อัพเดทภาพรวมความพยายามปั้นสตาร์ทอัพของญี่ปุ่น | ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล
ตามที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงในบทความเมื่อต้นปีที่แล้ว เรี่อง 'J-Startup' โครงการญี่ปุ่นปั้นยูนิคอร์น นั้นโดยที่ประเทศญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลก และมีสตาร์ทอัพมากกว่า 10,000 บริษัท แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้
ล่าสุด จากข้อมูลของรายงานมูลค่าสตาร์ทอัพของประเทศญี่ปุ่นสำหรับเดือนสิงหาคม ปี 2565 เผยแพร่โดย Startup DB ประเทศญี่ปุ่นมียูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพียง 10 บริษัทเท่านั้นคือ
(1) Preferred Networks บริษัทที่เน้นการประยุกต์ใช้ Deep Learning ในอุตสาหกรรมต่างๆ
(2) SmartNews บริษัทที่เน้นการใช้ AI ในการรวบรวมข่าว
(3) SmartHR บริษัทที่ทำซอฟต์แวร์ชื่อ SmartHR ที่ให้บริการระบบบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลผ่านระบบ Cloud
(4) TRIPLE-1 บริษัทที่พัฒนาเซมิคอนดักเตอร์
(5) Spiber บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี biotech
(6) TBM บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์จากปิโตรเคมีเพื่อทดแทนการใช้กระดาษและพลาสติก
(7) Greenplanet บริษัทที่พัฒนาด้านพลังงานไฮโดรเจน
(8) Mobility Technologies บริษัทที่ทำแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่
(9) GVE บริษัทที่พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับ CBDC
(10) Hirotsu Bioscience บริษัทที่ผลิตผลิตภัณฑ์ตรวจโรคมะเร็ง
จะเห็นได้ว่า จำนวนยูนิคอร์นของประเทศญี่ปุ่นมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย ที่มียูนิคอร์นมากกว่า 865 บริษัท 224 บริษัท และ 108 บริษัท ตามลำดับ ทั้งนี้ หากเทียบจำนวนยูนิคอร์นกับขนาดเศรษฐกิจ ก็ยังถือว่าประเทศญี่ปุ่นมียูนิคอร์นจำนวนน้อยเกินกว่าที่ควรจะเป็น
ตามที่ได้อธิบายในบทความเมื่อปีที่แล้ว กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น (METI : Ministry of Economy, Trade and Industry) ได้จัดทำโครงการชื่อว่า J-Startup เพื่อผลักดันและสนับสนุนให้สตาร์ทอัพของประเทศสามารถแข่งขันในระดับโลกได้
โครงการนี้มีลักษณะพิเศษคือการสนับสนุนนั้นจะมาจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาบริษัทสตาร์ทอัพของประเทศญี่ปุ่นให้เป็นยูนิคอร์น 20 บริษัทภายในปี 2566 ซึ่ง ณ ปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นยังมียูนิคอร์นเพียงครึ่งหนึ่งของเป้าหมายที่เคยตั้งไว้
ในปัจจุบัน ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายผลักดันสตาร์ทอัพในหลากหลายมิติ และจากรายงานสรุปของ METI ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายสนับสนุนสตาร์ทอัพโดยรวมเกือบ 70 นโยบาย
แต่ละนโยบายจะมีจุดที่โฟกัส และวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน เช่น บางนโยบายสนับสนุนการริเริ่มทำสตาร์ทอัพ บางนโยบายสนับสนุนสตาร์ทอัพที่เติบโตแล้ว บางนโยบายสนับสนุนสตาร์ทอัพในบางธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง
นโยบายและโครงการที่ประเทศญี่ปุ่นออกมานั้นอาจแยกได้เป็นประเภทต่าง ๆ ได้แก่ นโยบายเกี่ยวกับการให้กู้ยืมเงินลงทุนและเข้าถึงแหล่งเงินทุน นโยบายด้านภาษี นโยบายเกี่ยวกับการให้เงินสนับสนุนและรางวัล
นโยบายด้านทรัพย์สินทางปัญญา โครงการ acceleration และ incubation โครงการสนับสนุนการตั้งสตาร์ทอัพโดยมหาวิทยาลัย โครงการการปฏิรูปกฎระเบียบ โครงการสนับสนุนการขยายกิจการไปยังต่างประเทศและการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ
นโยบายด้านภาษีที่น่าสนใจก็มีหลายนโยบายด้วยกัน เช่น นโยบายการยกเว้นภาษีในส่วนที่เกี่ยวกับ stock option นโยบายการยกเว้นภาษีกำไรที่ได้จากการลงทุนโดย angel investor นโยบายยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนในสตาร์ทอัพที่พัฒนาด้าน open innovation (นวัตกรรมแบบเปิด)
นโยบายการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับเงินที่ใช้ในการวิจัย ซึ่งนโยบายด้านภาษีโดยภาพรวมนั้นก็มีความคล้ายคลึงกับนโยบายของประเทศไทยที่ออกมาเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้จากการลงทุนในสตาร์ทอัพที่เข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ล่าสุดนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีแผนที่จะใช้เงินกองทุนสวัสดิการของภาครัฐ (Government Pension Investment Fund) ในการลงทุนในสตาร์ทอัพและ venture capital (VC) และยังมีแผนตั้งกองทุนใหม่ในปี 2566 เพื่อที่จะลงทุนใน venture capital (VC) ต่างประเทศ
โดยมีเงื่อนไขว่า VC ดังกล่าวจะต้องนำเงินลงทุนส่วนหนึ่งมาลงทุนในสตาร์ทอัพในประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ VC ต่างประเทศนั้นถ่ายทอดความรู้ และทำหน้าที่เป็น mentor ในส่วนที่เกี่ยวกับการขยายธุรกิจสู่ตลาดระหว่างประเทศ และเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่ประเทศญี่ปุ่นยังขาดความเชี่ยวชาญ
โครงการในประเทศญี่ปุ่นหลาย ๆ โครงการก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจของความพยายามในการสร้างสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นและสร้างธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทยซึ่งกำลังมีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมสตาร์ทอัพและสร้างยูนิคอร์น
ประเทศไทยอาจจะพิจารณารูปแบบ วิธีการ และมาตรการต่าง ๆ ว่าเหมาะสมหรือนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งในการส่งเสริมสตาร์ทอัพดังกล่าวอาจจะต้องขอความร่วมมือทั้งทางภาครัฐและเอกชน ในหลาย ๆ ภาคส่วน รวมถึงการวางมาตรการหรือนโยบายทางกฎหมายต่าง ๆ ในหลากหลายมิติผสมผสานกันด้วย.
คอลัมน์ Business&Technology Law
ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล
ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น
[email protected]