‘อีอีซี’ ดันเมืองใหม่ 1.4 หมื่นไร่ ตั้งเป้า Top 10 เมืองน่าอยู่โลก
กพอ. รับทราบความคืบหน้าศูนย์กลางธุรกิจและเมืองใหม่อีอีซี ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยแล้วเสร็จ 2,483 ไร่ โดยคาดว่าจะจัดเตรียมที่ดินในระยะแรก 5,700 ไร่ ภายใน 5 ปีตั้งเป้าติด 1 ใน 10 เมืองน่าอยู่โลกภายในปี 2580
นางสาวพจณี อรรถโรจน์ภิญโญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2565 ที่มีมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2565 ว่า กพอ. รับทราบความคืบหน้าโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะพื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี อยู่ในเขตส.ป.ก.ได้จัดทำแผนแม่บทแล้วเสร็จกำหนดระยะเวลาพัฒนาโครงการ 20 ปีแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก 5,700 ไร่ระยะที่สอง 4,000 ไร่ และระยะสุดท้าย 4,919 ไร่
โดย สกพอ.และ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. ในระยะแรกแล้วทั้งสิ้น 2,483 ไร่ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเตรียมที่ดินในเฟสแรกให้พร้อมได้ใน 5 ปีข้างหน้า และเริ่มให้เอกชนเข้ามาร่วงลงทุนและพัฒนาพื้นที่ได้ในปี 2567
สำหรับโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะในการพัฒนาศูนย์กลางธุรกิจและการเงินระดับภูมิภาคมาตรฐานเทียบเท่าสากลในอีอีซี เพื่อให้เป็นเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ 1 ใน 10 เมืองของโลกในปี 2580 กำหนดให้รัฐเป็นเจ้าของและผู้บริหารพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้รัฐวิสาหกิจและเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP โดยจะมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 5 โซน ประกอบด้วย
1.ศูนย์กลางการเงิน ประกอบด้วยธุรกิจการเงินและตลาดทุน จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งที่ 2 ของไทย โดยการเทรดในหน่วยเงินตราต่างประเทศ สนับสนุนการลงทุน Fintech และ Green Bond
2.สำนักงานภูมิภาค (RHQ) ศูนย์ราชการ และที่ตั้งธุรกิจเฉพาะด้าน ได้แก่ กลุ่ม Data Center เช่น ซอฟต์แวร์ในรูปแบบบริการ, กลุ่มศูนย์ประชุม เช่น เทคโนโลยีด้านการศึกษา เทคโนโลยีด้านทรัพยากรมนุษย์, กลุ่ม IT และ Cybernetics เช่นเทคโนโลยีซอฟต์แวร์รูปแบบบริการ ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ เทคโนโลยีดิจิทัล
3.ศูนย์การแพทย์แม่นยำ/การแพทย์เพื่อนาคต เป็นที่ตั้งของธุรกิจที่เป็นการร่วมทุนกับโรงพยาบาลชั้นนำของโลก ธุรกิจยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัย
4.ศูนย์กลางการศึกษา วิจัยและพัฒนา เป็นพื้นที่สำหรับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกที่ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทยเพื่อการสนับสนุนธุรกิจเฉพาะด้าน การวิจัยพัฒนาเพื่อธุรกิจเฉพาะด้าน
5.ศูนย์กลางที่อยู่อาศัย โดยจะกำหนดสัดส่วนโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับทุกกลุ่มรายได้ แบ่งเป็นกลุ่มรายได้เริ่มต้นถึงปานกลาง 70% และกลุ่มรายได้สูง 30%
ทั้งนี้ ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจกาโครงการเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ จะเกิดมูลค่าเงินลงทุนในพื้นที่ 1.34 ล้านล้านบาท
สามารถรองรับประชากรได้ 350,000 คนรวมทั้งสร้างงานทางตรงไม่น้อยกว่า 200,000 ตำแหน่ง ภายในปี 2575 สร้างมูลค่าการจ้างงานกว่า 1.2 ล้านล้านบาท เป็นที่ตั้งของธุรกิจสตาร์ทอัพประมาณ 150-300 กิจการและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศณาฐกิจของประเทศและผลักดันจีดีพีรวม 2 ล้านล้านบาท
“โดยภายในไตรมาสแรกปี 2566 สกพอ. จะเริ่มดำเนินการสรรหาและคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญในการสร้างเมืองอัจฉริยะระดับโลก ที่มีประสบการณ์พัฒนาสมาร์ตซิตี้ให้สำเร็จทั้งในเกาหลี ซาอุดิอาระเบีย และญี่ปุ่น เพื่อออกแบบผังและจัดโซนของโครงการศูนย์ธุรกิจ EEC และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ รวมทั้งวิเคราะห์ธุรกิจที่เหมาะสมที่จะเข้ามาลงทุนในพื้น โดยกำหนดให้ทำการศึกษาแล้วเสร็จใน 18 เดือน”