ถ้าองค์กรตัดสินใจจะใช้ AI | พสุ เดชะรินทร์
ความตื่นตัวในเรื่อง AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ได้เพิ่มมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ Generative AI ที่เริ่มจาก ChatGPT จนมาถึง Bard ที่ Google เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากความตื่นตัวที่แต่ละบุคคลสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จาก AI อย่างจับต้องได้แล้ว ยังเริ่มเห็นความตื่นตัวในการนำ AI มาใช้ในองค์กรธุรกิจกันมากขึ้น
ที่ผ่านมา หลายองค์กรก็ได้นำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงานกันในรูปแบบต่างๆ อยู่แล้ว แต่จากกระแสการบูมของ Generative AI (GenAI) ที่เกิดขึ้นในช่วงหลายๆ เดือนที่ผ่านมา ก็ทำให้ธุรกิจหันมาให้ความสนใจกับ GenAI กันมากยิ่งขึ้น
รายงานของบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง Accenture ระบุว่า GenAI (เช่น ChatGPT, Bard, Dall-E) สามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่องค์กรใน 5 ด้านหลัก ได้แก่
- การให้คำแนะนำ (Advise) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานและการตัดสินใจ
- การสร้างสรรค์ (Create) ทั้งการสร้างเนื้อหา การออกแบบ รูปภาพ
- การช่วยเหลือ (Assist) ทั้งในการพัฒนาโปรแกรม การเขียนโค้ด การทดสอบระบบ การให้บริการลูกค้า
- การทำระบบอัตโนมัติ (Automate) ในด้านกระบวนการทำงาน การให้บริการ ระบบบัญชี การเงิน
- การป้องกัน (Protect) ทั้งการป้องกันการโกง การระบุถึงความเสี่ยงหรือปัญหาที่จะเกิด
ความน่าสนใจของ GenAI คือ จากผลลัพธ์ทั้งห้าประการข้างต้น GenAI จะทำให้เกิดผลลัพธ์ด้วยความเร็วที่เร็วกว่าปกติอย่างมาก และความเร็วก็จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรแต่ละแห่งแตกต่างกัน และยิ่งถ้าองค์กรมีข้อมูลจากที่เก็บมาอย่างมากมาย การนำ GenAI มาใช้จะยิ่งทำให้ได้รับประโยชน์จากข้อมูลได้อย่างรวดเร็วเต็มที่มากขึ้น
อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเมื่อองค์กรธุรกิจเห็นประโยชน์จาก GenAI และเห็นองค์กรอื่นนำมาใช้ ก็อยากจะใช้บ้าง ก่อนจะตัดสินใจนำ GenAI มาใช้ ผู้บริหารองค์กรควรจะต้องตอบคำถามที่สำคัญเหล่านี้ให้ได้ก่อน
1. จะนำ GenAI มาใช้เพื่ออะไร? การที่องค์กรจะนำ GenAI มาใช้นั้นเพื่ออะไร และคิดว่าตัวคุณค่าที่ GenAI จะนำมาสู่องค์กรคือสิ่งใด? การจะนำ GenAI มาใช้ ควรจะต้องเริ่มจากวัตถุประสงค์ทางธุรกิจก่อน
2. ความพร้อมขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของทักษะบุคลากรและทรัพยากรที่จะสนับสนุนมีพร้อมเพียงพอหรือไม่? อาจกล่าวได้ว่าความท้าทายสำคัญสุดของการนำ GenAI มาใช้ในองค์กร คือ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะทางด้าน Data และ AI
3. ข้อมูล (Data) มีเพียงพอและพร้อมหรือไม่? เนื่องจาก GenAI จะเกิดประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อได้เรียนรู้จากข้อมูลที่มีจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่ใช้สำหรับ GenAI นั้นควรจะเป็นข้อมูลเฉพาะสำหรับองค์กร (Private & Propietary Data) ที่ไม่ใช่ข้อมูลสาธารณะที่หาได้ทั่วไป และตัวข้อมูลที่จำเพาะองค์กรนี้จะกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สร้างความแตกต่างให้กับ GenAI ของแต่ละองค์กร
4. จะใช้ตัวแบบพื้นฐาน (Foundation model) ในรูปแบบใด? เนื่องจาก GenAI นั้นไม่ได้มีระบบหรือรูปแบบเดียวในโลก ซึ่งก็เหมือนกับซอฟต์แวร์บริหารองค์กรอื่นที่มีผู้ให้บริการอยู่หลายเจ้า องค์กรจะต้องพิจารณาว่าจะนำระบบที่มีอยู่แล้ว
อย่างเช่น ChatGPT หรือ Bard มาปรับใช้กับข้อมูลของตนเอง หรือจะนำระบบที่เป็น Open-Source มาใช้แล้วปรับให้เป็น GenAI ของตนเอง ซึ่งจะต้องเข้าใจและถามตนเองว่าต้องการจะเป็นเจ้าของ GenAI ที่ใช้อยู่หรือไม่?
5.จะมีระบบในการกำกับดูแล GenAI ของตนเองให้เป็น Responsible AI อย่างไร? เนื่องจากข้อเสียที่กังวลกันอยู่ของการนำ GenAI มาใช้นั้นมีอยู่ เช่น ตัวข้อมูลที่ใช้นั้นองค์กรอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของ หรือมีสิทธิในการใช้ หรือเป็นข้อมูลที่มีความลำเอียง ไม่มีความน่าเชื่อถือ หรือเป็นข้อมูลที่มีความอ่อนไหว
ดังนั้น คำถามสำคัญคือเมื่อนำ GenAI มาใช้แล้ว องค์กรจะมีระบบในการกำกับดูแล GenAI ของตนเองอย่างไร? การที่องค์กรธุรกิจคิดจะนำ GenAI มาใช้นั้น จะต้องผ่านการศึกษาและทำความเข้าใจให้ชัดเจนก่อน
โจทย์สำคัญคือ จะนำมาใช้เพื่ออะไรหรือคาดหวังสิ่งใดจากการนำมาใช้