ชวนรู้จัก 2 นวัตกรดีกรีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ กับการต่อยอดธุรกิจ
รู้จักกับ MyCloudFulfillment บริการระบบคลังสินค้าและโลจิสติกส์ และ “นอนนอน” ธุรกิจรีไซเคิลอุตสาหกรรมเครื่องนอน สตาร์ตอัปได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 65 NIA ชี้ เวทีนี้เป็นเครื่องมือสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศนวัตกรรมไทย
MyCloudFulfillment บริการระบบคลังสินค้าและโลจิสติกส์แบบครบวงจร และ “นอนนอน” ธุรกิจรีไซเคิลอุตสาหกรรมเครื่องนอนด้วยบริการให้เช่าที่นอนรายเดือนสำหรับโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจที่พักอาศัยตลอดจนบุคคลทั่วไป
ตัวอย่างสองสตาร์ตอัปดีกรีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ปี 2565 กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าประโยชน์มีมากกว่าตัวรางวัล แต่ยังส่งผลให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น ดำเนินธุรกิจได้ง่ายและมีช่องทางของการลงทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงเกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ กำลังเปิดรับสมัครผลงานนวัตกรรมไทยจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.นี้ เข้าประกวด “รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติประจำปี 2566” ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 19 เพื่อเชิดชูเกียรติคนไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นและก่อประโยชน์ต่อประเทศในหลากหลายมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผลงานที่ได้รับรางวัลจะถูกพัฒนาต่อยอดขยายผล การอบรมพัฒนาศักยภาพในหลากหลายมิติ ตลอดจนได้รับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความสำเร็จผ่านสื่อหลากหลายช่องทาง และโอกาสเข้าร่วมจัดแสดงผลงานกับ NIA
ระบบจัดการคลังสินค้า
นิธิ สัจจทิพวรรณ ผู้ก่อตั้ง บริษัท อี-เอ็มพาวเวอร์เมนท์ จำกัด เจ้าของรางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ด้านเศรษฐกิจ ประเภทวิสาหกิจขนาดกลาง ด้วยการทำแบรนด์ “MyCloudFulfillment” ให้บริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตั้งแต่การจัดเก็บสินค้า ขนส่ง จัดวาง
ลูกค้าสามารถนำสินค้ามาเก็บไว้ที่คลังของ MyCloud เมื่อลูกค้าขายได้เพียงแค่ส่งออร์เดอร์ผ่านระบบหรือผ่าน API เข้ามาที่เหลือ ระบบจะจัดการแพ็กและส่งสินค้าให้
นิธิ อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนจะมาเป็น My Cloud อย่างในปัจจุบัน เขาทำบริษัทเครื่องประดับ แต่มีปัญหาด้านโลจิสติกส์และ โรงงานไม่รับผลิต และเนื่องจากธุรกิจของครอบครัวนั้นเปิดบริการให้เช่าคลังสินค้าอยู่แล้ว จึงนำองค์ความรู้ตรงนี้มาผนวก เกิดเป็นสตาร์ตอัปที่ต้องการช่วยเหลือสตาร์ตอัปด้วยกัน
MyCloud ได้เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัปของไทย (Spark) โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวด Startup Thailand Pitching Grand Challenge ปี 2560 จากนั้นจึงได้รับการสนับสนุนโดย NIA เสมอมา
“ปัญหาที่เราแก้คือ การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพราะเรื่องของโลจิสติกส์ ซัพพลายเชน เป็นเรื่องที่บริษัทขนาดใหญ่จะทำได้ดี แต่ธุรกิจขนาดเล็กอย่างสตาร์ตอัปหรือเอสเอมอีไม่ได้มีกำลังทั้งด้านคนและทุนที่จะเข้าถึงทรัพยากรซัพพลายเชน เช่น การทำคลังสินค้า ที่ใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล การสร้าง MyCloud ขึ้นมาก็เพื่อลดความไม่เท่าเทียมทางธุรกิจ”
เป้าหมายต่อไปของ MyCloud คือ การปรับตัวให้เข้ากับภาพธุรกิจของการซื้อขายสินค้าที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต สร้างความเข้าใจความต้องการลูกค้าที่ดีขึ้น และการขยายธุรกิจออกไปถึงประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน
ธุรกิจที่นอนรีไซเคิล
นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ก่อตั้งบริษัท เซอร์คิวลาร์ริตี จำกัด รับรางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภท องค์กรเพื่อสังคมและชุมชน
ด้วยการสร้างแบรนด์ “นอนนอน” สตาร์ตอัปให้บริการเช่าที่นอนรายเดือนสำหรับโรงแรม รีสอร์ท และธุรกิจที่พักอาศัย ตลอดจนบุคคลทั่วไป ด้วยอัตราค่าเช่าที่เข้าถึงง่าย พร้อมรับที่นอนที่พ้นอายุการใช้งานแล้วกลับมาแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล
นอนนอน เล็งเห็นปัญหาของขยะที่มาจากอุตสาหกรรมเครื่องนอนที่ใช้แล้วถือเป็นเรื่องซึ่งยากต่อการจัดการ เนื่องจากน้ำหนักที่มาก ขนาดที่ใหญ่ และปริมาณมหาศาลที่ถูกทิ้งในแต่ละปี
“ที่นอนเป็นสินค้าที่ไม่คุ้มค่าต่อการรีไซเคิล เนื่องจากผลของการรีไซเคิลนั้นมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ต่ำ และการจัดเก็บที่นอนกลับมาเพื่อรีไซเคิลนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูง
ดังนั้น ที่นอนที่ใช้แล้วส่วนใหญ่จึงถูกทิ้งในที่ฝังกลบหรือเผาทำลาย ซึ่งล้วนนำมาซึ่งปัญหาสิ่งแวดล้อม นอนนอนช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วยการรวมค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลในค่าใช้บริการที่นอนในแต่ละเดือน และช่วยรับที่นอนกลับมารีไซเคิลเมื่อสิ้นสุดสัญญาใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม”
นพพล กล่าวว่า หลังได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเด่นแห่งชาติ ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักมากขึ้น มียอดขายและผู้ใช้บริการมากขึ้น ส่งผลไปถึงของเรื่องการขยายตลาด ทำให้สินค้าสามารถส่งออกไปทั่วประเทศ
เป้าหมายของนอนนอนคือ การขับเคลื่อนโลกไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะช่วยลดการเกิดขยะในระบบอุปโภคและเอื้อให้เราสามารถใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น
รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า รางวัลนวัตกรรมแห่งชาติถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติสูงสุดของวงการนวัตกรรมไทย เวทีแห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศนวัตกรรมไทย
ด้วยการเปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรม ผ่านกิจกรรมการให้คำปรึกษา และการสนับสนุนเครือข่ายทั้งด้านนวัตกรรม ธุรกิจ และนโยบาย รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านนวัตกรรมผ่านการเผยแพร่ตัวอย่างนวัตกรรมฝีมือคนไทยออกสู่สาธารณชนในวงกว้าง
การจัดประกวดในปี 2566 จัดแบ่งเป็น 5 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการด้านสื่อและการสื่อสาร และ 5) ด้านองค์กรนวัตกรรมดีเด่น