ดีเบต ‘นโยบายนวัตกรรม’ จาก 6 พรรคการเมือง วาระสำคัญของผู้นำคนใหม่
เอ็นไอเอ – สถาบันเอเชียศึกษา – คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ดึง 6 พรรคการเมือง ร่วมเวทีดีเบต 5 โจทย์นวัตกรรมครั้งแรกของเมืองไทย พร้อมจุดยืนสร้างไทยสู่ชาตินวัตกรรม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดพื้นที่ชวนตัวแทนจาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ร่วมดีเบต “นโยบายนวัตกรรมสู่การขับเคลื่อนประเทศด้วยมิติการเมืองใหม่”
พร้อมโชว์วิสัยทัศน์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ – สังคมของประเทศไทยด้วยนวัตกรรมเพื่อเรียกความเชื่อมั่นกับประชาชน นอกจากนี้ ยังเผยถึงนโยบายด้านนวัตกรรมกับการแก้ไขปัญหาของไทยตามแนวคิด 3C “Competitiveness – Corruption - Climate Change” ที่ผู้นำจำเป็นต้องนำนวัตกรรมมาเร่งสร้างการเปลี่ยนแปลง
โดยช่วงหนึ่งของการดีเบต มีคำถามเกี่ยวกับ “นโยบายการส่งเสริมและพัฒนา 3S (SMEs - Startup -SE) อย่างเป็นรูปธรรม” ทางกรุงเทพธุรกิจ จึงได้หยิบยกข้อถกเถียงและเปิดตัวอย่างนโยบายของพรรคการเมืองแต่ละพรรค ดังต่อไปนี้
- พรรคไทยสร้างไทย
เทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า สถาบันการศึกษามีความสำคัญที่จะเชื่อมโยงให้เกิด 3S (SMEs - Startup -SE) เนื่องจากนักศึกษามีต้นทุนเกี่ยวกับความรู้ เครื่องมือ ดังนั้น จึงต้องนำองค์ความรู้ของสถาบันการศึกษามาจับคู่กับกลุ่มสตาร์ตอัปอย่างภาคเอกชน
“เราอย่ามองแค่ไทยสตาร์ตอัป แต่เราต้องมองสตาร์ตอัปเป็นระดับโลก เราต้องมีพื้นที่ให้ทั้งสตาร์ตอัปไทยและสตาร์ตอัปต่างชาติ สร้างให้เกิดการเชื่อมโยง เข้าถึงแหล่งทุน เพื่อที่จะทำให้คนไทยที่อยู่ในแวดวงสตาร์ตอัปสามารถไปจะเติบโตทั้งในไทยและต่างประเทศได้”
ตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้อง: นโยบายยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล SMEs ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 เป็นเวลา 3 ปี, นโยบายสร้างรายได้จากโลกใหม่ โดยทำให้ศูนย์กลาง Digital Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative and Green Economy และศูนย์กลางจุดเชื่อมต่อการคมนาคมและการขนส่งของภูมิภาค และของโลกแห่งใหม่
- พรรคก้าวไกล
ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ตัวแทนพรรคก้าวไกล กล่าวว่า บางคนเชื่อในระบบทุนนิยม บางคนเชื่อในระบบมูลนิธิ ซึ่ง SE จะอยู่ในส่วนตรงกลาง เป็นระบบที่มีความสำคัญ ปัจจุบันยังมีกองทุนต่างๆ ของภาครัฐที่ยังไม่ได้ถูกหยิบออกมาใช้ตามวัตถุประสงค์
เช่น กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ซึ่งมีข้อกำกับไว้ว่ากองทุนดีอีจะสามารถให้ทุนได้เฉพาะโครงการที่ไม่แสวงหาผลกำไร
ถ้าเราสามารถทำให้ SE เติบโต สร้างนวัตกรรมเพื่อมาแก้ไขปัญหาต่างๆ ในสังคม โดยอาจจะไม่จำเป็นต้องให้ทุนทั้งหมดแต่เป็นการให้ทุนหล่อเลี้ยงบางส่วน และสามารถตอบแทนสังคมได้ด้วย ก็จะปลดล็อคเงื่อนไขต่างๆ ของกองทุนดีอี ตลอดจนกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ ทำให้ทุนกระจายไปถึง SE ได้
ตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้อง: นโยบายปรับปรุงกฎหมายแข่งขันทางการค้า ทลายทุนผูกขาด, นโยบายเติมตลาดให้ SME: คูปองแลกซื้อสินค้าท้องถิ่น, นโยบายเพิ่มแต้มต่อให้ SME: หวยใบเสร็จ ซื้อของร้านค้ารายย่อย ทั้งคนซื้อคนขายได้หวย ลุ้นรวยเงินล้าน, นโยบายเติมตลาดให้ SME: โควตาชั้นวางสำหรับสินค้า SME ในห้างใหญ่
