เยอรมนี เตรียมสร้าง ‘เมืองอัจฉริยะ-ปลอดรถยนต์’ บนสนามบินเก่าเบอร์ลินเทเกล
เยอรมนี ผุดโปรเจ็กต์ Berlin TXL เปลี่ยน ‘สนามบินเก่าเบอร์ลินเทเกล’ ให้กลายเป็น ‘เมืองอัจริยะ’ ปลอดควันพิษจากรถยนต์ ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ทุกชนชั้น โดยรองรับประชากรได้ 10,000 คน ย่านแรกจะสร้างเสร็จในปี 2570 นี้
ในปี 2563 สนามบินนานาชาติเบอร์ลินเทเกล สนามบินเก่าแก่ของประเทศเยอรมณีได้ยุติการให้บริการลง เนื่องมาจาก เยอรมนีต้องการย้ายไปยังพื้นที่แห่งใหม่ที่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารและจำนวนเครื่องบินได้มากกว่า อย่างสนามบินเบอร์ลินบรันเดินบวร์ค
หลังจากปิดตัวลง สนามบินเบอร์ลินเทเกลได้ปรับปรุงพื้นที่เป็น “ศูนย์กลางการวิจัยทางเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยปลอดรถยนต์ และเขตอนุรักษ์ธรรมชาติทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมือง
จึงเกิดเป็นเมกะโปรเจ็กต์ “Berlin TXL – the Urban Tech Republic (Berlin TXL)” ประกอบด้วย อุทยานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พื้นที่ภูมิทัศน์ และเมืองอัจฉริยะอย่าง “Schumacher Quartier” โดยทำให้พื้นที่เมืองดังกล่าวเป็นเขตที่อยู่อาศัยปลอดรถยนต์ มีเลนจักรยานครอบคลุมทั้งเมือง และสามารถรองรับผู้คนได้ถึง 10,000 คน
นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทั้งหมดของโครงการจะถูกกันไว้เป็นเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ ภายในเมืองยังประกอบด้วย โรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก แหล่งช้อปปิ้ง และพื้นที่สาธารณะ มีพื้นที่เขียวล้อมรอบ โดยจะมีตัวเลือกที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย และ 10% ของยูนิตที่พักอาศัยจะสงวนไว้สำหรับนักเรียนโดยเฉพาะ
ทางรัฐบาลเบอร์ลินได้มอบหมายให้ Tegel Projekt สถาปนิกที่เชี่ยวชาญการสร้างเมืองยุคใหม่ พัฒนาเมือง Berlin TXL ในเฟดแรก ใช้พื้นที่บนสนามบินราว 5 ตารางกิโลเมตร คาดว่าจะปลูกสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เสร็จในปี 2570
Tegel Projekt เรียก Berlin TXL ว่า “ความคิดริเริ่มที่ไม่เหมือนใครในยุโรป” พวกเขามีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้ยั่งยืน ช่วยแก้ไขปัญหาด้านการขาดแคลนที่อยู่อาศัย
“กรุงเบอร์ลิน ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนที่อยู่อาศัย ราคาย่อมเยาว์ เช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่มีรายได้น้อยถูกผลักออกจากเมืองชั้นในที่มีความเจริญก้าวหน้า
สำหรับ Berlin TXL ไม่ควรเป็นสถานที่สำหรับผู้ที่มีรายได้สูงเท่านั้น ทุกๆ คนสามารถเข้าถึงเมืองได้ จะต้องทำให้เป็นพื้นที่ที่ยั่งยืน เกิดความน่าอยู่สำหรับคนทุกวัยและไม่ว่าจะมีรายได้เท่าใดก็ตาม” Philipp Bouteiller ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Tegel Projekt แสดงทัศนะ
สตูดิโอสถาปัตยกรรมเยอรมัน Von Gerkan, Marg and Partners Architects (GMP) ที่เป็นผู้ออกแบบอาคารดั้งเดิมบนสนามบินเบอร์ลินเทเกล จะรับหน้าที่ปรับปรุงอาคารผู้โดยสารทรงหกเหลี่ยมเก่าให้เป็นอุทยานวิจัยแห่งใหม่ของเบอร์ลิน
สำหรับโซน Urban Tech Republic มีประกอบด้วย ธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็กประมาณ 1,000 แห่ง ที่มีพนักงาน 20,000 คน ทำงานด้านการวิจัย การพัฒนา และการผลิต โดยเทคโนโลยีสีเขียวแห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตใน Urban Tech Republic จะถูกนำมาใช้ในเมือง Schumacher Quartier ด้วย
อย่างไรก็ตาม สนามบินเบอร์ลินเทเกลไม่ใช่สนามบินเดียวที่พัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ แต่ยังมีสนามบินเทมเพลฮอฟของเมืองหลวงแห่งนี้ ซึ่งทำหน้าที่เป็นสนามบินตั้งแต่ปี 2470 ถึง 2551 ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงเป็นค่ายผู้ลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนีอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล: dezeen