ซินโครตรอนไทยไขปริศนากระเทียมจากออสเตรเลีย
นักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ นำกระเทียมจากออสเตรเลีย มาวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนที่ประเทศไทย เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีบทบาทต่อความเข้มข้นของ “อัลลิซิน” ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ทางยาในกระเทียม
เป้าหมายการวิจัยจะนำไปสู่การผลิตกระเทียมที่ให้สารออกฤทธิ์ทางยาดังกล่าวในปริมาณสูง เพื่อประโยชน์ต่อการแปรรูปเป็นกระเทียมอัดเม็ดหรือแคปซูลในอุตสาหกรรมเภสัชโภชนศาสตร์
งานวิจัยนี้ดำเนินการโดย รศ.สตีเฟน ฮาร์เปอร์ (Stephen Harper) นักวิจัยจากวิทยาลัยการเกษตรและอาหาร (School of Agriculture and Food Sciences) มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย และ บินห์ เหงียน (Binh Nguyen) นักวิจัยชาวเวียดนาม ซึ่งจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย
ทั้งสองได้เดินทางมาใช้บริการแสงซินโครตรอน ณ ระบบลำเลียงแสงที่ 8 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จ.นครราชสีมา
รศ.สตีเฟน ฮาร์เปอร์ กล่าวว่า เราใช้แสงซินโครตรอนด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (XAS) เก็บข้อมูลรูปแบบของธาตุซัลเฟอร์ ในกระเทียมหลากหลายสายพันธุ์และกระเทียมที่ปลูกด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างกัน
เพื่อวิเคราะห์ว่ารูปแบบของธาตุซัลเฟอร์ตั้งต้น มีผลต่อปริมาณสาร “อัลลิซิน” (Allicin) ในกระเทียมหรือไม่
อัลลิซินเป็นสารที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมเภสัชโภชนศาสตร์ มีการแปรรูปกระเทียมเป็นอัลลิซินอัดเม็ดหรือบรรจุแคปซูล อุตสาหกรรมจึงต้องการกระเทียมที่ให้ปริมาณอัลลิซินสูง
งานวิจัยนี้ต้องการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีบทบาทต่อความเข้มข้นของอัลลิซินในกระเทียม”
“งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการวิจัยของศูนย์วิจัยการเกษตรนานาชาติแห่งออสเตรเลีย (ACIAR) ซึ่งเรื่องกระเทียมและพืชวงศ์มะเขือในออสเตรเลีย
ออสเตรเลียปลูกกระเทียมเยอะมาก และกระเทียมของออสเตรเลียขึ้นชื่อเรื่องมีปริมาณอัลลิซินสูง โดยอัลลิซินเป็นสารออกฤทธิ์ทางยาในกระเทียม และรู้จักกันว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพมนุษย์ ดีต่อหลอดเลือดหัวใจ และมีฤทธิ์ต้านการติดเชื้อต่างๆ”
ซินโครตรอนประเทศไทยสามารถศึกษาธาตุเบาอย่างซัลเฟอร์ได้ และเพื่อนร่วมงานของเราที่มาวิจัยพร้อมกันก็ศึกษาเรื่องฟอสฟอรัส ซึ่งการทำการวิจัยธาตุทั้งสองนี้โดยใช้แสงซินโครตรอนนั้นไม่สามารถทำได้ที่ออสเตรเลีย”
รศ.สตีเฟน ฮาร์เปอร์ กล่าว โดยการเดินทางมาวิจัยที่ประเทศไทยยังสะดวกต่อการเดินทางสำหรับเขา และ ดร.บินห์ เหงียน ด้วย
“สารประกอบอัลลิซินมีความสำคัญต่อกลิ่นของกระเทียม หากใครชอบกระเทียมก็จะอยากได้กระเทียมที่มีกลิ่นฉุน” ดร.บินห์ เหงียน กล่าวและบอกด้วยว่า
ประทับใจต่อเจ้าหน้าที่ของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนที่มิตร คอยช่วยเหลือ และมีความเชี่ยวชาญ จึงคิดว่าจะกลับมาทำวิจัยที่เมืองไทยอีกและแนะนำเพื่อนๆ ที่เวียดนามให้มาทำวิจัยที่นี่ด้วย.