เป็นไปได้ไหม ‘ท่าอวกาศยานในไทย’ ไทยผนึกเกาหลี ศึกษาความพร้อมสร้าง Spaceport
ไทยผนึกพันธมิตรเกาหลี ศึกษาความเป็นไปได้เตรียมสร้าง “ท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport” ในประเทศไทย
สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และ สถาบันวิจัยการบิน-อวกาศเกาหลี (KARI) สาธารณรัฐเกาหลี ลงนามความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ ซึ่งมีหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะดำเนินการร่วมกันคือ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย”
อุตสาหกรรมการบินและอวกาศเป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ซึ่งจะเป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต ความร่วมมือระหว่างไทย และเกาหลีในครั้งนี้ จะเป็นการส่งเสริมอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจอวกาศ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย
ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติ รวมไปถึง (ร่าง) พ.ร.บ. กิจการอวกาศที่จะเป็นกลไกสำคัญในการใช้ประโยชน์จากอวกาศสู่การพัฒนาประเทศบนฐานของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่อไป
จากงานวิจัยที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับจิสด้า ผลการศึกษาตลอด 30 ปีที่ผ่านมาพบว่า นราธิวาส และภาคตะวันออกของไทยมีความเป็นไปได้ที่จะสามารถสร้างท่าอวกาศยาน
เนื่องจากการปล่อยจรวดหรือดาวเทียมนั้นต้องทำใกล้กับทะเล ไกลบ้านเรือนและชุมชน เพราะป้องกันข้อผิดพลาดจรวดตกสู่พื้นดิน โดยความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีจะใช้เวลาศึกษา 1-2 ปี หากศึกษาสำเร็จจะต้องใช้เวลาดำเนินการสร้างท่าอวกาศยานอย่างน้อยอีก 4-5 ปี
ปกรณ์ อาภาพันธ์ุ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดของโลก มีจุดเด่นในเรื่องของสภาพภูมิศาสตร์ครบถ้วนสำหรับการสร้างท่าอวกาศยาน
ดังนั้น ความร่วมมือกับเกาหลีที่เป็นพันธมิตร และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอวกาศจะช่วยสนับสนุนไทยทั้งด้านความรู้ เทคโนโลยี การพัฒนากำลังคน และงบประมาณ
การวิจัยดังกล่าวจะคำนึงถึงความเหมาะสมทางภูมิศาสตร์ สถานที่จัดตั้ง ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เช่น ภัยพิบัติ ความเป็นไปได้ของสภาพแวดล้อม ผลเสียต่อธรรมชาติ ชนิดของจรวดนำส่ง ใบอนุญาตและกฎระเบียบข้อบังคับในการนำส่งจรวดตลอดจนการดำเนินงานด้านธุรกิจ
“การสร้างท่าอวกาศยานจะมีประโยชน์อีกมากมาย เช่น การส่งดาวเทียม ส่งจรวด และการทำการท่องเที่ยวในอวกาศ หรือการส่งยานข้ามทวีป ถ้าอีก 20 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีพัฒนาการไปแล้ว แต่ไทยยังไม่พร้อม ไทยก็จะเป็นประเทศที่ล้าหลัง” ปกรณ์ กล่าว
นอกจากนี้ การศึกษาความเป็นไปได้ดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนที่จะเข้ามาจัดตั้ง Spaceport ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ
ต่อยอดขยายกิจการอวกาศของประเทศ และภูมิภาคให้ไปสู่เชิงพาณิชย์ที่จะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่กับประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์