ชะลอสุกทุเรียนได้ ขยายตลาดส่งออก | ศิริวรรณ สืบนุการณ์
การส่งออกทุเรียนทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 1,400 ล้านดอลลาร์ และไทยเป็นผู้ส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งรายใหญ่ที่สุดของโลก การส่งออกทุเรียนผลสดไปจีนยังคงเป็นตลาดหลักของทุเรียนไทยโดยเฉพาะทุเรียนพันธุ์หมอนทอง
ปัจจุบันไทยยังคงมีส่วนแบ่งการตลาดของการส่งออกไปยังจีนเป็นอันดับหนึ่ง แต่มีแนวโน้มลดลงเนื่องจากจีนเริ่มศึกษาและปลูกทุเรียนเองได้แล้ว
ขณะที่เวียดนามเริ่มได้รับอนุญาตให้สามารถส่งออกทุเรียนในรูปแบบผลสดไปยังจีนได้แล้ว เวียดนามได้เปรียบไทยในด้านต้นทุนการผลิตและส่งออกรวมไปถึงการขนส่งไปยังจีน
ส่วนผลผลิตจากมาเลเซียซึ่งส่วนใหญ่เป็นทุเรียนที่รอให้หล่นจากต้น ดังนั้นตลาดทุเรียนของมาเลเซียไปจีนยังคงเป็นทุเรียนประเภททุเรียนแช่แข็งทั้งลูก เนื่องจากทุเรียนแบบหล่นจากต้นจะมีอายุเก็บรักษาสั้น
ทุเรียนหมอนทองแบบผลสด เป็นผลิตผลส่งออกหลักและมีปริมาณสูงสุดของทุเรียนไทย ความอร่อยของทุเรียนขึ้นกับการผลิตและคุณภาพก่อนการเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ
ปัญหาของทุเรียนหมอนทองผลสดในการส่งออกคือ ทุเรียนอ่อน เนื้อเต่าเผา เนื้อไส้ซึม ซึ่งทุเรียนอ่อนเมื่อสุกจะมีความหวานน้อยและไม่อร่อย
ประเทศไทยมีมาตรฐานที่นำมาควบคุมการผลิตและส่งออก โดยใช้เกณฑ์ร้อยละของน้ำหนักเนื้อแห้งขั้นต่ำที่ 32 โดยทั่วไปจะใช้เวลาตั้งแต่ดอกบานจนถึงเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน
เนื่องจากทุเรียนไทยเริ่มมีคู่แข่งที่มากขึ้น ทั้งตลาดเวียดนาม จีน และมาเลเซีย หลายภาคส่วนเริ่มรณรงค์และสร้างความร่วมมือในการผลิตทุเรียนให้มีร้อยละของน้ำหนักเนื้อแห้งที่สูงขึ้นไปที่ 35 ซึ่งจะทำให้ทุเรียนมีคุณภาพที่ดีและอร่อยขึ้น
เนื่องจากมีปริมาณแป้งสูงขึ้นและเมื่อทุเรียนสุก จะทำให้มีรสชาติที่หวานขึ้น แต่การทำให้ทุเรียนมีน้ำหนักเนื้อแห้งที่สูงขึ้นจะต้องแลกกับการที่จะต้องขยายเวลาเก็บเกี่ยวมากกว่า 120 วันขึ้นไป
และที่สำคัญทุเรียนจะสามารถขนส่งได้ในระยะเวลาสั้นลง เนื่องจากทุเรียนจะสุกและผลแตกเร็วขึ้น ขณะที่คุณภาพของเนื้อทุเรียนไส้ซึม ซึ่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ทุเรียนด้อยคุณภาพ เนื้อทุเรียนจะไม่แห้ง มีน้ำเยอะ (ฉ่ำน้ำ) และเนื้อทุเรียนมีรสขม ไม่อร่อย
สาเหตุเกิดจากช่วงของการเก็บเกี่ยวทุเรียน มีฝนตก ประกอบกับรากตะขาบของทุเรียนซึ่งเป็นรากสำคัญที่จะดูดซึมน้ำและอาหารเข้าสู่ต้นทุเรียน เกิดการจมน้ำ ทำให้เนื้อทุเรียนมีปริมาณน้ำสะสมสูงและเมื่อทุเรียนสุกจะเกิดอาการไส้ซึม ไม่อร่อย และเนื้อทุเรียนขม
ผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การสร้างระบบนิเวศชักนำรากลอย (Reborn Root Ecosystem: RRE) เพื่อแก้ไขปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนแบบถาวร”
โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ หัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านนวัตกรรมการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานและคุณค่าแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะ ซึ่งได้รับรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2566
