เมื่อสงครามภาษีสหรัฐฯ เขย่าอุตฯ เซมิคอนดักเตอร์และเอไอ

ข่าวใหญ่ที่สุดทั่วโลก หนีไม่พ้นเรื่อง ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศนโยบายขึ้นกำแพงภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ต่อสินค้านำเข้าจากทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “Liberation Day”
ข่าวใหญ่ที่สุดทั่วโลกในช่วงนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศนโยบายขึ้นกำแพงภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ต่อสินค้านำเข้าจากทั่วโลก ภายใต้ชื่อ “Liberation Day” หรือวันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจ
นโยบายนี้กำหนดให้มีภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% สำหรับสินค้าจากทุกประเทศ และเรียกเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในอัตราที่สูงกว่านั้นกับประเทศที่ถูกมองว่ากีดกันการค้าอย่างไม่เป็นธรรม ผลคือ สินค้านำเข้าจากกว่า 180 ประเทศ ต้องเผชิญภาษีนำเข้าที่สูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศในเอเชียที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้กระทำผิดร้ายแรง” (Worst Offenders)
อัตราภาษีใหม่ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บในประกาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ผ่านมา ได้แก่ จีน 54% เวียดนาม 46% เกาหลีใต้ 25% ไต้หวัน 32% ญี่ปุ่น 24% สหภาพยุโรป 20% และ ไทย 36% เป็นต้น
หลังจากนั้นก็มีมาตรการตอบโต้ไปมาโดยเฉพาะกับประเทศจีน ทำให้ทั้งสองประเทศต้องปรับขึ้นภาษีกันอีกหลายครั้ง ซึ่งนโยบายภาษีนี้ก็มีผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกตกลงอย่างมาก จนล่าสุดในวันที่ 9 เมษายน 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ประกาศหยุดใช้ภาษีตอบโต้ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้ในเวลาเที่ยงคืนของวันเดียวกันสำหรับประเทศส่วนใหญ่เป็นเวลา 90 วัน เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาการค้า แต่สำหรับประเทศจีน ภาษีตอบโต้กลับถูกเพิ่มขึ้นเป็น 125% ทันทีจากเดิมที่ 104% อย่างไรก็ตามภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10% ของทุกประเทศก็ยังคงไว้
ความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่ออุตสาหกรรมไอทีทั่วโลก โดยเฉพาะในด้านเอไอและเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ ให้เหตุผลว่ามาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพื่อส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และเทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับเอไอในสหรัฐอเมริกา
แม้ว่าเซมิคอนดักเตอร์จะได้รับการยกเว้นจากภาษีตอบโต้ แต่สำหรับเซมิคอนดักเตอร์ที่นำเข้าจากจีน ยังคงมีภาษี Section 301 ที่มีผลบังคับใช้และกำลังจะเพิ่มขึ้นในปี 2025 และ 2026 ตามการประกาศจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวยังได้ระบุว่า กำลังวางแผนกำหนดภาษีเฉพาะสำหรับเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งอาจมีการประกาศในภายหลัง
การเก็บภาษีในอัตราที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนของเซมิคอนดักเตอร์ที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างไต้หวัน เกาหลีใต้ และจีน ซึ่งครองตลาดการผลิตชิประดับโลก ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคขั้นสุดท้าย ทำให้สมาร์ตโฟน แล็ปท็อป ยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีราคาสูงขึ้น
บริษัทที่พึ่งพาการนำเข้าเซมิคอนดักเตอร์ เช่น Apple, NVIDIA และ Tesla จะต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การลดลงของอัตรากำไรหรือการเพิ่มราคาสำหรับผู้บริโภค ในกรณีของแล็ปท็อป Acer มีรายงานว่า อาจมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นถึง 10% เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นหรือล่าสุดมีข่าวว่าคนในสหรัฐฯ จำนวนมากแห่ไปซื้อโทรศัพท์ไอโฟนเนื่องจากกลัวว่าราคาจะขึ้นไปสูงมาก
