เมืองอัจฉริยะ – ศูนย์กลางธุรกิจ EEC เมกะโปรเจกต์รับ 'มหานครการบิน'ตะวันออก

เมืองอัจฉริยะ – ศูนย์กลางธุรกิจ EEC เมกะโปรเจกต์รับ 'มหานครการบิน'ตะวันออก

โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การดึงดูดอุตสาหกรรมให้เข้ามาลงทุนในประเทศเพื่อสร้างการจ้างงานใหม่ ขณะเดียวกันก็ดึงดูดภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุน

โดยการลงทุนในอีอีซีมีหลายรูปแบบทั้งในโครงการในรูปแบบที่เอกชนมีการลงทุนโดยตรงหรือว่าร่วมลงทุนในโครงการของรัฐในรูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการของรัฐ (PPP)

ในระยะแรกของโครงการอีอีซีมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญได้แก่ รภไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา) โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และมาบตาพุดระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ทั้งนี้แผนงานของอีอีซีในระยะต่อไปคือการพัฒนาในส่วนของ “เมือง” และ “ศูนย์กลางธุรกิจ” ที่มีความทันสมัย น่าอยู่และน่าลงทุนในระดับโลกเพื่อดึงดูดให้กลุ่มแรงงานที่มีทักษะสูง หรือบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาตั้งสำนักงานข้ามประเทศ (International Headquarters) ในประเทศไทยมากขึ้น

โดยในการประชุมคณะกรรมการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้มีมติเห็นชอบและรับทราบความคืบหน้าของ “โครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ” โดยโครงการนี้เป็นการสร้างพื้นที่เมืองแห่งใหม่ที่จะเป็นทั้งที่อยู่อาศัย และเป็นเมืองธุรกิจขึ้นในพื้นที่อีอีซีซึ่งจะมีบทบาทในการรองรับการเกิดขึ้นของมหานครการบินภาคตะวันออก บริเวณรอบสนามบินอู่ตะเภาในรัศมี 30 กิโลเมตร

โดยพื้นที่ของเมืองอัจฉริยะใน EEC ห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กิโลเมตรเท่านั้น เมืองมหานครการบินและเมืองอัจฉริยะใหม่จะมีการขยายตัวเป็นเมืองที่มีคนอยู่อาศัยจำนวนมาก  รวมทั้งรองรับภาคธุรกิจที่มีการเติบโตมากขึ้นด้วย รวมทั้งมีการตั้งเป้าหมายว่าจะทำให้เมืองนี้เป็น 1 ใน 10 เมืองน่าอยู่ของโลกภายในปี 2580

ทั้งนี้โครงการนี้จะมีการลงทุนในโครงการสูงถึง 1.34 ล้านล้านบาท โดยเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนตลอดในสัดส่วน 9.7% การลงทุนของภาครัฐ 2.8% และการลงทุนของภาคเอกชน 87.5% ในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า เมื่อลงทุนแล้วเสร็จจะสร้างงานในพื้นที่ได้กว่า 200,000 ตำแหน่ง  

สำหรับขนาดของโครงการนี้มีขนาดโครงการ  1.5  หมื่นไร่ โดยก่อนหน้านี้ ครม.เห็นชอบให้เข้าใช้ประโยชน์ที่ดินของ ส.ป.ก.ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยพื้นที่ของเมืองอัจฉริยะใน EEC ห่างจากท่าอากาศยานอู่ตะเภา 15 กิโลเมตร และห่างจากกรุงเทพฯ 160 กิโลเมตร  และห่างจากพัทยา – จอมเทียนประมาณ 10 กิโลเมตรเท่านั้น

เมืองอัจฉริยะ – ศูนย์กลางธุรกิจ EEC เมกะโปรเจกต์รับ \'มหานครการบิน\'ตะวันออก

โครงการนี้ได้มีการออกแบบในการแบ่งพื้นที่โครงสร้างพื้นฐาน และพื้นที่ใช้สอย  70%  พื้นที่สีเขียว 30%  พลังงานสะอาด 100% การใช้ระบบน้ำแบบพึ่งพาตนเอง การลดคาร์บอน และขยะเป็นศูนย์ ถือว่าเป็นเมืองที่ปรับตัวได้ รองรับสภาวะโลกอนาคต

ภายในพื้นที่ได้มีการกำหนดโซนออกเป็น 5 โซน ได้แก่

1.ศูนย์สำนักงานใหญ่ภูมิภาค และศูนย์ราชการ  

2.ศูนย์กลางการเงิน

3. ศูนย์การแพทย์แม่นยำ

4.ศูนย์การศึกษาวิจัย-พัฒนานานาชาติ

และ 5.ศูนย์ธุรกิจอนาคต เช่น พลังงานสะอาด ดิจิทัล โลจิสติกส์ วิทย์กีฬา รวมทั้งมีที่อยู่อาศัยชั้นดีสำหรับคนทุกกลุ่มรายได้ แบ่งเป็นรายได้เริ่มต้น – ปานกลาง 70% และ กลุ่มรายได้สูง 30%  

สำหรับระยะเวลาพัฒนาโครงการนี้มีระยะเวลาในการการพัฒนา 10 ปี  ระหว่างปี 2565-2575  โดยได้มีการจัดทำแผนแม่บทแล้วเสร็จกำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการ 20 ปีแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก 5,700 ไร่ ระยะที่สอง 4,000 ไร่ และระยะสุดท้ายของโครงการในพื้นที่ 4,919 ไร่

พจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงาน สกพอ.กล่าวว่า ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ในระยะแรกแล้วทั้งสิ้น 2,483 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเตรียมที่ดินในเฟสแรกให้พร้อมได้ใน 5 ปีข้างหน้า และเริ่มให้เอกชนเข้ามาร่วงลงทุนและพัฒนาพื้นที่ได้ในปี 2567

โดยภายในไตรมาสแรกปี 2566 สกพอ. จะเริ่มดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในการสร้างเมืองอัจฉริยะระดับโลก ที่มีประสบการณ์พัฒนาสมาร์ทซิตี้ให้สำเร็จทั้งในเกาหลี ซาอุดิอาระเบีย และญี่ปุ่น เพื่อออกแบบผังและจัดโซนของโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ รวมทั้งวิเคราะห์ธุรกิจที่เหมาะสมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้น โดยกำหนดให้ทำการศึกษาแล้วเสร็จใน 18 เดือน