Megalopolis : โมเดลคลัสเตอร์เมืองอนาคต
ทิศทางการพัฒนาเมืองเป็นหัวใจในการแก้ปัญหาระดับโลกในระยะยาว ดังสุนทรพจน์ของเลขาธิการสหประชาชาติที่กล่าวไว้หลังจากวิกฤตการณ์โควิดที่ส่งผลกระทบทั่วโลก
“เมืองเป็นศูนย์กลางของหลากหลายของปัญหาที่มนุษยชาติกำลังเผชิญ จึงจำเป็นต้องวางเป้าหมายอนาคตของเมืองที่เน้นการมีส่วนร่วม ยั่งยืน และตอบโจทย์ภัยคุกคามที่จะเข้ามาปะทะ”
จากกรณีศึกษาประเทศจีน ซึ่งมีความน่าสนใจมากจากสภาพปัญหาของโครงสร้างเมือง ความแออัดของประชากร รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งอาคารและลักษณะอุตสาหกรรมที่มีรูปแบบซ้ำซ้อนกันของเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน จึงขึ้นมาแข่งขันกับทิศทางการขับเคลื่อนของเมืองหลัก ซึ่งอาจไม่เป็นผลดีในระดับประเทศ
เมืองเซี่ยงไฮ้ ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์เมืองในฐานะเป็น “ศูนย์กลางด้านการผลิตไบโอเทคและฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์” โดยใช้นโยบายเพิ่มแรงจูงใจในการสร้างโรงงานและฐานการผลิตในพื้นที่ ส่งผลให้เมืองที่อยู่ใกล้เคียงเมื่อเห็นความสำเร็จของเมืองเซี่ยงไฮ้ก็ดำเนินการพัฒนาแผนเมืองในรูปแบบใกล้เคียงกัน นำไปสู่ปัญหาประชากรกระจุกตัวในเขตเมืองสูงขึ้น การแข่งขันกันเองระหว่างเมือง และสภาพสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ซึ่งนำไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นในระดับประเทศ
จากปัญหาดังกล่าว นำมาสู่แนวทางการจัดการเมืองเพื่อก้าวข้ามข้อท้าทายไปสู่การส่งเสริมความร่วมมือของเมืองที่อยู่ภายในภูมิภาคเดียวกัน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน เสริมสร้างความเข้มแข็งระหว่างเมืองและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม
ส่งผลให้เกิดโมเดลการจัดการเมืองในรูปแบบ “กลุ่มคลัสเตอร์เมืองหลัก” (Megalopolis) ซึ่งแนวทางนี้ถูกริเริ่มขึ้นในสหรัฐเพื่อเชื่อมโยงสองเมืองผ่านโครงสร้างด้านสาธารณูปโภค และความร่วมมือระหว่างเมืองทำให้เกิดการเติบโตของสองเมืองแบบยั่งยืนขึ้น
ภายในปี 2578 ประเทศจีนได้มีการวางนโยบายด้านการจัดการเมืองในแผนระดับชาติเพื่อให้เมืองเกิดการเติบโตอย่างเป็นระบบ โดยออกมาในรูปแบบแนวทางการพัฒนา 5 กลุ่มคลัสเตอร์เมืองหลัก โดยเริ่มจากพัฒนากลุ่มเมืองที่เชื่อมต่อจากแนวโน้มของพื้นที่เมืองที่ไม่ใช่เมืองหลัก แต่มีความเป็นไปได้ในการดึงดูดการเติบโตด้านเศรษฐกิจ
รวมทั้งเสริมปัจจัยการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่ง ทั้งในภูมิภาคและต่อยอดไประหว่างประเทศ เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางการพัฒนาเมืองตอบโจทย์อนาคตและของประเทศ มีการคาดการณ์ว่าเมื่อเมืองทั้งหลายในกลุ่มคลัสเตอร์เติบโตขึ้นในอนาคต น่าจะนำไปสู่การสร้างรายได้ของประเทศจีนได้เกินกึ่งหนึ่ง รวมทั้งเป็นสถานที่รองรับการพักอาศัยของประชากรเกินครึ่งที่ต้องการอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง
