‘ครีเอเตอร์’ อาชีพมาแรงในกลุ่ม Millennials ทำแล้ว ‘เงินดี-มีความสุข’
Adobe เผย ครีเอเตอร์กลุ่ม Millennials ครองตลาดถึง 42% เพราะทำแล้วรายได้ดี มีความสุข มีอิสระจากการทำงาน และยังสามารถช่วยขับเคลื่อนประเด็นสังคมผ่านผลงานของตนเองได้อีกด้วย
คนในยุค Millennials ปัจจุบันคือ กลุ่มคนที่เริ่มต้นชีวิตวัยทำงานหรือเพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ (เกิดช่วงพ.ศ. 2523 - 2540) พวกเขาเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีอย่างคอมพิวเตอร์-สมาร์ทโฟน และด้วยความที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทยอยออกมา คนกลุ่มนี้จึงมีพฤติกรรมการบริโภคที่อิงตามสภาพแวดล้อมภายใต้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ
การสำรวจของ เฟลชแมนฮิลลาร์ด พบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง Millennials ไทย 500 คน ให้ความสำคัญกับการมีความสุข มีสุขภาพที่ดี การมีเวลา-มีอิสระภาพ ใช้แฟชั่นเป็นเครื่องแสดงตัวตน ภาพลักษณ์บนโลกออนไลน์สำคัญกว่าโลกแห่งความเป็นจริง
ดังนั้น งานที่เหล่าชาว Millennials และ Gen Z เลือกทำจะเป็นงานที่สามารถพัฒนาตนเองไปได้ไกล ทำแล้วมีความสุข มี work-life balance หรือใช้แพชชันและความชอบเป็นตัวนำ ที่สำคัญ “รายได้และผลตอบแทน” ก็เป็นสิ่งที่พวกเขาพิจารณาเป็นลำดับแรก
ในช่วงโควิดที่ผ่านมา อาชีพที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากที่สุดคงไม่พ้นอาชีพ “อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer)” และ “ครีเอเตอร์ (Creator)” เนื่องจากเป็นงานที่สามารถทำได้จากที่บ้าน ไม่ต้องพบเจอผู้คน มีอิสระ และเป็นงานที่ทำแล้วมีความสนุก อาศัยเพียงแค่ “ความคิดสร้างสรรค์” และ “เครื่องมือครีเอทีฟ” สร้างสรรค์ผลงานลงบนแพลตฟอร์ม ช่องทางออนไลน์ ตลอดจนโซเชียลมีเดีย อย่าง อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ พินเทอเรส ติ๊กต่อก ฯลฯ
ซึ่งจากรายงานของ Adobe (อะโดบี) พบว่า Creator Economy เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์ สินค้าและบริการออนไลน์ โดยใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนครีเอเตอร์เพิ่มมากขึ้นกว่า 165 ล้านคนในช่วงสองปีที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีครีเอเตอร์ราว 303 ล้านคนทั่วโลก
- ครีเอเตอร์หน้าใหม่ ส่วนใหญเป็น ‘ชาว Millennials’
Adobe ได้สำรวจกลุ่มครีเอเตอร์ตามช่วงอายุ พบว่า เป็นกลุ่ม Millennials สูงสุดที่ 42% รองลงมาคือ Gen X 31% กลุ่ม Gen Z 14% และ BabyBoomers 14%
แม้ตลาดจะมีการเติบโตสูง หากแต่งานคอนเทนต์ครีเอเตอร์ยังไม่เพียงพอที่จะเป็นรายได้หลักสำหรับคนส่วนใหญ่ เนื่องจาก ครีเอเตอร์มีรายได้เฉลี่ยอยู่ราว 2,284 บาท ต่อ 1 ชม. หรือ 4.19 ล้านบาท ต่อหนึ่งปี
บรรดาครีเอเตอร์ทั้งหมดนั้น จะมีครีเอเตอร์อยู่ราว 14% ที่เข้าข่ายเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ รายได้ของอิลฟลูเอนเซอร์มากกว่าครีเอเตอร์ทั่วไปราว 33% เฉลี่ยอยู่ที่ 3,033 บาท ต่อ 1 ชม. คิดเป็น 6 ล้านบาทต่อปี หากยึดเป็นอาชีพหลัก
