วว.ส่ง 2 เทคโนโลยีกลุ่ม BCG ร่วมนิทรรศการสัญจร APEC 2022
วว.โชว์ 2 เทคโนโลยีขับเคลื่อน BCG Model "การจัดการขยะตาลเดี่ยวโมเดล" และ "ปุ๋ยอินทรีย์เสริมแบคทีเรียละลายฟอสเฟต" ร่วมคาราวานรถนิทรรศการ APEC 2022 ออกไปสู่ภูมิภาค
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำผลการดำเนินงานขับเคลื่อน BCG Model ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการขยะตาลเดี่ยวโมเดล (Tandiao Model) และปุ๋ยอินทรีย์เสริมแบคทีเรียละลายฟอสเฟต
ร่วมประชาสัมพันธ์การจัดแสดงนิทรรศการ APEC 2022 สัญจร “APEC พร้อม ไทยพร้อม” ณ บริเวณโถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นิทรรศการ APEC 2022 สัญจร “APEC พร้อม ไทยพร้อม” ดำเนินงานภายใต้โครงการประชาสัมพันธ์การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ปี 2565 เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation: APEC) ในปี 2565 และผลงานสำคัญของรัฐบาล
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคจะมีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ เข้าร่วมการประชุม ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ภายใต้หัวข้อหลักคือ OPEN. CONNECT. BALANCE. หรือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” เพื่อเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน เชื่อมโยงในทุกมิติ
เพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย และส่งเสริมการเจริญเติบโต ที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้าน ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตร เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
ทั้งนี้ได้ปล่อยคาราวานรถนิทรรศการ APEC 2022 สัญจร ออกไปสู่ภูมิภาค ในวันที่ 28 กันยายน 2565 ณ กรมประชาสัมพันธ์ และจะมีการเปิดตัว ณ สำนักประชาสัมพันธ์เขต ทั้ง 8 เขตพร้อม ๆ กัน ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เพื่อสร้างการรับรู้แก่กลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย
ผลงานขับเคลื่อน BCG Model ของ วว. ที่นำมาร่วมจัดแสดงเพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
1.เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการขยะตาลเดี่ยวโมเดล (Tandiao Model) วว. โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม พัฒนาเป็นโครงการนำร่อง โดยร่วมดำเนินการกับ องค์การบริหารส่วนตำบลตาลเดี่ยว ชุมชนในพื้นที่ และจังหวัดสระบุรี เพื่อแก้ไขและลดปัญหาขยะชุมชน รวมถึงขยะพลาสติกที่เหลือทิ้ง
มุ่งเน้นให้เป็นโครงการต้นแบบเพื่อนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บริหารจัดการแบบชุมชนมีส่วนร่วม สามารถสร้างรายได้และความยั่งยืนกลับคืนสู่ชุมชน มุ่งเน้นการเปลี่ยนขยะเพื่อสร้างรายได้ (Waste-to-Wealth)
ประกอบด้วย เทคโนโลยีการคัดแยกและแปรรูปขยะพลาสติกเป็นวัตถุดิบรอบสองที่มีคุณภาพ การผลิตสารปรับปรุงดิน และผลิตภัณฑ์ชุมชนจากของเหลือทิ้ง เช่น ถ่านหอม 3 in 1 และการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) ประกอบด้วย การผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF5) เพื่อทดแทนถ่านหินและการผลิตพลังงานทดแทนชีวภาพจากน้ำชะขยะพร้อมระบบบำบัดน้ำเสีย
2. ปุ๋ยอินทรีย์เสริมแบคทีเรียละลายฟอสเฟต (Phosphate solubilizing bacteria: PSB) วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วิจัยและพัฒนาสำเร็จ โดยเตรียมจากแบคทีเรียชนิด Bacillus pumilus TISTR 1476 และ Bacillus amyloliquefaciens TISTR 1475 บนสูตรวัสดุอินทรีย์ที่ผ่านการย่อยสลายสมบูรณ์ ที่มีปริมาณประมาณ 108 CFU/g
จากการทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่า แบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด มีความสามารถละลายฟอสเฟตในดินได้เพิ่มขึ้นประมาณ 55% จาก 30.7 mg/kg เป็น 68.8-78.1 และ 73.9-75.9 mg/kg ตามลำดับ และแบคทีเรียทั้ง 2 ชนิด ส่งผลเชิงบวกต่อการเจริญเติบโตของพืชทดสอบ
สำหรับการนำไปใช้ในการผลิตอ้อยในสภาพแปลงปลูกจังหวัดกาญจนบุรี ที่ดินมีสภาพเป็นด่าง (pH ประมาณ 8) B. pumilus ซึ่งจะมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้มากกว่า
เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตและคงอยู่ในดินเนื้อปูนของกาญจนบุรีได้ยาวนานกว่า และละลายฟอสเฟตออกมาได้ในระยะเวลาที่นานกว่า การนำผลิตภัณฑ์ไปใช้มีดังนี้ ผสมปุ๋ยอินทรีย์เสริม PSB อัตราส่วน 500 กรัม ต่อปุ๋ยอินทรีย์หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมีสูตรต่ำอัตรา 50 กิโลกรัม เคล้าให้เข้ากันแล้วหว่านตามปกติ