เจนเซน หวง เผยวิสัยทัศน์ในงาน AI Vision for Thailand หนุน ‘ไทยทำเอไอใช้เอง’

เจนเซน หวง เผยวิสัยทัศน์ในงาน AI Vision for Thailand หนุน ‘ไทยทำเอไอใช้เอง’

สรุปสาระสำคัญจากการเยือนไทยของ ‘เจนเซน หวง’ ประกาศวิสัยทัศน์ ‘อธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์’ ในงาน AI Vision for Thailand พร้อมหนุนไทยพัฒนาเอไอด้วยตนเอง ผ่านความร่วมมือกับ 3 พันธมิตร มหาวิทยาลัยมหิดล CMKL และ True IDC เตรียมติดตั้ง GPU H100 เพื่อวางรากฐานเทคโนโลยี

วันนี้ (4 ธ.ค.67) เจนเซน หวง ซีอีโอ และผู้ก่อตั้งอินวิเดีย (NVIDIA) ได้เผยวิสัยทัศน์ในงาน AI Vision for Thailand จัดโดย สยามเอไอ คลาวด์ (SIAM.AI CLOUD) ภายใต้แนวคิด “อธิปไตยทางปัญญาประดิษฐ์” โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเอไอด้วยตนเอง เขายังเปรียบเปรยอีกว่า “อยากให้ไทยเป็นเอไอแลนด์”

“ข้อมูลของประเทศไทยควรถูกเก็บเกี่ยว และประมวลผลโดยคนไทย” หวงมองว่าข้อมูลดิจิทัลไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่เป็นการบันทึกความรู้ ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งควรถูกนำมาสร้าง “Open Thai GPT” ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

เจนเซน หวง เผยวิสัยทัศน์ในงาน AI Vision for Thailand หนุน ‘ไทยทำเอไอใช้เอง’

การเยือนไทยครั้งนี้ไม่เพียงแต่นำเทคโนโลยี และเครื่องมือเอไอมาสนับสนุนประเทศไทย แต่ยังร่วมมือกับสถาบันต่างๆ ประกอบด้วย ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการค้นคว้ายา และการจัดลำดับจีโนม การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL) เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเอไอรุ่นใหม่ และพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ True Internet Data Center เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอไอ และโซลูชันที่ตอบโจทย์การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค

“คอมพิวเตอร์กำลังผ่านช่วงเปลี่ยนแพลตฟอร์ม ซึ่งหมายถึงอุตสาหกรรมกำลังรีเซต คุณอยู่ในจุดเดียวกับทุกคนในโลก นี่ไม่เหมือนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ อินเทอร์เน็ต หรือมือถือ นี่คือ การเปลี่ยนแพลตฟอร์มใหม่ ทุกคนอยู่ที่จุดเริ่มต้นศูนย์

ในครั้งนี้ ประเทศไทยไม่เพียงแต่เป็นผู้รับเทคโนโลยี แต่สามารถสร้างและพัฒนาเอไอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยใช้ข้อมูล วัฒนธรรม และประสบการณ์ของคนไทย เปรียบเสมือนการสกัดทรัพยากรธรรมชาติทางดิจิทัลที่มีอยู่ในประเทศ

การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผล H100 GPU ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยวางรากฐานให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำด้านเอไอในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หวง กล่าว

และเขายังเชื่ออีกว่า เอไอจะกลายเป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยจะสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถสร้างนวัตกรรม และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างกว้างขวาง

“เอไอไม่ใช่แค่เทคโนโลยี แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ของอุตสาหกรรม เหมือนพลังงาน และการสื่อสารที่เคยเป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย ตอนนี้คุณต้องมีเอไอเป็นโครงสร้างพื้นฐาน พลเมือง บริษัท สตาร์ตอัป นักวิจัย และโรงเรียนจะเข้าถึง Thai AI ได้” 

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.67 เจนเซน หวง ได้เข้าพบ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีประเทศไทย พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า บริษัทมีความร่วมมือ และการสนับสนุนสตาร์ตอัปในไทยกว่า 50 ราย และมหาวิทยาลัยไทยอีกกว่า 40 แห่ง โดยตอนนี้มีทีมงานประมาณ 30 คนในประเทศไทยแล้ว และยังเตรียมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคลาวด์ และเทคโนโลยีเอไอเพื่อสนับสนุนการพัฒนาแอปพลิเคชันต่างๆ อาทิ แชตบอตการท่องเที่ยว

