น้ำท่วมเป็นเดือนจะเอาน้ำที่ไหนกิน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

น้ำท่วมเป็นเดือนจะเอาน้ำที่ไหนกิน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

เมื่อเดือนกันยายน 2565 มีเหตุการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพและอีกหลายจังหวัด หลายคนเดือดร้อนเนื่องจากรถติด รถตาย ข้าวของเสียหาย เสียเวลาทำมาหากิน ฯลฯ แต่หากเทียบกับอภิมหาน้ำท่วมเมื่อปี 2554 แล้วเทียบกันไม่ได้เลย

เพราะในปี 2565 นั้นส่วนใหญ่แล้วน้ำท่วมไม่นานนัก บางแห่งแค่ 2-3 วัน บางแห่งเพียงสัปดาห์เดียว และผู้คนยังออกจากบ้านไปไหนมาไหนได้ ผิดกับน้ำท่วมปี 2554 ที่ท่วมสูงมาก ท่วมถึงขนาดท่วมหัว ท่วมนานเป็นเดือน และท่วมกินบริเวณเกือบทั้งหมดของภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก

ในช่วงนั้นมีชาวบ้านมากมายที่ต้องอพยพออกจากบ้าน ที่อพยพไม่ทันหรือห่วงบ้านก็จำต้องอยู่แบบออกไปไหนไม่ได้ ทางการและอาสาสมัครต้องเอาเรือหรือรถบรรทุกทหารนำถุงยังชีพเข้าไปส่งถึงที่

    ในถุงยังชีพนั้นนอกจากยาและอาหารแล้ว สิ่งที่จำเป็นมากอีกอย่างคือน้ำดื่ม เพราะคนอดน้ำได้ไม่นานเท่าอดอาหาร หากอดนานเกิน 3 วันก็อาจเสียชีวิตได้ ซึ่งบางคนอาจถามหรือเสนอแนะว่าแล้วทำไมไม่ตักน้ำจากหน้าบ้านที่มีน้ำอยู่มากมายมาดื่มกิน

น้ำท่วมเป็นเดือนจะเอาน้ำที่ไหนกิน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

การทำเช่นนี้ทำได้แต่อาจเสียชีวิตหรือป่วยเพราะน้ำในภาวะน้ำท่วมนั้นย่อมไม่สะอาดพอ ด้วยมีเชื้อโรคในอุจจาระปัสสาวะจากบ้านเรือนออกมาปนเปื้อนได้มาก ปกติแล้วคนเราแต่ละคนต้องการน้ำในการบริโภครวมทั้งทำอาหารวันละ 2 ลิตร และจากข้อมูลสำรวจจริงในภาวะน้ำท่วมปี 2552 (ก่อนอภิมหาน้ำท่วม 2554)

 เราพบว่าบ้านที่น้ำท่วมมีคนอยู่โดยเฉลี่ยบ้านละ 4-5 คน นั่นคือเราต้องขนน้ำเข้าไปให้ชาวบ้านบ้านละ 8-10 ลิตรต่อวัน หรือเทียบเท่ากับน้ำขวดบรรจุขายตามร้านทั่วไปประมาณ 14-16 ขวดต่อบ้านต่อวัน และหากต้องการเข้าไปส่งถุงยังชีพ 3-5 วันต่อครั้ง 

นั่นหมายถึงต้องขนน้ำขวดทั่วไปครั้งละ 45 ถึง 80 ขวด นับว่าไม่สะดวกและยุ่งยากต่อการดำเนินการอยู่ไม่น้อย แถมยังมีขยะจากขวดพลาสติกที่ทิ้งออกมาอาจไปอุดตัน ทำให้ภาวะน้ำท่วมเลวลงไปกว่าเดิมได้อีกด้วย

น้ำท่วมเป็นเดือนจะเอาน้ำที่ไหนกิน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

ดังนั้นหากเราสามารถผลิตอุปกรณ์อย่างง่ายให้ชาวบ้าน(ที่ติดบ้านหรือติดอยู่บนถนนเพราะน้ำท่วม)สามารถทำน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัยได้เอง แบบนี้ก็จะถาวรและตอบโจทย์ได้ดีกว่าการขนน้ำเข้าไปให้ทุก 3 วัน 5 วัน

    ในช่วงปี 2551 (ก่อนน้ำท่วมปี 2554) ผมได้เล็งเห็นปัญหานี้ไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีมาอีก จึงได้ขออนุมัติสภาวิศวกรทำโครงการการผลิตอุปกรณ์ต้นแบบประจำครัวเรือนสำหรับผลิตน้ำสะอาดดื่มได้ และได้มอบหมายให้ ดร.จินต์ อโณทัย จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้ศึกษาและวิจัย