งานวิจัยดังกล่าวเป็นระบบชักนำรากลอย ด้วยการผสมผสานการใช้อินทรียวัตถุ เชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ และการเติมอากาศเข้าสู่ระบบรากทุเรียน สามารถแก้ปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าที่เป็นปัญหากับทุเรียนมากว่า 30 ปีได้อย่างถาวร
นวัตกรรมการชักนำรากลอยจากในดินมาอยู่ในชั้นกองอินทรีย์วัตถุ ทำให้รากตะขาบ หรือรากขนอ่อนของทุเรียน มีจุลินทรีย์ในระบบรากเพื่อเพิ่มการดูดซับธาตุอาหารของทุเรียนเพิ่มขึ้น
เมื่อมีฝนตกในช่วงของการเก็บเกี่ยว ผลทุเรียนที่ไม่เกิดอาการไส้ซึมในเนื้อ นอกจากนวัตกรรมดังกล่าวข้างต้นแล้ว นวัตกรรมการให้น้ำทุเรียนแบบ Basin Fertigation ตามรอบการปิดเปิดปากใบในรอบวัน
ส่งผลต่อการสะสมธาตุอาหารเข้าสู่ใบและส่งไปยังลูกทุเรียนได้ดีกว่าระบบเดิม ทำให้ทุเรียนหมอนทองที่อายุ 90 วันมีร้อยละของน้ำหนักแห้งประมาณ 35
เมื่อเก็บที่ 115 วันมีร้อยละน้ำหนักแห้งของเนื้อประมาณ 39 เนื้อเหนียวเนียนละเอียด มีกลิ่นหอมดอกไม้ เส้นใยอ่อนนุ่ม
ด้วยนวัตกรรมทั้งสองระบบนี้ทำให้ทุเรียนมีคุณภาพการบริโภคในแง่ของรสชาติและกลิ่นหอมกว่าทุเรียนที่ผลิตได้ในระบบปกติ สามารถแข่งขันเรื่องคุณภาพในตลาดภายในประเทศและระดับสากลได้
แนวทางการแก้ไขปัญหาทุเรียนแก่จัดส่งออกต่างประเทศและไม่ให้เกิดอาการผลแตก จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในโครงการ “การวิจัยการพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์ของทุเรียนผลสดสำหรับตลาดในและต่างประเทศ”
โดยนายปิยะพงษ์ สอนแก้ว นางสาวธนัชชา ชัยดา และรองศาสตราจารย์ ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นเทคโนโลยีการเคลือบผิวทุเรียนผลสดด้วยสารเคลือบผิวจากเส้นใยธรรมชาติ
โดยเส้นใยจากธรรมชาติที่มีความเหนียวพิเศษเพิ่มเติมลงไปในเนื้อสารเคลือบในลักษณะของการเสริมแรงให้กับสารเคลือบ (reinforcement) ประกอบกับการเพิ่มสารเติมแต่งในการดูดซับเอทิลีน เพื่อชะลอการสุกของผลทุเรียน
รวมทั้งการเติมแต่งสารดูดซับกลิ่นเหม็นสารประกอบกลิ่นที่มีซัลเฟอร์เป็นองค์ประกอบ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเหม็น
เทคโนโลยีนี้ช่วยให้สามารถส่งออกทุเรียนที่แก่จัด มีร้อยละของน้ำหนักเนื้อแห้งสูงเกิน 35 ไม่ให้เกิดอาการผลแตกที่ตลาดปลายทาง
จากผลการทดสอบเทคโนโลยีนี้ เมื่อปี 2564-2565 ในการส่งทุเรียนแก่จัด น้ำหนักเนื้อแห้งร้อยละ 36 เก็บรักษาที่อุณหภูมิ (±2) 15 องศาเซลเซียส ตามอุณหภูมิของการส่งออกไปประเทศจีน ใช้เวลาเดินทางและการวางจำหน่าย มากกว่า 20 วัน
พบอาการผลแตกน้อยมากเมื่อเทียบกับผลที่ไม่เคลือบสาร เกษตรกรชาวสวนทุเรียน
หากสนใจเทคนิคการยืดอายุการสุกของทุเรียนเพื่อคงความเป็นเอกลักษณ์ของทุเรียนแท้ สอบถามได้ที่ ศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านนวัตกรรมการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทานและคุณค่าแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (โทร. 08-6365-6451)