮู้ดจากนี้จะออกมาจากกรอบที่เข้มงวดของแบงก์ชาติ ทว่ายังคงเป็นแพลตฟอร์มที่มีความปลอดภัย แต่จะก้าวไปสู่มิติใหม่ๆ ของการเป็นธุรกิจที่สุขภาพดี ยังเป็นแอปที่เกื้อกูลคนไทย พร้อมมีการปรับโมเดลธุรกิจรวมถึงค่าจีพีตามความเหมาะสมให้ธุรกิจอยู่รอดได้

สำหรับการบริหารงาน เบื้องต้นยังคงให้ทีมงานเดิม 50 คนทำงานอยู่ รวมถึงให้ทีมของยิบอินซอยเข้าไปช่วย ด้านคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงเทคโนโลยีหลังบ้าน ผลักดันให้ธุรกิจเติบโต พร้อมดึงแอคทีฟยูสเซอร์เดิม และผู้ใช้ใหม่เข้ามา

ก้าวใหม่ ‘เซ็กซี่’ กว่าเดิม

มรกตเผยว่า ยิบอินซอยมีฐานธุรกิจเดิมด้านอินฟราสตรักเจอร์ที่แข็งแรง การเข้ามาของโรบินฮู้ดจะเป็นอีกก้าวที่ทำให้ภาพของบริษัทเซ็กซี่มากขึ้น โดยมองว่าบริการแพลตฟอร์ม และไลฟ์สไตล์จะเป็นอนาคต อีกทางหนึ่งเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับยิบอินซอยไปในวงกว้างมากขึ้น

แม้จะมีคำถามจำนวนมากต่อการซื้อกิจการที่ขาดทุนเข้ามา แต่เชื่อว่าสามารถทำได้ ทั้งมีแนวคิดว่าแอปที่เป็นสัญญาติไทยนั้นเป็นแพลตฟอร์มที่มีเสน่ห์ เข้ากับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของคนไทย

การที่กลุ่มยิบอินซอยได้ลงทุนในอุตสาหกรรมฟู้ดเดลิเวอรีด้วยการซื้อกิจการโรบินฮู้ดจากบริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) (SCBX) ถือเป็นก้าวสำคัญในแผนการขยายธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัล และแพลตฟอร์มออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น

หลังจากนี้ เมื่อสามารถทำให้ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีแข็งแรงได้แล้วในเฟสแรก จะขยายฐานออกไปอีกแน่นอน โดยเป็นไปได้ทั้งการขยับออกไปตลาดต่างจังหวัด เพิ่มบริการมาร์ท สนับสนุนสินค้า และอนาคตผลักดันให้ซูเปอร์แอปสัญชาติไทยขยายไประดับอาเซียน

เราต้องการขยายขอบเขต และยกระดับการให้บริการด้วยการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อหาโอกาสใหม่ๆ และทำให้อีโคซิสเตมแข็งแรงมากขึ้น

พร้อมระบุว่า การทำตลาดคอนซูเมอร์ไม่ได้มองว่ายากมากนัก เป็นสิ่งที่หลายคนคุ้นชินกันดีอยู่แล้ว ทว่ามีสิ่งที่อ่อนไหว และต้องทำความเข้าใจ เช่น ความคิดเห็นของผู้บริโภคที่ต้องให้ความสำคัญตอบสนองแบบเรียลไทม์ ในแผนจะให้คนรุ่นใหม่เข้ามา

ร่วม ‘Paypoint’ สยายปีกบริการ

‘ยิบอินซอย’ เร่งเกมปลุก ‘Robinhood’ สู่ธุรกิจทำกำไรภายในส้ินปี 67 นี้ เอ็มดียิบอินซอยเผยว่า ล่าสุด ร่วมมือกับ บริษัท ศูนย์รับฝากคะแนน (ประเทศไทย) จำกัด (แอปพลิเคชัน Paypoint) โดยความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม Paypoint ในครั้งนี้ เป็นจุดสำคัญของการให้ความมั่นใจกับลูกค้าว่า ในทุกคะแนนสะสมจากพันธมิตร “Paypoint”สามารถนำมาใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรีของ “Robinhood” คะแนนของทุกท่านจะสามารถเปลี่ยนเป็นสินค้า และการบริการ จาก Robinhood และพันธมิตรเครือข่ายของแพลตฟอร์ม

