Future Food ย้ำไทยครัวโลกสู่สายตาผู้นำ APEC 2022
Future Food ได้รับการผลักดันเข้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด BCG โมเดล ในการประชุม APEC 2022 ผ่านการประกวดสตาร์ทอัพด้านอาหารอนาคต โดย TASTEBUD LAB ผู้บุกเบิกนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคปี 2565 ภายใต้แนวคิดหลัก คือ “Open Connect Balance” เปิดโอกาสสำคัญให้คนไทยและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพและความพร้อมในฐานะเจ้าภาพผ่านการนำเสนอภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศให้ผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ
ท่ามกลางความแรงของกระแส Soft Power ที่หลายฝ่ายร่วมกันขับเคลื่อน โดยเฉพาะเรื่อง “อาหารไทย” ที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ อีกทั้งไทยเป็นประเทศที่มีการส่งออกอาหารอันดับที่ 12 ของโลก และเพิ่งได้รับการยกย่องจาก UN ว่าเป็น Role Model ในเรื่องสาธารณสุข การเกษตร ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน
จึงเป็นที่มาของกิจกรรมการประกวดเมนูอาหารอนาคตในคอนเซปต์ Plate to Planet นำเสนอ 21 เมนูอาหารแห่งอนาคต ตัวเลขที่ล้อไปกับคำว่า “21 สุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ” ชิงเงินรางวัลรวมทั้งหมด 2.5 ล้านบาท
จัดโดย TASTEBUD LAB ผู้บุกเบิกนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต ร่วมกับกรมประชาสัมพันธ์และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน กิจกรรมเริ่มรับสมัครตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มีผู้ผ่านเข้ารอบแรกประมาณ 200 ทีม ซึ่งจะกิจกรรมเวิร์กช็อปและคัดเลือกให้เหลือ 21 ทีมเป้าหมาย กำหนดประกาศผลในช่วงการประชุมเอเปคนี้ และสามารถติดตามกิจกรรมการประกวดได้ทาง www.futurefoodapec.com
เมนูสุดล้ำรสชาติสุดอร่อย
ยกตัวอย่างผลงานที่เข้าประกวด “ห่อหมกวีแกนเพื่อสุขภาพ” จากทีมภูติจิ๋วรวมพลัง พัฒนาห่อหมกวีแกนในรูปแบบผงอาหารพร้อมปรุง (Ready To Cook) สามารถฉีกซอง เติมน้ำให้ความร้อนก็พร้อมรับประทาน
ในส่วนของวัตถุดิบทำมาจากเห็ด 3 ชนิดที่ให้โปรตีนสูง พร้อมด้วยวิตามินดีและวิตามินเอ รสชาติจะเหมือนกับการรับประทานห่อหมกที่ทำมาจากเนื้อสัตว์ โดยจะมีสูตรลดเผ็ดและสูตรเพิ่มเผ็ดได้ตามความต้องการของผู้บริโภค
ห่อหมกเน้นการใช้วัตถุดิบภายในประเทศไทย ส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างงาน ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อให้ได้ความมั่นคงของผลิตภัณฑ์
เช่น การออกแบบบรรจุภัณฑ์รักษาอุณหภูมิ เพื่อเตรียมส่งออกสู่ต่างประเทศ โดยจะวางจำหน่ายในราคา 30-35 บาท ที่สำคัญคือ สามารถเก็บรักษาผงห่อหมกได้นานมากกว่า 6 เดือน
ตัวอย่างที่โดดเด่นถัดมาคือ “เลอชั้น (Le Chan)” ขนมชั้นสูตรลดน้ำตาลเสริมใยอาหารและโพรไบโอติกส์สายพันธุ์พิเศษ ท็อปปิ้งด้านบนเป็นครัมเบิ้ลมะพร้าว มีใยอาหารสูง ราดด้วยซอสโปรตีนมะพร้าวรสเค็มหวาน ให้รสชาติ หวาน เค็ม นุ่มหนึบ กรุบกรอบ หอมมัน ตามเอกลักษณ์ขนมไทย
ทีมผู้พัฒนาออกแบบให้มีรูปทรงคล้ายดอกบัว มีกลิ่นหอมของน้ำตาลสด เป็นขนมชั้นสำหรับคนรักสุขภาพ เพราะใช้เทคนิคที่ช่วยลดน้ำตาลมากถึง 40% ด้วยการสลับชั้นหวานและจืด ระหว่างการรับประทานจะให้ Aftertaste ของชั้นหวานกลบรสชั้นจืด โดยลิ้นยังคงรับรสหวานดั้งเดิม
