หากปี 2100 กรุงเทพเสี่ยงจมหาย รัฐต้องรับมืออย่างไร
เสวนา “ววน.ขอเสริมทัพ รับมือน้ำท่วม” เผย ปี 2100 แผ่นดินกทม.จะทรุดลง 2.4 เมตร น้ำทะเลสูงขึ้น 27 เซ็นติเมตร ด้านรองผู้ว่าฯ ชี้ ต้องจัดทำริชแม็ป-ดันงานวิจัย รับภัยพิบัติน้ำท่วม
ข้อกังวลของหลาย ๆ คนเรื่อง “กรุงเทพจะจมน้ำไหม” หรือ “กรุงเทพจะหายไปจากแผนที่หรือเปล่า” เป็นประเด็นถกเถียงกันทุกครั้งหลังเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกันกับสถานการณ์น้ำท่วมกทม. เดือนกันยายน 2565 ที่กำลังเป็นวิกฤติ ประชาชนได้รับความเสียหาย การเข้ามาทำงานของทีมงานผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชุดใหม่กำลังเร่งแก้ไขสถานการณ์
ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ววน.ขอเสริมทัพ รับมือน้ำท่วม” เพื่อเป็นหนึ่งในกำลังช่วยกันหารือ เสนอทางออกให้กับวิกฤติน้ำท่วม และตอบคำถามค้างคาใจของหลายคนว่า “สรุปแล้ว…กรุงเทพจะจมน้ำหรือไม่”
- งานวิจัยคาดการณ์ ทางรอดที่จะไม่จมบาดาล
บุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากงานวิจัย “กรุงเทพฯ จมน้ำ : แน่ใจหรือ ว่าเราจะมีโอกาสเห็น” โดย ศ.รศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปปัจจัยที่ควรคำนึงไว้ดังนี้
1. อัตราการแยกตัวของแผ่นเปลือกโลก หรือ อัตราการสร้างแผ่นเปลือกโลกใหม่ในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งโดยธรรมชาติที่พบเห็นในปัจจุบัน สิ่งที่บ่งชี้ว่าการที่แผ่นเปลือกโลกจะเคลื่อนที่ช้าลงหรือเร็วขึ้นนั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงกันได้ในช่วงข้ามคืน หรือภายในหลักสิบหลักร้อยปี แต่การเปลี่ยนแปลงอัตราการแยกตัวจะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ช้าจนสรุปให้ได้เลยว่าพวกเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นกันในชาตินี้
2. ธารน้ำแข็งละลายเพิ่มขึ้น ถ้าน้ำแข็งที่มีอยู่ทั้งหมดทั่วโลกละลาย อาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นประมาณ 216 ฟุต หรือเกือบ 66 เมตร ซึ่งมันเกิดขึ้นได้ค่อนข้างช้า และเกิดจากอุณหภูมิของดวงอาทิตย์ “หากเราจะตาย เราไม่ได้ตายเพราะน้ำแข็งละลาย เราตายเพราะอุณหภูมิของโลกที่มันร้อน” เพราะกระบวนการที่จะทำให้น้ำแข็งเหล่านี้ละลายแบบหมดเกลี้ยงได้ ค่อนข้างจะเป็นไปได้ยาก
ซึ่งในอีก 78 ปีข้างหน้านี้ สิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอนเลยคือ
- น้ำทะเลสูงขึ้น 27 เซ็นติเมตร
- แผ่นดินกรุงเทพทรุดลง 2.4 เมตร มีสาเหตุทั้งจากธรรมชาติและกิจกรรมของมนุษย์และเกิดขึ้นได้ทั้งเร็วและช้า แบบเร็วก็เช่นการเกิด หลุมยุบ (sink hole) เป็นการทรุดตัวเนื่องจากการถล่มของโพรงใต้ดินอย่างทันทีทันใด โดยโพรงเกิดขึ้นได้ทั้งจากธรรมชาติ เช่น การกัดเซาะหินปูนของน้ำใต้ดินจนกลายเป็นโพรงหรือถ้ำใต้ดิน หรือเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การทำเหมืองใต้ดิน การสูบน้ำใต้ดินไปใช้เยอะ ซึ่งขณะนี้ได้มีการออกกฎหมายห้ามสูบน้ำใต้ดินโดยรัฐบาล
13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2565
การเกิดขึ้นของธรรมชาติเหล่านี้ สทนช. ได้มีการตั้งรับมาเป็นเวลานาน และมีการเฝ้าติดตามระวังสถานการณ์อยู่เสมอ ๆ พบว่า รอบกรุงเทพมหานครนั้นมีคันกั้นน้ำสูงถึง 3 เมตร นั่นหมายความว่า กทม.ยังไม่จม ยังไม่หายไปจากแผนที่ เพราะมีระบบป้องกัน มีระบบรับน้ำเหนือจากเจ้าพระยา ฉะนั้นจึงยังไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลหรือน่าตกใจ
“สิ่งสำคัญที่คนหน้างานแบบเราต้องการคือ งานวิจัยในพื้นที่ประเทศไทย ได้มาจากการที่นักวิจัยลงพื้นที่ วิเคราะห์ออกมาเป็นฐานข้อมูลที่สามารถคาดเดาสถานการณ์ต่อจากนี้ได้ เพราะส่วนใหญ่เราตั้งรับทันเพราะเรามีงานวิจัย ผมในฐานะที่เป็นหน่วยงานนโยบาย ก็สามารถรับงานวิจัยมาพัฒนาต่อเป็นทางแก้ไขด้วยระบบวิศวกรรมและรับมือต่อไปได้”
- กทม.กับการรับมือน้ำท่วมในระยะยาว
ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสถานการณ์ภัยพิบัติและภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทาง สทนช. ได้ออกมาเตือนเรื่องฝนและน้ำเหนือ ก่อนเข้ารับตำแหน่ง 3 เดือน ซึ่งทางทีมได้มีการตั้งรับมือและใช้งานวิจัยเป็นแหล่งอ้างอิงเพื่อรับน้ำที่จะเข้ามาในกทม.