- พรรคเพื่อไทย
ศึกษิษฏ์ ศรีจอมขวัญ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลที่เราสร้างขึ้นมาเองเป็นอุปสรรคที่มาขัดขวาง SMEs หรือการเจริญเติบโตของผู้ประกอบการไทย เนื่องจากต้องเจอระบบราชการที่ยุ่งยากและล่าช้า เช่น การขอทุน Board of Investment (BOI) จึงทำให้ผู้ประกอบการตัวเล็กๆ หลายรายต้องหลุดจากระบบแรงงาน
นอกจากนี้ สิ่งที่ยังไม่ตอบโจทย์กับผู้ประกอบการรายเล็กคือ การเข้าถึงฐานข้อมูล ผู้ประกอบการรายใหญ่ ธนาคาร หรือองค์กรใหญ่ๆ จะได้เปรียบเพราะมีกำลังคนที่เยอะกว่า ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากต่างๆ ได้ง่ายกว่า ซึ่งมันจะสะดวกกับการทำเรื่องการตลาด
สิ่งที่ต้องทำคือ การที่ภาครัฐต้องมีบริการฐานข้อมูลกลางเพื่อทำให้สตาร์ตอัปสามารถนำข้อมูลตรงนี้ไปประกอบอาชีพได้
ตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้อง: นโยบายพักหนี้ SME ประสบภัยโควิด 1 ปี คู่ขนานไปกับการปรับโครงสร้างหนี้แบบเฉพาะเจาะจง, นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟท์พาวเวอร์ ยกระดับทักษะคนไทยให้เป็นแรงงานทักษะสูง, นโยบายสร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลผ่านเขตธุรกิจใหม่, นโยบาย Blockchain Hub ระดมทุนให้กับเกษตรกร เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความสามารถทางศิลปะและการออกแบบได้ขายผลงานในตลาดโลกได้ง่ายขึ้น
- พรรคประชาธิปัตย์
แทนคุณ จิตต์อิสระ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคมีกลไกปลดซูเปอร์บล็อคด้านเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย ด้านความคิด ด้านเครื่องมือ และด้านความสามารถ ดังนั้น การปลดล็อคในลักษณะนี้จึงต้องพยายามส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสทางการศึกษา เข้าถึงการเรียนฟรีสำหรับสาขาที่ตลาดต้องการ เช่น วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม หรือสถาปัตยกรรมและสังคม
อีกสิ่งหนึ่งคือ ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative economy) เช่น Crafted Living ถือว่าเป็นจุดแข็งของสังคมไทยในการส่งเสริมสตาร์ตอัปและ SMEs ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยออกแบบ ตลอดจนการทำการตลาด และในส่วนของ SE จะเกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืน
ใน 3 ส่วนนี้มีจุดเชื่อมโยงกันคือ ทางพรรคมีกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยแต้มต่อ 3 แสนล้านบาท ส่งเสริมให้กลไกของ SE มีความเกี่ยวเนื่องกับอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเพื่อสร้างคุณค่าทางนวัตกรรมมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นความต้องการของตลาดสากล
ตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้อง: นโยบายเรียนฟรีถึงปริญญาตรี สาขาที่ตลาดต้องการ, นโยบาย ชู 3 แต้มต่อช่วย SME ตั้งกองทุน 300,000 ล้านบาท ให้เข้าถึงแหล่งทุน
- พรรครวมไทยสร้างชาติ
ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตนเองนั้นได้มีโอกาสทำงานในกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งทางกระทรวงอว. มีทั้งมหาวิทยาลัย และ NIA ฯลฯ ทำงานเป็นเครือข่าย รวมกันอยู่
