'3 ค่ายมือถือ' เด้งรับมาตรการรัฐ หลังพ.ร.ก.อาชญกรรมออนไลน์บังคับใช้

'3 ค่ายมือถือ' เด้งรับมาตรการรัฐ หลังพ.ร.ก.อาชญกรรมออนไลน์บังคับใช้

เอ็นที เอไอเอส ทรู ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามพ.ร.ก.อาชญกรรมออนไลน์ เผยมีมาตรการยืนยันตัวตน จำกัดการถือครองซิม กวดขันซิมผีออกจากระบบ ขณะที่แบงก์ยังไม่จำกัดการเปิดบัญชีธนาคาร ด้าน “ประเสริฐ” เตรียมเปิด ชื่อซิมกับโมบาย แบงก์กิ้งต้องตรงกันวันพรุ่งนี้

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผ่านความเห็นของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เดือน ก.พ. 2568 นั้น มีความเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดี แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วย 

เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ กสทช.มีมาตรการป้องกันซิมผีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการถือครองซิมต่างชาติ การลงทะเบียนยืนยันตัวตน และการยืนยันการถือครองซิมสำหรับคนถือครองซิมตั้งแต่ 5 เบอร์ขึ้นไป 

ขณะที่เอ็นทีเองก็มีการตัดวงจร การใช้งานที่ต้องสงสัย เช่น ไฟเบอร์ออฟติก ที่ลากสายไปยังชายแดน และเป็นที่อยู่ที่มีความเสี่ยง หรือลากสายข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่อาจนำไปให้ทางแก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้งาน ขณะเดียวกัน ก็ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบลูกค้าที่มาเปิดใช้งานซิมมือถือ และ อินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ ด้วยการตรวจสอบหลักฐ่นต่างๆ อย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเสียรายได้เดือนละกว่า 1 ล้านบาท แต่เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชนก็ยินดีดำเนินการ

ได้ประสานสั่งการไปยังสาขาบริการลูกค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีความเข้มงวดเรื่องการเปิดซิมการ์ดใหม่ ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น ตามกฎระเบียบของ กสทช.และคงไม่ต้องสำรองเงินสำหรับจ่ายให้ผู้ร้องเรียนกรณีลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเงิน ซึ่งขณะนี้ลูกค้าเอ็นทีอยู่ที่ 2 ล้านราย อย่างไรก็ตามอยากเสนอแนะให้ภาครัฐ มีมาตรการหรือเข้มงวดในเรื่องการเปิดบัญชีธนาคารด้วย เนื่องจากปัจจุบัน ไม่ได้มีการกำจัดจำนวนบัญชี ซึ่งทำให้บางคนมีบัญชีธนาคารเป็นร้อยบัญชี  ซึ่งก็อาจนำไปสู่การนำไปใช้เป็นบัญชีม้าได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำหนดจัดงานแถลงข่าว แนวทางการดำเนินการ เรื่อง เจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือกับเจ้าของบัญชี Mobile Banking โดยจะมีการเชิญตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.),สำนักงาน กสทช.และตัวแทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย( ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ มาแถลงข่าวร่วมกัน ซึ่งมาตรการนี้แต่เดิมจะเริ่มมาตรการในช่วงเดือน ต.ค. 2567 แต่เลื่อนมาเริ่มเดือน ก.พ.2568

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสยินดีสนับสนุนมาตรการปราบปรามมิจฉาชีพของภาครัฐ รวมถึง การหารือในรายละเอียดของกฎหมายร่วมกันต่อไป ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและประกาศใช้

ดังนั้น ขอแนะนำให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการกดลิงก์ แอดไลน์ หรือตอบกลับ SMS รวมถึงงดให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่แหล่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยหากท่านรับสายที่เข้าข่ายมิจฉาชีพ เมื่อวางสาย สามารถกด *1185# โทรออก ภายใน 5 นาที ระบบจะส่งเบอร์ล่าสุดที่รับสายไปเพื่อตรวจสอบและบล็อกทันที หรือ หากได้รับ SMS ผิดปกติ ก็สามารถโทร.แจ้งผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดย AIS จะตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ขณะที่นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่จะสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการปกป้องคนไทยจากภัยไซเบอร์ที่ปัจจุบันทวีความซับซ้อนและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน และทรูก็พร้อมปฏิบัติตามที่ ครม. เห็นชอบ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนพัฒนาระบบและนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ขั้นสูงยกระดับภารกิจรักษาความปลอดภัยในชื่อ “ทรู ไซเบอร์เซฟ True CyberSafe” ระบบป้องกันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพ ทั้งจาก ลิ้งก์แปลกปลอม SMS หลอกลวง และการกรองสายเรียกเข้า โดยนำร่องให้บริการระบบปิดกั้นและแจ้งเตือนการเข้าถึงลิ้งก์แปลกปลอม (Web / URL Protection) ทั้งที่เป็น Blacklist จากภาครัฐ และลิ้งก์ที่มีความเสี่ยง รวมเบื้องต้นกว่า 100,000 ลิ้งก์ และแจ้งเตือนสายเรียกเข้าที่มีความสุ่มเสี่ยงมากกว่า 7 ล้านสาย และมากกว่า 98% ที่มีการแจ้งเวลามีสายเรียกเข้าแล้วลูกค้าเรากดปฏิเสธ แต่ก็ยังเหลืออีก 2% ที่ลูกค้าก็กดรับ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด แต่หากเป็นตามพ.ร.ก.ที่เพิ่งผ่านครม.ให้ค่ายมือถือมีการรับผิดด้วยนั้น ก็คงต้องพิสูจน์ในหลักฐานไปว่าเป็นที่ระบบเรามีการรั่วไหลหรือไม่