งานอนุรักษ์ไม่ใช่จิตอาสา แต่จะเป็น “อาชีพแห่งอนาคต”
เก็บตกเวทีเสวนา SX Sustainability Expo 2022 คุยกับนักวิจัย นักสิ่งแวดล้อม ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์เรื่อง “ก้าวต่อไปของอาชีพเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน น้ำท่วม ทำให้หลาย ๆ องค์กรหันมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับผู้บริโภคที่หันมาบริโภคในสิ่งที่เกิดผลดีต่อระบบนิเวศ เพราะหลายคนตระหนักได้ว่า “โลกเรากำลังมีปัญหา”
แต่ยังมีหลาย ๆ คนที่ไม่กล้าออกจากเซฟโซนกำแพงความคิดที่ขังตนเองไว้ว่า “งานสิ่งแวดล้อมเป็นแค่จิตอาสา ไม่สามารถเลี้ยงปากท้องได้” จึงเกิดเป็นงานเสวนา “การอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา แต่คืออาชีพแห่งอนาคต” ที่จัดโดย NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย National Geographic (ประเทศไทย) ร่วมพูดคุยกับผู้ที่เกี่ยวข้องและทำงานด้านนี้โดยตรง หาคำตอบกันจากปากนักวิจัย นักสิ่งแวดล้อม ช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ว่า “อาชีพแห่งอนาคต” ในด้านสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นอย่างไร ทำไมพวกเขาถึงยังทำงานและขับเคลื่อนระบบนิเวศนี้อยู่
- ก้าวเล็กของการศึกษา จะเป็นก้าวใหญ่ของความยั่งยืน
อเล็กซ์ เรนเดลล์ ผู้ก่อตั้งศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา อธิบายว่า เมื่อก่อนตนเองเป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม มีการลงพื้นที่บ้าง ศึกษางานเพิ่มเติมบ้าง มีทั้งจริงจังและไม่จริงจัง ซึ่งตอนแรกก็มองว่ามันเป็นงานจิตอาสา หรือ CSR ชนิดหนึ่ง แต่เมื่อมีโอกาสได้ไปร่วมการเสวนากับนักสิ่งแวดล้อมในกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตนเองนั่งอยู่ในห้องที่มีหลายคนมาพูดคุย หารือ หาทางออกให้กับสิ่งที่โลกเรากำลังจะเผชิญ
เช่น ภัยพิบัติ การทำให้คนสามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน จึงมองว่าเรื่อง “ธรรมชาติ” ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ แต่เป็นเรื่องที่ค่อนข้างดาร์ก เพราะมีหลายสิ่งอย่างที่กำลังเป็นปัญหาหนัก ๆ เนื่องจากมนุษย์นั้นมีมากกว่าทรัพยากรบนโลก ทำให้เข้าวงการศึกษาและวิจัยงานด้านนี้มาถึง 8 ปีเต็ม
ทั้งนี้ อเล็กซ์มองว่า “การศึกษา” เป็นทางออกของหลาย ๆ ปัญหา เป็นตัวช่วยให้วิกฤติโลกต่าง ๆ ผ่านพ้นไปได้ การปลูกฝังและบ่มเพาะหลักสูตรที่สอดแทรกสิ่งแวดล้อมเข้าไปจะทำให้เยาวชนที่ค่อย ๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่สามารถตระหนักได้ว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไม่ใช่แค่เป็นเทรนด์ แต่มันเป็นพาร์ทหนึ่งในชีวิตที่ทุกคนต้องช่วยกันทำ
“สิ่งแวดล้อมมันอยู่ในทุกอณูของชีวิตเรา ยกตัวอย่างเช่น คนที่ชอบเกี่ยวกับแฟชั่นที่ใช้น้ำเข้ามาเป็นส่วนประกอบเยอะ เด็กรุ่นใหม่ก็ต้องเข้ามามองว่าจะทำให้อย่างไรให้แฟชั่นมันมีผลกระทบกับโลกน้อยมากที่สุด การนำเรื่องการรีไซเคิ้ลมาประยุกต์ใช้ เอาพลาสติกที่ใช้แล้วมาทำเป็นเสื้อผ้าแฟชั่น มันกลายเป็นเรื่องที่เท่ นี่แหละมันคือจุดเริ่มต้นของความยั่งยืน”
- เปลี่ยนมุมมองแล้วจะมองเห็นโอกาสทองของอาชีพ