“จากการได้ทำงานกับสตาร์ตอัปจึงรู้ว่า สิ่งที่พวกเขาต้องการมากๆ ไม่ใช่แหล่งทุนหรือแหล่งเงินกู้ แต่เป็นแต้มต่อ การจัดซื้อจัดจ้างจากภาครัฐ เพราะเขาเพิ่งเริ่ม ลำดับที่สองคือ เขาต้องการองค์ความรู้ เพราะสินค้าของเขาในปัจจุบันนั้นทำมากได้น้อย และไม่สามารถส่งออกตลาดในห้าง หรือไปต่างประเทศได้ ดังนั้น องค์ความรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญ บางครั้งเราไม่ต้องไปคิดอะไรให้ซับซ้อน แต่อาศัยการทำแบบนี้ รัฐต้องสนับสนุนให้ถึงผู้ประกอบการจริงๆ จึงจะทำให้สตาร์ตอัปไปต่อได้”
ตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้อง: นโยบายส่งเสริม SME ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างโดยมีสัดส่วนของ SME ถึงร้อยละ 50 และยังมีกองทุน e-factoring และกองทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องด้านแหล่งเงินทุนให้กับ SME โดยนำเอา LTF หักภาษีเข้ามาร่วมสนับสนุน
- พรรคชาติพัฒนากล้า
วรนัยน์ วาณิชกะ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศเกาหลีใต้สัดส่วนเศรษฐกิจแบ่งกันระหว่างทุนใหญ่และ SMEs แบบเท่ากัน (50-50) นี่คือโครงสร้างที่ขับเคลื่อนไปด้วยกันโดยมีความเหลื่อมล้ำน้อยมาก
แต่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ 70% เป็นของทุนใหญ่ และอีก 30% เป็นของ SMEs จึงเป็นโครงสร้างที่มีความเหลื่อมล้ำและเอื้อกับระบบเจ้าสัว ซึ่งอัตราการล้มเหลวของ SMEs ไทยมีถึง 80% ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ การเข้าไม่ถึงแหล่งทุน
“พรรคชาติพัฒนากล้าเราไม่เชื่อเรื่องการแจกเงิน เรารวยทั้งประเทศ นอนฝันหวาน สรุปตื่นขึ้นมาเราล่มสลายทั้งประเทศ ดังนั้น เราจึงไม่แจกเงิน สิ่งที่เราทำคือ รื้อระบบสินเชื่อ รื้อโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อที่จะให้ธนาคารต้องให้เงินคุณยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะทุกวันนี้โครงสร้างระบบสินเชื่อคือ คุณจะไม่ปล่อยเงินกู้ให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย เพราะฉะนั้นเราจึงมีประชาชน SMEs ติดแบล็กลิสต์อยู่ 5 ล้านคน”
ตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้อง: นโยบายสินเชื่อ จากปัญหาเรื่องเครดิต จะผ่อนคลายให้ทุกคนกลับมาใช้สินเชื่อกันได้ใหม่, นโยบายทุนธุรกิจสร้างสรรค์ สูงสุดรายละ 1 ล้านบาท ไม่จำกัดวุฒิและวัย, นโยบายยกเลิกแบล็กลิสต์บูโร และมาใช้ระบบเครดิตสกอร์
3 มิติเร่งด่วนของนโยบายนวัตกรรม
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า การเลือกตั้งที่ใกล้ถึงนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายพรรคการเมืองได้ออกนโยบายเพื่อสร้างและพัฒนาประเทศให้มีพัฒนาการในด้านเศรษฐกิจ สังคม สวัสดิการ สาธารณสุข การศึกษา และอีกหลากหลายด้านตามบริบทวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมโลกที่เปลี่ยนไป
โดยการจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้นั้น NIA เชื่อมั่นว่าควรนำ “นวัตกรรม” มาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อน และต้องทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่านวัตกรรมไม่ใช่แค่เรื่องของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) เพียงอย่างเดียว แต่ปัจจัยทางนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ไขปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน ความมั่นคงในชีวิตได้อย่างแท้จริง
นอกจากการเพิ่มและการสร้างบริษัทด้านนวัตกรรมให้เพิ่มขึ้นในประเทศไทยแล้ว ในเร็ว ๆ นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้วาระของผู้นำคนใหม่ ซึ่งควรมี “การวางนโยบายด้านนวัตกรรมของประเทศ” ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น