E-nose ส่งตรงจากแล็บ ตัวช่วยเอสเอ็มอีล้วงลึกข้อมูล
กระบวนการ “รับรู้ จำแนก และจดจำกลิ่น” ของมนุษย์ นำมาสู่ “ผลิตภัณฑ์จมูกอิเล็กทรอนิกส์กระเป๋าหิ้ว” โดยทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ ม.มหดิล และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบธุรกิจสตาร์ตอัปชื่อ “เอ็มยูไอ โรบอติกส์ (MUI Robotics)”
แรงบันดาลใจจากผลงานวิจัยรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ปี 2547 ที่ค้นพบกระบวนการ “รับรู้ จำแนก และจดจำกลิ่น” ของมนุษย์ นำมาสู่การค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องร่วม 20 ปีกระทั่งได้เป็น “ผลิตภัณฑ์จมูกอิเล็กทรอนิกส์กระเป๋าหิ้ว” โดยทีมนักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหดิล และต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบธุรกิจสตาร์ตอัปชื่อ “เอ็มยูไอ โรบอติกส์ (MUI Robotics)”
จมูกอิเล็กทรอนิกส์หรือเครื่องมือตรวจวิเคราะห์กลิ่นในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม โดยการเลียนแบบการรับรู้กลิ่นด้วยจมูกและสมองของมนุษย์ด้วยก๊าซเซนเซอร์ และส่งประมวลผลที่สมองกลปัญญาประดิษฐ์ (AI and Machine Learning) ที่เปลี่ยนข้อมูลกลิ่นเป็นข้อมูลดิจิทัล และสามารถแสดงผลในรูปแบบรายงานทำให้สามารถวิเคราะห์คุณสมบัติ คุณภาพของอาหารจากกลิ่นได้
เร่งสร้างการรับรู้สินค้านวัตกรรม
วันดี วัฒนกฤษฎิ์ ซีอีโอ MUI Roboticsก ล่าวว่า การดม และวิเคราะห์ จำแนก กลิ่น มีความจำเป็นในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมาก ในสมัยก่อนต้องใช้แรงงานคนไม่ต่ำกว่า 5 คน เพื่อทดสอบกลิ่นและหาค่าเฉลี่ยในการวิเคราะห์กลิ่นในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต และค่าเฉลี่ยที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่แม่นยำ
หลังจากวิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมา อาการสูญเสียการรับกลิ่นรสในผู้ป่วยโควิด เป็นอุปสรรคที่ทำให้ความแม่นยำในการวิเคราะห์โดยคนนั้นลดลง จึงเป็นโอกาสให้กับบริษัทในการเข้าตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อจำกัดเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศนั้นมีราคาสูง
เนื่องจากอุปกรณ์และโปรแกรมควบคุมส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากต่างประเทศ และมีค่าบำรุงรักษาเครื่องที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการปรับการทำงานให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทดสอบ ทำให้เอสเอ็มอีในประเทศไม่สามารถเข้าถึงได้
MUI Robotics จึงสามารถเข้ามาเป็นตัวเลือกเพื่อช่วยผลักดันเอสเอ็มอีไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่แข่งขันได้มากขึ้น โดยบริษัทได้พัฒนาระบบเช่าซื้อ ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการระดับใหญ่และเอสเอ็มอี
โดยเฉพาะเครื่องรุ่นกระเป๋าหิ้วที่สามารถตรวจวัดวัตถุได้ทั้ง ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ด้วยการเชื่อมระบบไหลเวียนกลิ่นตัวอย่างบนเครื่องตรวจวัด เพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่แม่นยำ
“เรามองเห็นโอกาสทางการตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหาร เครื่องดื่มและสินค้าทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก ซึ่งในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ล้วนต้องใช้การดมกลิ่น เพื่อตรวจสอบหรือควบคุมคุณภาพความสดใหม่ของวัตถุดิบ ตรวจแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ตลอดจนตัวสินค้าหลังการผลิต รวมทั้งใช้กลิ่นเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งในตลาด เป็นต้น”
แม้ว่าโอกาสทางการตลาดจะเข้าข่าย “มหาศาล” แต่ปัญหาที่พบคือ ความยากในการเข้าถึงลูกค้าด้วยความใหม่ของเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่รู้จัก ไม่มั่นใจและไม่กล้าใช้บริการ จึงเป็นหน้าที่ของบริษัทในการจัดกิจกรรมทั้งออฟไลน์ออนไลน์ช่วยสร้างการรับรู้ในตลาดเป้าหมาย รวมทั้งร่วมออกบูธงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างการตรวจวัดกลิ่น
เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ MUI-Nose สามารถให้บริการในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มได้อย่างครอบคลุม ได้แก่ การบริการด้านตรวจวัดกลิ่นวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพ และการวิจัยและพัฒนา ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง เนื้อสัตว์แช่แข็ง ข้าว และผลิตภัณฑ์จากพืช อาหารกระป๋อง น้ำมันพืช น้ำอัดลม เป็นต้น
ตัวอย่างการตรวจวัดกลิ่น ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การตรวจวัดกลิ่นโคลนในปลา การตรวจกลิ่นหาข้าวหอมมะลิแท้ การตรวจสอบการคั่วเมล็ดกาแฟ การตรวจสอบกลิ่นใบชาจากแหล่งผลิตแท้ การตรวจหากลิ่นปลอมปน และ ฟอร์มาลีน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังใช้สำหรับงานด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การหาแหล่งกำเนิดกลิ่นที่มีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบฟาร์มปศุสัตว์ การกำหนดตารางการทำความสะอาดที่กลิ่นเป็นที่ยอมรับได้ ตลอดจนให้คำแนะนำเรื่องระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม และให้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แก่โรงงานเพื่อแก้ไขปัญหากลิ่นรบกวน
ปัจจุบัน MUI Robotics กำลังจำหน่ายเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศในเขตอาเซียน และยุโรป รวมถึงการขอมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมขยายการจำหน่ายไปสู่ตลาดยุโรป และตลาดโลก
ทุนเร่งโตตลาดเทคโนโลยี
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “เร่งการเจริญเติบโตของตลาดเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมอาหาร”
ผศ.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ฝีมือคนไทยใช้หลักการทำงานของเซนเซอร์ตรวจวัดก๊าซหลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน
โดยทำหน้าที่ตรวจรับกลิ่นเหมือนจมูกมนุษย์ รวบรวมและแปลงสัญญาณไฟฟ้าจากเซนเซอร์ เป็นสัญญาณดิจิทัลไปประมวลผลเพื่อจำแนกรูปแบบกลิ่น โดยมีซอฟต์แวร์ทำหน้าที่แยกแยะและจำแนกกลิ่น ที่สามารถแสดงผลในรูปแบบกราฟสำหรับการวิเคราะห์ได้
เทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้น และได้รับการพัฒนามานาน โดยทั่วไปเข้าใจว่าคือเซนเซอร์ตรวจวัดสาร ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จุดเด่นของเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์นี้ มีความสามารถในการเปลี่ยนข้อมูลกลิ่นเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลที่มีมูลค่าและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล
เช่น ฐานข้อมูลดิจิทัลของกลิ่น (Digitalization of smell) ที่ออกแบบเพื่อเป็นตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์กลิ่นสำหรับวินิจฉัยโรคเบาหวาน มะเร็ง การออกแบบกลิ่น รส สำหรับการพัฒนารสชาติอาหารใหม่ หรือ กลิ่นดิจิทัลในโลกเมตาเวิร์ส ที่กำลังได้รับการพัฒนาในปัจจุบัน เป็นต้น