ก่อนหน้านี้อเล็กซ์ทำงานกับเด็ก ๆ โดยการทำค่ายลงพื้นที่ มีผู้ปกครองหลายคนที่ไม่อยากให้ลูกของตนเองทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เพราะยังมีความคิดว่า ทำงานด้านนี้จะไม่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต
หากแต่ในปัจจุบัน สังเกตได้ว่าภาคองค์กร-ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก แม้แต่ตัวผู้บริโภคเองก็ยังเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด จึงมองว่าในสายงานด้านนี้มีงานที่ให้ทำหลากหลายมากกว่าเมื่อ 10 ปีก่อน
“ไม่ว่าทุกคนจะจบสายไหนมา ก็สามารถเข้ามาทำงานด้านสิ่งแวดล้อมได้ อาจจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อยากให้ทุก ๆ คนได้เปลี่ยนความคิดว่า งานด้านอนุรักษ์ไม่ได้ใช้แค่แพชชั่นเพียงอย่างเดียว แต่มันสามารถเลี้ยงปากท้องของตนเองได้” อเล็กซ์ กล่าว
เช่นเดียวกันกับ ศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย นักชีววิทยาและช่างภาพสารคดีเชิงอนุรักษ์ที่ล้มลุกคลุกคลานกับอาชีพถ่ายภาพสารดี ตอนแรกตนเองนั้นไม่มีงานเข้ามา แต่เมื่อได้ถ่ายไปเรื่อย ๆ บวกกับแพชชั่นที่มีเต็มเปี่ยม ทำให้คนเริ่มเห็นผลงานและสนใจจ้างมากขึ้น จนตอนนี้ก็มีทีมและอยู่ในแวดวงของช่างภาพสารคดีที่มีหลายคนรู้จักผลงาน
การทำงานสื่อสารมีผลกระทบกับพฤติกรรมหรือความคิดของคน อาจจะเป็นส่วนน้อยหรือส่วนมากที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนบางอย่าง ศิรชัยได้ยกตัวอย่างภาพถ่ายพะยูนกำพร้า “มาเรียม” ที่เป็นกระแสตลอด 3-4 เดือน ทุกช่องต้องมีข่าวมาเรียม สิ่งนี้มันทำให้คนตระหนักเรื่องการใช้พลาสติกมากขึ้น จึงมองว่า “งานสื่อสาร” เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้
- ‘ทุนวิจัย’ คือสิ่งที่ประเทศไทยยัง ‘ขาด’
ธงรอง อ่างแก้ว ผู้ช่วยนักวิจัย ห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังต้องการบุคลากรด้านการวิจัยอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนที่สนใจวิจัยศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์ที่เฉพาะทางนั้นมีค่อนข้างน้อย จึงมองเห็นโอกาสของการเติบโตในด้านของการจ้างงาน แต่ประเด็นสำคัญคือ ทุนวิจัยเป็นสิ่งที่ประเทศไทยยังขาด
ในส่วนของภาคเอกชนมีหลาย ๆ องค์กรที่มีทุนวิจัยเข้ามาสนับสนุน แต่ทางด้านธงรองย้ำชัดเจนว่า หากได้รับทุนวิจัยจากรัฐบาลหรือภาคองค์กรใหญ่ ๆ มากกว่านี้จะทำให้มีนักวิจัยหรืองานวิจัยที่เพิ่มขึ้น และขอบเขตของการศึกษาก็ไปได้มากขึ้น เพราะโครงการและแผนงานการพัฒนาต่างๆ จะเกิดขึ้นมาได้ ต้องอาศัย “ข้อมูล” มาช่วยในการวางแผนและการตัดสินใจทั้งหมด
“แต่ละงานกว่าเราจะต้องไปลงพื้นที่ เก็บข้อมูลซ้ำ ๆ ค่อนข้างใช้เม็ดเงินที่เยอะ คนที่เป็นผู้ช่วยภาคสนามก็ต้องมีรายจ่าย-รายเดือนเยอะเช่นเดียวกัน ซึ่งในต่างประเทศเขาให้ความสำคัญกับงานด้านสิ่งแวดล้อม คนที่ทำงานด้านนี้ก็จะได้รับผลตอบแทนที่สูง ขณะเดียวกันก็หวังว่าประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับอาชีพในสายนี้มากยิ่งขึ้น”
โลกต้องสร้างบุคลากรที่มองเห็นการเติบโตของตนเองด้านสิ่งแวดล้อมให้สามารถสร้างทีม และต่อยอดโครงการต่าง ๆ จนเกิดเป็นอาชีพได้ เพราะจะทำให้การอนุรักษ์ไม่ได้เป็นแค่งานจิตอาสา แต่จะเป็นอาชีพแห่งอนาคตเพื่อความยั่งยืน