แต่เนื่องจากโครงสร้างทางกายภาพต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผังเมือง กฎหมาย หรือแม้แต่กระทั่งดินเหนียวที่เจอระหว่างการขุดคูคลองระบายน้ำก็เป็นส่วนที่ทำให้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมยังค่อนข้างล่าช้าในบางพื้นที่
“ช่วง 3-5 วันที่ผ่านมา กทม.มีปริมาณน้ำฝน 300 กว่ามิลลิเมตร เพิ่มขึ้นสูงถึง 200% ขณะนี้เรากำลังเร่งแก้ด้วยการผลักน้ำลงสู่ลำคลอง ขุดคูคลองระบายน้ำ บางส่วนเป็นไปได้ช้า เพราะกำลังมีจำกัด ขนาดขอราชทันมาช่วยแล้วก็ยังไปได้ช้าอยู่ เนื่องจากการขุดคลองนั้นขุดโดยตรงไม่ได้ มันต้องอ้อมบ้าง เพราะบางพื้นที่ติดกับชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นข้อจำกัดทางกายภาพ นอกจากนี้การผลักน้ำสู่ลำคลองยังไม่สามารถทำได้ทันที
เนื่องจากต้องคำนวนถึงระยะน้ำในคลองหากมีน้ำสูงก็ไม่สามารถระบายน้ำออกมาได้ ยกตัวอย่างเช่น น้ำท่วมลาดกระบัง ซึ่งต้องผลักน้ำไปทางคลองพระโขนง แต่คลองพระโขนงนั้นมีปริมาณน้ำสูง อาจจะทำให้บริเวณรอบ ๆ อย่างตรงประเวศจะโดนรับกระแทกแรงมาก จึงใช้วิธีค่อย ๆ เปิด 2-3 เซ็นติเมตร”
เพราะฉะนั้น กทม.จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนการสื่อสารใหม่ทั้งหมด และเพิ่มจุดเรดาร์เพื่อเฝ้าเตือนภัยให้ประชาชน โดยจะต้องจับเมฆฝนให้ได้ก่อน 1 ชั่วโมง และร่วมมือกับ จส 100 กระจายข่าวได้ว่าช่วงตรงไหนมีฝนตก จุดไหนจะเกิดพายุ ช่วยเรื่องการจราจร แจ้งให้มีการกำหนดทางลัด สามารถนำกระสอบทราย จุดจ่ายยา ถังดับเพลิงช่วยสูบน้ำ ไปวางไว้ตามจุดต่าง ๆ เป็นต้น โดยมีแนวทางทำให้เกิดการรับมือกับภัยพิบัติในระยะยาวไว้ดังนี้
- การจัดทำริชแม็ป หรือฐานข้อมูลแสดงพื้นที่น้ำท่วม เก็บสะสมเพื่อสามารถนำมาใช้เป็นงานวิจัยช่วยกลุ่มเปราะบาง ซึ่งจะทำให้กรุงเทพมหานครบริหารจัดการระบบภัยพิบัติได้มากขึ้น
- ต้องใช้ผังเมืองเดียวกันทั้งหมดทุกหน่วยงาน เพื่อที่จะได้วางแนวทางทั้งหมดไปในทิศทางเดียวกัน
- ต้องสร้างความเข้าใจในภาคประชาชน ทุกฝ่ายต้องรับรู้ร่วมกัน
“สิ่งที่เราต้องคำนึงถึงคือ โครงสร้างเดิมมันอ่อนแอ มันสร้างมานาน และการใช้งานของคนทำให้เสื่อมโทรม ดังนั้น งานวิจัยจะสามารถเป็นโซลูชั่นเพื่อช่วยเราให้แก้ปัญหาต่อไปได้”
ทางด้าน วันเพ็ญ แก้วแกมทอง หัวหน้ากองจัดการทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวเรื่องเขื่อนไว้ว่า กฟผ. ใช้ AI เป็นตัวคาดสถานการณ์เขื่อน เพื่อวางแผนพร่องน้ำล่วงหน้า ซึ่งได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนจุฬาภรณ์ ที่จะพร่องน้ำภายในเดือนกันยายน - ตุลาคม 2565 เนื่องจากมีปริมาณน้ำที่ค่อนข้างสูง นอกจากนี้ก็มีการสำรวจจัดทำแผนที่น้ำท่วม ประเมินระยะ 6 เดือนว่า เขื่อนมีความเสี่ยงหรือไม่ เพื่อตั้งรับมือกับน้ำที่จะหมุนเวียนในเขื่อน
“การทำงานของหน่วยงานทุกหน่วยมีการวางแผนในระยะสั้น-ยาว ผลลัพธ์ที่ได้จากการวางแผนคือ เราเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการลดพื้นที่น้ำท่วมจาก 11 ล้าน เหลือ 2.9 ล้าน และมี 2.4 ล้านพื้นที่ที่มีน้ำท่วมต่ำ และแผนระยะยาว คือ การผลักดันน้ำเค็มด้วยงบประมาณปี 67 เพื่อศึกษาน้ำเค็ม (จากปัญหากรุงเทพน้ำกร่อย) ซึ่งต้องใช้งานวิจัยในการที่เข้ามาช่วยทำให้เกิดโซลูชั่น”