 โดยมีเงื่อนไขว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจะต้องเบา ขนส่งง่าย ไม่ซับซ้อน ใช้งานง่ายและสะดวก มีประสิทธิภาพสูง สามารถผลิตน้ำได้สะอาดจนสามารถดื่มกินได้โดยไม่เป็นอันตรายหรือเจ็บไข้ รวมทั้งต้องทำความสะอาดง่าย และที่สำคัญที่สุดต้องมีราคาไม่แพง

    จากช่วงเดือนพฤศจิกายน 2551 ถึง เมษายน 2552 เราได้ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำทั่วประเทศเพื่อให้เป็นตัวแทนของน้ำตามธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง และได้ทดลองอุปกรณ์หลายรูปแบบ รวมทั้งนำไปทดลองในสภาพน้ำท่วมจริงโดยให้ชาวบ้านเป็นผู้ทำการผลิตน้ำด้วยตัวเอง จนสุดท้ายได้มาเป็นกระบอกน้ำสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาด(ดูรูป) 

น้ำท่วมเป็นเดือนจะเอาน้ำที่ไหนกิน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์

แล้วเอาสารเคมี 3 ชนิดอันได้แก่ (A) สารปรับสภาพกรดด่างของน้ำซึ่งในที่นี้คือสารโซเดียมคาร์บอเนต (Na2CO3), (B) สารช่วยตกตะกอนชนิดหนึ่ง มีคุณสมบัติดีกว่าสารส้ม(มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่าโพลีอะลูมิเนียมคลอไรด์หรือ PACl)

และ (C) ผงปูนคลอรีนหรือแคลเซียมไฮโปคลอไรท์ (Ca(OCl)2) เพื่อฆ่าเชื้อโรค ใส่เข้าไปในแคปซูลแบบแคปซูลยา ให้สะดวกแก่การนำไปใช้  ชาวบ้านเพียงฉีกแคปซูลและเทสารเคมีลงไปในน้ำในกระบอก ตามที่อธิบายไว้ในคู่มือที่มีแนบไปพร้อมกันในกระบอก(ดูเอกสารแนบ)

    จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์โดยทีมนักวิจัยและในสภาพสนามโดยชาวบ้านเอง พบว่าอุปกรณ์นี้สามารถผลิตน้ำสะอาดที่ดื่มกินได้ตามมาตรฐานน้ำประปาของการประปาของรัฐ

คือความขุ่นน้อยกว่า 5 หน่วยความขุ่น (NTU) และเชื้อจุลินทรีย์ที่พบได้ในอุจจาระของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม(ที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า E. Coli) ต้องตรวจไม่พบ อันเปรียบได้กับว่าไม่มีเชื้อนี้เลยในน้ำนั้น จึงปลอดภัยแก่การดื่มกิน

อุปกรณ์ที่ว่านั้นมีต้นทุนในปี 2552 อยู่ที่เพียง 100 บาทต่อชุด มีแคปซูลสารเคมีให้ 50 แคปซูลต่อกระบอก สามารถผลิตน้ำได้ 75 ถึง 100 ลิตร ที่เพียงพอสำหรับการบริโภค 7 ถึง 10 วันในแต่ละบ้าน

โดยมีราคาค่าวัสดุสิ้นเปลืองเพียงประมาณ 40 สตางค์ต่อลิตรของน้ำดื่มที่ผลิตได้ ซึ่งนับว่าถูกมาก ๆ (หมายเหตุ: ไม่รวมค่าแรงในการบรรจุสารเคมีลงในแคปซูล และค่าขนส่งไปยังชุมชนที่น้ำท่วม) 

เราจึงมั่นใจว่าอุปกรณ์ชุดผลิตน้ำสะอาดขนาดเล็กนี้ใช้งานได้จริงและเหมาะสมกับสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ฉุกเฉินที่อาจจะมีขึ้นอีกในอนาคต ดังนั้นหากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะนำผลการศึกษานี้ไปพิจารณาใช้วางแผนและเตรียมการไว้ล่วงหน้าก็น่าจะเป็นผลดีแก่ประชาชนคนไทยหลายภาคส่วน

โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงจนคาดการณ์ได้ยากหรือไม่ได้เลยในบางกรณี.

น้ำท่วมเป็นเดือนจะเอาน้ำที่ไหนกิน | ธงชัย พรรณสวัสดิ์