ส่วนสีชมพูของขนมได้มาจากสารสกัดเปลือกแก้วมังกรที่เสถียรต่อความร้อน ที่รับมาจากวิสาหกิจชุมชน จ.แพร่ ส่งเสริมเกษตรไทย ซึ่งขนมชั้นสูตรลดน้ำตาลจะขายในราคา 1 กล่อง 139 บาท วางขายแบบเดลิเวอรีทั่วกรุงเทพฯ และมีแพลนต่อยอดไปต่างจังหวัด ตลอดจนส่งออกต่างประเทศ
ไอศกรีมโปรตีนจิ้งโกร่ง
อีกหนึ่งเมนูที่ได้รับความสนใจอย่างมาก “ProTim Magket” จากทีม TasteLab เป็นไอศกรีมสไตล์แมกนั่ม ที่มีส่วนผสมหลักจากโปรตีนจิ้งโกร่ง นมข้าวถั่ว และกะทิ
ProTim Magket เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนและวิตามินบีสูง ถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยสามารถทานได้ มีคุณค่าทางอาหาร มีรสชาติที่อร่อย
เป็นผลิตภัณฑ์ที่เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อความยั่งยืน ส่วนในมุมมองระดับอุตสาหกรรมนั้นสามารถจำหน่ายเป็นรูปแบบแท่งสำเร็จรูป และยังสามารถแตกยอดเป็นผงสำเร็จรูป ทีผู้บริโภคสามารถนำไปใช้ทำเป็นขนมหวานทานเองได้
ผลงาน “โครเก็ตพะแนงแพลนต์เบส” จากทีมลูกชะมวง ที่ด้านนอกของเนื้อเทียมพะแนงจะมีความกรอบจากน้ำมันมะพร้าว และความหอมจากใบโหรพา-ใบมะกรูด ส่วนด้านในจะเป็นเนื้อโครเก็ต ที่ทำมาจากมันเทศ ซึ่งได้ไอเดียมาจากโครเก็ตมันฝรั่งจากต่างประเทศ ทั้งยังมีข้าวหอมมะลิกับเห็ดแครงเป็นส่วนประกอบ
ทางทีมลูกชะมวงได้รับความร่วมมือจากสำนักงานเกษตร จ.ระยอง ที่ปลูกมันเทศหมุนเวียนเพื่อรักษาหน้าดินในช่วงแห้งแล้ง นำผลผลิตจากชุมชนมาแปรรูปเป็นส่วนประกอบหลักในโครเก็ตพะแนง ทดแทนการใช้เนื้อสัตว์ เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้กับเมนูแพลนต์เบส
นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนต่อยอดธุรกิจในรูปแบบของแช่แข็ง เพื่อตีตลาดลูกค้าทั้งภายในและต่างประเทศ รักษาอายุให้ได้นานยิ่งขึ้น
ข้าวถั่วลูกไก่ยำปักษ์ใต้ผัก 5 สี โดยทีม EATVOLUTION เมนูนี้เลือกนำข้าวถั่วลูกไก่คาร์โบไฮเดรตต่ำ ให้รสสัมผัสใกล้เคียงข้าวสวย แต่ให้ปริมาณโปรตีนสูงแบบไม่ต้องง้อเนื้อสัตว์ นำมาพัฒนาเป็นเมนูข้าวยำจากภูมิปัญญาท้องถิ่นทางภาคใต้ของไทย รับประทานคู่กับผักและสมุนไพรพื้นบ้าน 5 สี หาได้ง่าย ราดด้วยน้ำซอสบูดูวีแกน ที่มีส่วนผสมหลักจากเต้าเจี้ยว ตอบโจทย์ผู้บริโภคทุกกลุ่ม
ผลักดันครัวไทยสู่ครัวโลก
กิจกรรมนี้กรมประชาสัมพันธ์เปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ ไม่จำกัดอาชีพ ทั้งกลุ่มสตาร์ตอัป กลุ่มเกษตรกร นักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป ที่สนใจใน Future Food ได้เเสดงศักยภาพในฐานะเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปคเข้าร่วมประกวดสร้างสรรค์เมนูอาหารอนาคต ภายใต้แนวคิด BCG
คาดหวังว่าประโยชน์ที่ได้จากการสนับสนุน Thai Future Food คือ
1.ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ อาหารไทย จุดเด่น “ครัวโลก” ที่ส่งออกอาหารสูงติด 1 ใน 15 ให้ยกระดับวัตถุดิบอาหารสู่อาหารแห่งอนาคต เพิ่มมูลค่าการตลาด คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพนำนวัตกรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยี มาพัฒนา “อาหารแห่งอนาคต” เพื่อเพิ่มโอกาสการแข่งขันในเวทีโลก
2.ส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ให้เข้าถึงโอกาสธุรกิจอาหารอนาคต ซึ่งเป็นเมกะเทรนด์โลก มูลค่าการตลาด 122,927 ล้านบาท ที่จะโตอีกสองเท่าในปี 2025
3.อาหารอนาคตช่วยลดภาวะโลกร้อนจากกระบวนการผลิตอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และช่วยแก้ไขวิกฤติขาดแคลนอาหารทั่วโลก.