ความร่วมมือครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักพัฒนาสัญชาติไทยได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ก่อนหน้านี้กลุ่มนักวิจัย นักพัฒนา คนรุ่นใหม่อาจไม่มีโอกาสได้แสดงความสามารถมากเท่าที่ควร ที่สำคัญได้ใช้งานจริงภายในประเทศ

ส่วนของโรบินฮู้ดเองได้ขยับไปข้างหน้าได้มากขึ้น จากก่อนหน้านี้ความร่วมมืออาจยังทำอะไรไม่ได้มากด้วยถูกจำกัดกับกรอบของแบงก์ชาติ

แพลตฟอร์มสัญชาติไทยจะแจ้งเกิดได้ต้องมีอีโคซิสเตมที่แข็งแรง มีการร่วมมือกับพันธมิตรที่หลากหลาย เชื่อว่าต่อไปจะเกิดการต่อยอดที่เข้ากับบริบทการใช้ชีวิตของคนไทย ครอบคลุม กิน ช้อป เที่ยว และไลฟ์สไตล์

ประเดิม ‘7 พันธมิตร’ เจาะไลฟ์สไตล์

อนุวัต บูรพชัยศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ศูนย์รับฝากคะแนน จำกัด  กล่าวเสริมว่า Paypoint เป็นแพลตฟอร์มรวมคะแนนสะสม และแลกคะแนนสะสม ในการชำระค่าสินค้า และบริการ ของร้านค้าตัวแทนของพันธมิตรทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

จุดเด่นของแพลตฟอร์ม คือ เป็นตัวกลางในการรวมคะแนนสะสมเพื่อแลกเปลี่ยนคะแนนสะสมระหว่างพันธมิตร ทำหน้าที่เป็น Point Clearing House ที่มีการเชื่อมต่อกับพันธมิตรในหลากหลายอุตสาหกรรม ระยะแรกพันธมิตรเน้นเชิงไลฟ์สไตล์ ประเดิมด้วย 7 พันธมิตรหลัก มีทั้งอาหาร ยารักษาโรคซึ่งครอบคลุม 30%  ร้านยาทั่วประเทศ เครื่องนุ่งห่ม ร้านกาแฟ ตั๋วเครื่องบิน การเดินทาง รวมถึงความร่วมมือกับบัตรเครดิตต่างๆ ฯลฯ

ปัจจุบัน มีพันธมิตรระดับแถวหน้าของเมืองไทย ประกอบด้วย  บริษัท บางจาก  คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), บริษัท บิ๊กไลฟ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Air Asia) ,บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด (แอปพลิเคชันโรบินฮู้ด) ,บริษัท เฮลท์อัพ จำกัด, บริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่นแมเนจเม้นท์ จำกัด, บริษัท โกลด์เด้น 99 จำกัด, MAAI BY KTC โดยบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท พริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ จำกัด

จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (QTFT) กล่าวว่า ควอนตัม เทคโนโลยี เป็นยุคถัดจากยุคดิจิทัล พื้นฐานของการพัฒนาในทุกด้าน ปัจจุบันมีการนำมาใช้พัฒนาระบบของแพลตฟอร์ม Paypoint

ดังนั้นการที่บริษัทได้เข้ามาร่วมพัฒนาระบบโดยการสร้างกรอบการทำงานเชิงอัลกอริทึมในการคำนวณการรวมคะแนนสะสมเพื่อนำไปแลกเปลี่ยนคะแนนสะสมระหว่างพันธมิตรแบบเรียลไทม์ ป้องกันการทำ arbitrage จึงให้ความมั่นใจได้ว่า ทุกคนจะได้รับความเป็นธรรม เพราะผู้ที่มีคะแนนสะสมสามารถแลกเปลี่ยนคะแนนไปยังกลุ่มพันธมิตรได้โดยตรง ด้วยอัตราแลกเปลี่ยนที่ขึ้นกับกลไกตลาด และเป็นการตอบสนองความต้องการที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค ‘ยิบอินซอย’ เร่งเกมปลุก ‘Robinhood’ สู่ธุรกิจทำกำไรภายในส้ินปี 67 นี้

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์