ซึ่งประธานาธิบดีทรัมป์ ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายภาษีต่อบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติ โดยเฉพาะ TSMC ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน ว่าหากบริษัทไม่สร้างโรงงานในสหรัฐฯ พวกเขาอาจต้องเผชิญกับภาษีสูงถึง 25%, 50%, 75% หรือแม้กระทั่ง 100% ถ้อยแถลงดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะใช้ภาษีศุลกากรเป็นเครื่องมือในการกดดันให้บริษัทเซมิคอนดักเตอร์ต่างชาติย้ายฐานการผลิตมายังสหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังได้วิจารณ์กฎหมาย CHIPS Act ที่ลงนามโดยอดีตประธานาธิบดี Joe Biden อย่างรุนแรง โดยระบุว่ารัฐบาล “ไม่ควรไปให้เงินสนับสนุนกับบรรดาบริษัทเซมิคอนดักเตอร์” เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีรายได้มหาศาลอยู่แล้ว ประธานาธิบดีทรัมป์ ยังกล่าวอีกว่า CHIPS Act เป็น “สิ่งที่เลวร้าย...เลวร้ายมาก” และควรยกเลิกไป
มาตรการภาษีสหรัฐฯ น่าจะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ที่มีความเชื่อมโยงทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ผลิตปลายทางหลายรายต้องปรับแผนการผลิต “ดึงสายพานการผลิตกลับ” หรือย้ายแหล่งจัดหาสินค้าอย่างเร่งด่วนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี ตัวอย่างเช่น แบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สหรัฐฯ ได้เร่งปรับเปลี่ยนไปประกอบสินค้าในประเทศที่ไม่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ที่สูงไป เช่น เม็กซิโก เพื่อใช้เป็นทางผ่านส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน บริษัทที่ไม่มีทางเลือกต้องชะลอการผลิตและระงับแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตชั่วคราว เนื่องจากความไม่แน่นอนของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ภาษีศุลกากรใหม่นี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ต้นทุนฮาร์ดแวร์ของอุตสาหกรรมเอไอเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรวมถึงหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPUs) และชิปเฉพาะทางอื่นๆ ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเอไอ นอกจากนี้อุปกรณ์ที่ใช้ในศูนย์ข้อมูลจะมีราคาแพงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแผนการขยายโครงสร้างพื้นฐานเอไอของบริษัทเทคโนโลยี โดยมีรายงานว่าบริษัท Microsoft และ Amazon ได้เริ่มแสดงท่าทีที่ระมัดระวังมากขึ้นเกี่ยวกับแผนการสร้างดาต้าเซ็นเตอร์
มีการคาดการณ์ผลกระทบต่อมาตรการภาษีนี้ว่า จะทำให้ต้นทุนฮาร์ดแวร์พุ่งสูงขึ้น และจะส่งผลให้ราคาอุปกรณ์ไอที เช่น เซิร์ฟเวอร์ ระบบเครือข่าย และอุปกรณ์เก็บข้อมูลปรับตัวสูงขึ้น 5-15%
นอกจากนี้บริษัทวิจัย IDC ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของงบประมาณไอทีทั่วโลกจาก 10% เหลือ 5% ในปี 2025 โดยเฉพาะโครงการด้านเอไอที่ต้องการฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูง และผู้ให้บริการคลาวด์และบริษัทด้านเอไออาจต้องชะลอแผนลงทุนเนื่องจากต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 15%
แม้ในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนว่า สุดท้ายมาตรการภาษีจะจบอย่างไร จะมีการเจรจาต่อรองได้แค่ไหน แต่ค่อนข้างชัดเจนว่ามาตรการภาษีของสหรัฐฯ รอบนี้ได้เปลี่ยนสภาพแวดล้อมการค้าโลกโดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเอไอย่างมีนัยสำคัญ ห่วงโซ่อุปทานโลกอยู่ระหว่างการปรับตัวครั้งใหญ่ ขั้วอำนาจการผลิตเซมิคอนดักเตอร์มีแนวโน้มจะแบ่งออกเป็นสองฝ่ายที่แยกจากกันมากขึ้น ความไม่แน่นอนสูงทำให้บริษัทเทคโนโลยีต้องวางกลยุทธ์ใหม่
ประเทศไทยย่อมได้รับแรงสั่นสะเทือนชัดเจน ทั้งด้านลบจากการส่งออกที่ลดลง และการผลิตที่อาจชะลอตัว แต่ก็อาจมีด้านบวกที่อาจดึงดูดการลงทุนบางส่วนมาจากประเทศที่เจอภาษีตอบโต้ที่สูงกว่า ภาครัฐและเอกชนไทยจำเป็นต้องร่วมมือกันบริหารความเสี่ยง ลดผลกระทบทางลบ และใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีให้เต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการหาตลาดส่งออกใหม่ ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ต่อรองทางการทูตเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขการค้า ตลอดจนเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศให้ก้าวหน้าทันโลกมากขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า “เมื่อคลื่นลมการค้าโลกแปรปรวน ผู้ที่เตรียมพร้อมและปรับตัวได้ไวเท่านั้นที่จะอยู่รอดและก้าวขึ้นมาเข้มแข็งกว่าเดิม”