โดยทางการจีนได้เตรียมแผนการเชื่อมโยงการเดินทางของแต่ละกลุ่มคลัสเตอร์ผ่านการพัฒนาโครงสร้างรถไฟความเร็วสูงกว่า 16 จุดในการรองรับอนาคตดังกล่าว โดยแนวทางในการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์เมืองเน้น 3 มิติ
มิติแรก ระบบขนส่งรถไฟความเร็วสูง เส้นทางสายรถไฟเป็นกุญแจสำคัญในการเชื่อมโยงประชาชนทั้งภายในกลุ่มเมืองคลัสเตอร์และระหว่างกลุ่ม โดยภายในปี 2578 จีนจะมีเส้นทางรถไฟที่ยาวถึง 200,000 กิโลเมตร หนึ่งในสามจะเป็นรถไฟความเร็วสูง เน้นความสำคัญกับการขนส่งแบบไร้รอยต่อกับระบบขนส่งในรูปแบบอื่นๆ
โดยตั้งเป้าไว้ว่าประชาชนจะสามารถเดินทางไปรอบๆ เมืองได้ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น หากต้องการไปเมืองที่อยู่ในกลุ่มคลัสเตอร์เดียวกันก็สามารถเดินทางไปในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง ไม่เพียงเท่านั้น ประชาชนยังสามารถเดินทางข้ามกลุ่มคลัสเตอร์ได้ภายในเวลาเพียง 3 ชั่วโมง
มิติที่สอง ทางด่วนดิจิทัล สะท้อนแนวทางการทำงานข้ามหน่วยงานท้องถิ่นของภาครัฐในการให้บริการประชาชนผ่านแอปพลิเคชันที่เชื่อมต่อกันระหว่างเมือง ประชาชนจากในกลุ่มคลัสเตอร์เดียวกันสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านช่องทางเดียว ไม่ว่าจะเป็นการขอจดทะเบียนธุรกิจ การติดต่อบริการภาครัฐต่างๆ ไปจนถึงการเสียค่าปรับ
มิติที่สาม ความร่วมมือของเมืองในกลุ่มคลัสเตอร์ การแข่งขันในเชิงเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมถูกแทนที่ด้วยความร่วมมือระหว่างเมืองในกลุ่มคลัสเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลจากเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลจากระยะไกล (remote sensing) หรือการใช้โดรน
เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ในหลายเมืองที่มีการเชื่อมโยงกันด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาขยะและจากแหล่งน้ำเดียวกัน ปัญหามลภาวะทางอากาศจากขอบเขตเมืองที่อยู่ในคลัสเตอร์เดียวกัน เป็นต้น
แนวทางการขยายตัวของกลุ่มคลัสเตอร์เมืองจะช่วยเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับพื้นที่เมือง และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดภาระของเมืองหลัก (Megacity) ในที่ที่ไม่อาจรองรับการขยายตัวระยะยาวได้อีก รวมถึงการพัฒนาที่ตอบโจทย์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของเมืองไปพร้อมกัน
เมื่อย้อนกลับมาศึกษาบริบทประเทศไทย รวมทั้งฟังเสียงของกลุ่มผู้บริหารเมืองในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งสะท้อนถึงความเป็นไปได้ในการพัฒนากลุ่มคลัสเตอร์เมืองรองให้เติบโตไปด้วยกัน กรณีในประเทศไทยสามารถมีได้ทั้งคลัสเตอร์เมืองหลัก (Megalopolis) และคลัสเตอร์เมืองเล็ก (Micropolis)
การออกแบบที่เหมาะสมจะสามารถเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนผ่านการเข้ามามีส่วนร่วมของเมืองต่างๆ ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะทำให้ทิศทางการพัฒนาเมืองกลายเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ปัญหาระดับประเทศและตอบโจทย์วิกฤติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเชื่อมโยงกันของคลัสเตอร์เมืองต่างๆ ต่อไป.