พาณิชย์เทรนด์ผู้ส่งออก นโยบายการค้าใหม่อียูยึดสิ่งแวดล้อม - ความยั่งยืน

พาณิชย์เทรนด์ผู้ส่งออก  นโยบายการค้าใหม่อียูยึดสิ่งแวดล้อม - ความยั่งยืน

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จัดสัมมนาออนไลน์ อัปเดตแนวนโยบาย และร่างกฎระเบียบใหม่ของอียู ที่เน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น

ชี้ ผู้ประกอบการควรศึกษา และติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมปรับตัวรองรับทิศทางการค้ากับอียู และตลาดโลกที่อาจเปลี่ยนแปลงไป

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดสัมมนาผ่านช่องทางออนไลน์ (webinar) เรื่อง “ก้าวทันนโยบาย และมาตรการ การค้าใหม่ของสหภาพยุโรป” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกไทยที่ทำธุรกิจกับสหภาพยุโรป (อียู) ให้สามารถปรับตัวรองรับนโยบาย และกฎระเบียบใหม่ๆ ของอียู ที่ให้ความสำคัญกับประเด็นความยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และแรงงาน โดยเชิญผู้แทนของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมเป็นวิทยากร พร้อมทั้งเชิญผู้แทนภาคเอกชนของไทย และสมาคมการค้าของอียูในไทย ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น

ภายในงานสัมมนา นาย Petros Sourmelis อัครราชทูตที่ปรึกษา แผนกเศรษฐกิจและการค้า และนาย Laurent Lourdais  ที่ปรึกษาด้านการเกษตร มาตรการสุขอนามัย และสุขอนามัยพืช และสิ่งแวดล้อม สำนักงานผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลเรื่องนโยบาย และร่างกฎระเบียบใหม่ๆ ภายใต้นโยบายกรีนดีล ที่กำหนดเป้าหมายให้อียูมีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือเป็นเศรษฐกิจที่ไม่มีการปล่อยคาร์บอนภายในปี พ.ศ.2593 ของอียูหลายฉบับ เช่น (1) ยุทธศาสตร์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork Strategy) ในการพัฒนาระบบการผลิตอาหารที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การตลาด ไปจนถึงการบริโภค ให้มีความยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้ยาฆ่าแมลง และวัชพืช รวมทั้งยาต้านจุลชีพในสัตว์ลง 50% ลดการใช้ปุ๋ยเคมีลง 20% และเพิ่มฟาร์มออร์แกนิกให้มีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดในยุโรป ภายในปี พ.ศ.2573 (2) มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องสำแดงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจ่ายค่าธรรมเนียมตามปริมาณดังกล่าว โดยจะเริ่มบังคับใช้กับสินค้า 5 ประเภท ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และเหล็กกล้า และอะลูมิเนียม (3) ร่างกฎหมายกำกับการดูแลกิจการอย่างยั่งยืน (Corporate Sustainability Due Diligence) ที่กำหนดให้ผู้ประกอบการทั้งในอียู และต่างประเทศทำการตรวจสอบ และรับรองว่าห่วงโซ่อุปทานของตนไม่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน หรือสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม

 

 

 

(4) ร่างระเบียบว่าด้วยการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานที่ปลอดการทำลายป่า (Deforestation) ที่ให้มีการตรวจสอบห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจสำหรับบางกลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงต่อการตัดไม้ทำลายป่า ได้แก่ ถั่วเหลือง เนื้อวัว น้ำมันปาล์ม ไม้ โกโก้ และกาแฟ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากสินค้าข้างต้น เพื่อสกัดกั้นการจำหน่ายหรือนำเข้าสินค้าที่เกิดจากการทำลายป่าเข้าสู่ตลาดยุโรป และ (5) ร่างกฎหมายผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนของสหภาพยุโรป (Eco Design) ที่กำหนดรายละเอียดการออกแบบของแต่ละกลุ่มสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มมาตรการป้องกัน และหยุดการทำลายสินค้าที่ไม่ได้จำหน่าย เป็นต้น ทั้งนี้ กฎระเบียบข้างต้นยังอยู่ระหว่างการหารือรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะจากรัฐสภายุโรป และประเทศสมาชิกอียู ซึ่งอาจมีการปรับแก้ไขได้

“ปัจจุบันหลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองแรงงานมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมปรับตัว และรับมือกับกฎระเบียบดังกล่าว ให้สามารถทำการค้า และแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้  ขณะที่ผู้แทนภาคเอกชนไทยเห็นว่ากฎระเบียบของประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อียู จะช่วยยกระดับมาตรฐาน และระบบการบริหารจัดการสินค้าภายในประเทศของไทยอีกด้วย ซึ่งตนเชื่อว่าไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพในการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว อย่างไรก็ดี ตนมองว่าภาคเอกชนไทยควรเร่งศึกษาเพื่อทำความเข้าใจกับกฎระเบียบใหม่ๆ เหล่านี้ ซึ่งหากทำได้ จะช่วยให้ไทยขยายการส่งออกไปตลาดคู่ค้าอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนด้วยเช่นกัน 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์