จีนเร่งวิจัยเทคโนโลยีหลัก พุ่งเป้าก้าวขึ้นแท่นผู้นำระดับโลก
จีนเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมหลัก เข้าร่วมกลไกพหุภาคีและองค์กรระหว่างประเทศ 200 แห่ง ผู้นำจีนชี้ วิทยาศาสตร์จะเป็นโซลูชั่นให้กับนานาประเทศ
“สวัสดีครับทุกคน ผมออกจากโมดูลแล้ว และรู้สึกดีมาก” นายเฉิน ตง นักบินอวกาศจีน กล่าวระหว่างการทำภารกิจเดินอวกาศ (Spacewalk) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
นายเฉิน ตง และนางหลิว หยาง ลูกเรือของยานอวกาศเสินโจว-14 ได้ทำภารกิจนอกยานอวกาศเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ในวันศุกร์ที่ 2 ก.ย. ซึ่งถือเป็นการทำภารกิจนอกสถานีอวกาศจีนครั้งที่ 5 และเป็นการทำภารกิจนอกโมดูลห้องปฏิบัติการเวิ่นเทียนครั้งแรก
นับตั้งแต่ปี 2563 จีนประสบความสำเร็จในการทำภารกิจอวกาศหลายครั้ง ได้แก่ การส่งโมดูลเทียนเหอ ซึ่งเป็นโมดูลหลักของสถานีอวกาศจีน รวมถึงยานอวกาศเสินโจว-12 และเสินโจว-13 พร้อมลูกเรือ และยานบรรทุกสัมภาระเทียนโจว-2 และเทียนโจว-3 ซึ่งล้วนเป็นความก้าวหน้าที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมอวกาศของจีน
ไม่ใช่แค่ในอุตสาหกรรมอวกาศเท่านั้น ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จีนได้พยายามอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหลัก สืบเนื่องจากการที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามอย่างไม่ลดละเพื่อบรรลุความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีหลักในสาขาสำคัญ ๆ
ระหว่างรับหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางเพื่อการปฏิรูปเชิงลึกรอบด้าน (Central Commission for Comprehensively Deepening Reform) ครั้งที่ 27 นายสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำให้มีการปรับปรุงระบบใหม่สำหรับการระดมทรัพยากรทั่วประเทศเพื่อการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลัก
ผู้นำจีนกล่าวว่า จีนควรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรด้านนวัตกรรมตามความต้องการเชิงกลยุทธ์ของประเทศ เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงกลยุทธ์ ปรับปรุงความสามารถเชิงระบบเพื่อจัดการกับปัญหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ ตลอดจนบ่มเพาะความได้เปรียบในการแข่งขันและคว้าโอกาสเชิงกลยุทธ์ในภาคส่วนที่มีความสำคัญ
- สั่งสมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลัก
“เทคโนโลยีหลักไม่สามารถซื้อหาได้ และไม่ได้มาจากการขอความช่วยเหลือหรือการร้องขอจากผู้อื่น” นายสี จิ้นผิง กล่าวในระหว่างการเยี่ยมชมสถาบันทัศนศาสตร์และกลศาสตร์แม่นยำแห่งซีอาน (Xi'an Institute of Optics and Precision Mechanics) ในปี 2558
นับตั้งแต่ปี 2555 ประธานาธิบดีจีนได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และการสั่งสมความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีหลัก โดยแรงบันดาลใจจากผู้นำจีนส่งผลให้เทคโนโลยีหลักจำนวนมากมีความก้าวหน้าที่สำคัญ และถือเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของจีนสู่การบรรลุเป้าหมายในการก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับโลกในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักช่วยตอบสนองความต้องการที่สำคัญของประเทศ โดยโซลูชันล้ำสมัยช่วยสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญมากมาย เช่น สะพานฮ่องกง-จูไห่-มาเก๊า และทางรถไฟเสฉวน-ทิเบต นอกจากนี้ การใช้ทรัพยากรน้ำมันและก๊าซจากพื้นใต้ทะเล การใช้ถ่านหินอย่างสะอาดและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ยุคใหม่ ยังมีความสำคัญต่อการรับประกันความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ
ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 จีนประสบความสำเร็จมากมายทั้งในด้านวัคซีน ยา และน้ำยาทดสอบ โดยจำนวนยา Class-I ใหม่ที่ได้รับการอนุมัติในจีนเพิ่มขึ้นจาก 5 รายการก่อนปี 2555 เป็น 79 รายการในปัจจุบัน
นอกจากนี้ จีนยังประสบความสำเร็จมากมายที่มีอิทธิพลในระดับโลก เช่น จีนได้ทำการสังเกตควอนตัมฮอลล์เอฟเฟกต์ (Quantum Hall Effect) แบบ 3 มิติเป็นครั้งแรกของโลก รวมถึงควบคุมการพับของกราฟีนด้วยความแม่นยำระดับอะตอม และพัฒนา “เทียนจิ” ชิปประมวลผลคล้ายสมองแบบฟิวชันครั้งแรกของโลก
- เปิดกว้างมากขึ้นเพื่อร่วมมือกับทั่วโลก
เมื่อปีที่แล้ว จีนได้เปิดตัวกล้องโทรทรรศน์วิทยุทรงกลมพื้นที่รับแสงห้าร้อยเมตร (Five-hundred-meter Aperture Spherical Radio Telescope หรือ FAST) ซึ่งเป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีพื้นที่รับแสงกว้างที่สุดและมีความไวสูงสุดในโลก สู่สายตานักวิทยาศาสตร์ทุกคน และจนถึงเดือนมิถุนายน กล้องโทรทรรศน์วิทยุดังกล่าวได้ให้บริการสังเกตการณ์แก่โครงการทางวิทยาศาสตร์ 27 โครงการ ใน 14 ประเทศทั่วโลก
การเปิดตัวกล้องโทรทรรศน์วิทยุดังกล่าวเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังขยายขอบเขตความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างจริงจัง ในการประชุมสมัชชาใหญ่ของสมาชิกสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) และสถาบันบัณฑิตวิศวกรรมศาสตร์จีน (CAE) รวมถึงการประชุมระดับชาติของสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีน (CAST) เมื่อปีที่แล้ว นายสี จิ้นผิง ได้เรียกร้องให้ผู้ที่อยู่ในแวดวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนช่วยกันส่งเสริมการเปิดกว้าง ความไว้วางใจ และความร่วมมือกับชุมชนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั่วโลก
ตลอดจนมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการแก้ปัญหาความท้าทายสำคัญที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ ตลอดจนมุ่งมั่นส่งเสริมความสำเร็จของนวัตกรรมทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อประโยชน์ของนานาประเทศและประชากรโลกในวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนระบุว่า จีนได้สร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับ 161 ประเทศและดินแดน ตลอดจนลงนามข้อตกลงระหว่างรัฐบาล 115 ฉบับ อีกทั้งยังเข้าร่วมกลไกพหุภาคีและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 200 แห่ง