“เอไอของไทยควรเป็นของไทยอย่างแท้จริง ไม่ควรต้องขอใบอนุญาตหรือเช่าคืนจากบริษัทต่างชาติ และควรพัฒนาให้ Siam AI กลายเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานประเทศ” ซีอีโออินวิเดีย กล่าว

คำแนะนำของซีอีโอวัยหกสิบถึงพนักงานรุ่นใหม่

ในช่วงท้าย หวงยังให้คำแนะนำเกี่ยวกับหัวข้อความเหนื่อยล้า (Burnt out) เขาอธิบายว่า การเหนื่อยล้าเกิดขึ้นเมื่อเราพยายามมุ่งไปสู่เป้าหมายในอนาคต และรู้สึกว่าไม่เคยบรรลุถึงจุดนั้น แต่หากเรามีความสุขกับกระบวนการทำงาน และชื่นชอบสิ่งที่กำลังทำ ความเหนื่อยล้าจะไม่เกิดขึ้น

“นักสวนที่รักสวนของตนจะไม่รู้สึกเหนื่อยล้ากับการดูแลสวน ศิลปินที่รักงานศิลป์ก็จะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการสร้างสรรค์ ดังนั้น การมีความสุขกับกระบวนการทำงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ควรเล่นเกมเพื่อความสนุก ไม่ใช่เพื่อคะแนน”

นอกจากนี้ ในพาร์ตของการทำงานให้ค้นหาเป้าหมาย และความหมายในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมุ่งเน้นที่การให้ การสร้างแรงบันดาลใจ และการยกระดับผู้อื่น หวงเชื่อว่าหากเรามีจุดประสงค์เช่นนี้ การเหนื่อยล้าจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

สำหรับคนรุ่นใหม่ในยุคปัญญาประดิษฐ์ เขาสนับสนุนให้ 1. มุ่งเน้นที่ความสุขในการทำงานมากกว่าผลลัพธ์ 2. เพลิดเพลินกับกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนา และ 3. ค้นหาเป้าหมายที่มีความหมาย และมุ่งเน้นการให้

เจนเซน หวง เผยวิสัยทัศน์ในงาน AI Vision for Thailand หนุน ‘ไทยทำเอไอใช้เอง’

สยามเอไอ คลาวด์ และ GPU H100 

สำหรับด้านความร่วมมือกับสยามเอไอ คลาวด์ พาร์ทเนอร์คนไทยรายเดียวของอินวิเดีย ได้นำระบบประมวลผลที่พัฒนาโดยอินวิเดีย ได้แก่ “GPU NVIDIA H100 Tensor Core” มาใช้เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มเอไอของประเทศไทย ภายใต้สยามเอไอ คลาวด์ รวมถึงซอฟต์แวร์ NVIDIA AI Enterprise ตลอดจนการขยายไปสู่ GPU NVIDIA H200 Tensor Core รุ่นถัดไปและซูเปอร์ชิป NVIDIA GB200 Grace Blackwell

รัตนพล วงศ์นภาจันทร์ ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร บริษัท สยามเอไอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บุตรชายคนกลางของ วีระชัย วงศ์นภาจันทร์ กับ เยาวเรศ ชินวัตร กล่าวว่า สยามเอไอ คลาวด์มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเอไอที่เป็นของตนเอง และลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

แผนยุทธศาสตร์ที่อินวิเดียทำข้อตกลงกับไทย

ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนเอไอของประเทศไทย ประกอบด้วย 3 พันธมิตร

ในภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย CMKL ได้เข้าร่วมโครงการโดยมีเป้าหมายสำคัญคือ การเปิดโอกาสให้นักศึกษา และนักวิจัยสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานการประมวลผลสมรรถนะสูง พร้อมกับการพัฒนาบุคลากรเอไอรุ่นใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีของประเทศ

ในภาคสุขภาพ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ริเริ่มความร่วมมือด้านการวิจัยที่มีความท้าทาย และน่าสนใจ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเอไอเพื่อการค้นคว้ายา การวิเคราะห์จีโนม และการสร้างโซลูชันทางการแพทย์ที่ตอบโจทย์เฉพาะบริบทของประเทศไทย

สำหรับภาคอุตสาหกรรม True Internet Data Center (True IDC) และ Gulf Edge ได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ โดยมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอไอ และโซลูชันนวัตกรรม ครอบคลุมตั้งแต่การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และการให้บริการลูกค้า

เครือข่ายความร่วมมือเหล่านี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศเอไอที่สมบูรณ์แบบ ครอบคลุมการพัฒนาทั้งในมิติการศึกษา การวิจัย และการประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นพลังขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเอไอในภูมิภาคอาเซียน

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์