ซึ่งรายได้ระดับนี้ นับว่าสูสีกับค่าตอบแทนเฉลี่ยต่อปีของวิศวกรซอฟต์แวร์ที่ 5.99 ล้านบาท, ทนายความ 4.83 ล้านบาท และผู้สอบบัญชี 4.46 ล้านบาท จากการสำรวจครีเอเตอร์ 6 ใน 10 คนมีงานประจำอยู่แล้ว แต่กระนั้น อาชีพครีเอเตอร์ก็เป็นทางเลือกอันดับต้น ๆ สำหรับคนกลุ่ม Gen Z และ Millennials ที่อยากจะหลุดพ้นกรอบอาชีพเดิม ๆ
- สาย ‘ถ่ายภาพ - เขียนคอนเทนต์ - วาดภาพ’ เป็นที่นิยม
ครีเอเตอร์ส่วนใหญ่มีช่องทางในการสื่อสารและเผยแพร่ผลงานเฉลี่ยคนละ 3 ช่องทาง ซึ่งผลงานในรูปแแบบ ‘ทัศนศิลป์’ หรืองานที่เป็นภาพและการเขียนทั้งหลาย ได้รับความนิยมสูงสุด
นอกจากนี้ ยังมีครีเอเตอร์ที่สร้างผลงานด้วยเทคโนโลยี เช่น การสร้างภาพยนตร์ กราฟฟิกดีไซน์, NFTs, ผลงานที่เกิดจาก AR/VR งานแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ เกม หรือแม้แต่กระทั่งสายดนตรี พอดแคส ก็ได้ออกมาอวดผลงานของตัวเองให้โลกออนไลน์เห็น ซึ่งก็มีสัดส่วนที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับครีเอเตอร์สายศิลป์ในแขนงอื่น ๆ
- งานสร้างสรรค์ ที่สร้างความ ‘อารมณ์ดี’
ขอบเขตขอครีเอเตอร์ ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่สายถ่ายภาพ เขียนคอนเทนต์ วาดภาพ จะเห็นได้ว่า ครีเอเตอร์ที่สร้างสรรค์ผลงานบนติ๊กต่อก (TikTok) หรือที่เรียกกันว่า “TikToker” หลายคนเริ่มจากการทำคลิปวิดีโอในแบบที่ตนเองชอบ จนไปเข้าตาคณะกรรมการของบริษัทต่าง ๆ จึงทำให้ได้รับโอกาสรับงาน โปรโมทสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของธุรกิจนั้น ๆ
และยังมีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นมาตอบโจทย์ธุรกิจสร้างสรรค์ เป็นพื้นที่โชว์ทักษะ ‘การเขียนคอนเทนต์ เน้นภาพถ่าย’ จากเรื่องที่ครีเอเตอร์คนนั้นถนัด เช่น การแนะนำวิธีการแต่งตัวให้เข้ากับสถานที่หรือกิจกรรมต่าง ๆ, การแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในวันหยุด, การแนะนำร้านอาหารในย่านลับ หรือแม้กระทั่งสายแต่งหน้าทำผม ทุกคอนเทนต์มาจากแพชชัน ความชอบ ของครีเอเตอร์ทั้งหมด
ซึ่งผลการศึกษาจาก Adobe ชี้ว่า ยิ่งครีเอเตอร์ใช้เวลาในการสร้างและแชร์คอนเทนต์มากขึ้นเท่าไร เขาก็จะยิ่ง ‘อารมณ์ดี-มีความสุข’ มากขึ้นเท่านั้น โดยครีเอเตอร์ (69%) และอินฟลูเอนเซอร์ (84%) ระบุว่า การสร้างและแชร์คอนเทนต์ออนไลน์ เป็นช่องทางในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ซึ่งไม่สามารถหาได้จากงานประเภทอื่น
- ครีเอเตอร์เป็นแรงขับเคลื่อนสังคมผ่าน ‘ผลงาน’
95% ของครีเอเตอร์ มักจะส่งเสริมหรือสนับสนุนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญต่อตนเอง หลาย ๆ ครั้งผลงานของเขาจะเกี่ยวเนื่องกับการ “ขับเคลื่อน” ประเด็นบางอย่าง เนื่องด้วยพฤติกรรมของคนกลุ่ม Millennials นั้นมีความสนใจสภาพแวดล้อมในสังคม
ครีเอเตอร์หลาย ๆ คนเชื่อว่า ผลงานสร้างสรรค์และอิทธิพลของตนเองสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สังคม (51%), เป็นกระบอกเสียงให้แก่ผู้ด้อยโอกาส (49%) และช่วยให้คนอื่นๆ แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมได้ง่ายขึ้น (47%)