“เจโทร” ชี้มาถูกทาง “ไทยหนุน BCG” บทเรียนโลกร้อนสอนธุรกิจต้องยั่งยืน
ปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรวมถึงเราทุกคนแล้ว จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมธุรกิจต้องให้ความสำคัญ และเปลี่ยนผ่านสู่ BCG
กลยุทธ์การเติบโตสีเขียว (Green Growth Strategy) ของญี่ปุ่น สามารถอธิบายได้จากการประกาศนโยบาย 2 เรื่องคือ Asia-Japan Investing for the Future Initiative (AJIF) และ Asia Energy Transition Initiative (AETI) ที่มุ่งเน้นการลงทุน และการเติบโตด้วยเศรษฐกิจนวัตกรรมอย่างยั่งยืน และโครงสร้างพลังงานใหม่เพื่อมุ่งสู่การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์
นโยบายดังกล่าวนับเป็นหมุดหมายใหม่ด้านการลงทุนของญี่ปุ่นในอนาคต ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของประเทศไทย ความเปลี่ยนแปลงนี้ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) น่าจะอธิบายได้ดีที่สุด
คุโรดะ จุน ประธานเจโทร สำนักงานกรุงเทพ คนใหม่ ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า หนึ่งในความมุ่งหมายสำคัญที่จะสนับสนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย และญี่ปุ่นคือ เรื่องการส่งเสริมการลงทุนแห่งอนาคต โดยหนึ่งในนั้นคือ การใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน หรือ BCG (โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว)
สำหรับประเทศไทย มีปัจจัยด้านที่ตั้งที่เหมาะสมต่อการลงทุน ซึ่งจะส่งต่อให้เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของโลก หรือ Global Supply Chain โดยประเด็นด้าน BCG ก็กำลังมีบทบาทสำคัญต่อภาคการลงทุน และการค้าในอนาคต ที่มุ่งหน้าสู่การลดปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน หรือ Climate Change
“มีหลายเหตุผลที่เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change เพราะได้สร้างผลกระทบต่อการลงทุนอย่างน้อยที่เห็นได้ชัดขอยกตัวอย่าง เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ซึ่งขณะนั้นอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในไทยต้องหยุดการผลิต โดยน้ำท่วมก็เป็นส่วนหนึ่งจากปัญหาโลกร้อน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความกังวลจากผู้บริโภค และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต่างก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ดังนั้นปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจรวมถึงเราทุกคนแล้ว จึงไม่น่าเแปลกใจว่าทำไมธุรกิจ และการลงทุนต้องให้ความสำคัญ และเปลี่ยนผ่านสู่ BCG”
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมสีเขียวย่อมมีค่าใช้จ่าย ซึ่งหมายถึงต้นทุนที่อาจเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นอุปสรรคการมุ่งสู่การลงทุนด้าน BCG หรือไม่นั้น
คุโรดะ กล่าวว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่นักลงทุน และนักธุรกิจทุกคนต้องให้ความสำคัญเพื่อนำมาพิจารณาการดำเนินงาน เช่น ทุกคนต้องดูว่าเศรษฐกิจปีนี้ หรือปีถัดไปเป็นอย่างไร จากนั้นก็ประเมิน และกำหนดเป็นแผนทางธุรกิจ ซึ่งเศรษฐกิจถดถอยก็ย่อมมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในระยะสั้น แต่เรื่องBCG เป็นเรื่องของแผนระยะยาวเป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงเพราะนั่นคือ การวางแผนสู่อนาคต
สำหรับประเทศไทย เห็นว่ารัฐบาลมาถูกทางแล้วที่กำหนดนโยบาย BCG ขณะที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศไทย เบื้องต้นยังไม่เห็นสัญญาณเศรษฐกิจถดถอย ที่ผ่านมารัฐบาลไทยได้ดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างดี ท่ามกลางปัญหาราคาพลังงาน และเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น
ส่วนแนวทางของเจโทรในการส่งเสริมเศรษฐกิจ BCG นั้น ได้ดำเนินการในหลายๆ โครงการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และบรรลุสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutral ซึ่งเป็นแนวทางที่เจโทรให้ความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีอุปสรรคหลายด้าน เช่น การผลิตพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ที่โรงงานสามารถผลิต และใช้ภายในโรงงานได้เท่านั้น ไม่สามารถส่งออกไปใช้นอกพื้นที่ ทำให้แผนการหาพาร์ทเนอร์ธุรกิจในเรื่องดังกล่าวยังมีข้อจำกัด ซึ่งก็หวังว่าจะได้รับการแก้ไขจากผู้เกี่ยวข้องเพราะจะเป็นการสร้างโอกาสทั้งการผลิตพลังงานสะอาด และการขยายตัวทางธุรกิจด้วย
“ก็มีแผนว่าจะต้องเข้าไปหารือกับหน่วยราชการไทยหลายๆ แห่ง หลักๆ เพื่อประสานความสัมพันธ์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้ได้เข้าพบรัฐมนตรีบางกระทรวงแล้ว และยังมีอีกบางกระทรวงที่จะต้องทำนัดหมายเข้าไปเยี่ยมคารวะ ซึ่งไม่ว่ารัฐบาลไทยจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร แต่ความร่วมมือของไทย และญี่ปุ่นจะยังเหมือนเดิมไม่มีเหตุผลใดที่ต้องเปลี่ยนแปลงไป”
ก่อนหน้านี้คุโรดะระบุในโอกาสรับหน้าที่ว่ามีความมุ่งมั่นว่า ภายใต้สถานการณ์โลกที่ความไม่แน่นอนสูงขึ้นเรื่อยๆ ภูมิภาคอาเซียนมีความสำคัญเชิงภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น ประเทศญี่ปุ่นเล็งเห็นความได้เปรียบเชิงพื้นที่ในภูมิภาคอาเซียนที่มีมาตลอดจนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งเป็นแกนหลักห่วงโซ่อุปทานของบริษัทญี่ปุ่นในภูมิภาคนี้ และประเทศไทยมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมากที่สุด นับจากนี้ไปเพื่อประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นจะเติบโตไปด้วยกันในฐานะหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์