‘อุทยานวิทย์ภาคเหนือ’พร้อมลุยโจทย์ท้าทาย
“อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ” หรืออุทยานวิทย์ภาคเหนือ รับโจทย์ท้าทายที่จะผลักดัน ประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2580 ตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)
กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ไว้มาก
หนึ่งในนั้นคืออุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 5 แห่ง โดย CMU STeP เกิดขึ้นเป็นแห่งแรก ปัจจุบันพัฒนาได้ก้าวหน้ามาก สามารถยกระดับธุรกิจขนาดเล็กจากรายได้ 1-2 ล้านเพิ่มเป็น 10 ล้าน และเป็นหลายร้อยล้านบาท
การตั้งเป้าหมายเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation-Driven Enterprise) โดยพัฒนาผู้ประกอบการ 1,000 ราย 1,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีนั้น มีความเป็นไปได้สูง
โดยเฉพาะเมื่อเห็นในการดำเนินงานของ CMU STeP ที่มีผู้ประกอบการที่ทำรายได้อยู่ในระดับ 200-300 ล้านบาท ซึ่งผู้บริหาร CMU STeP ใช้คำว่า ระดับโพนี่ เป็นความสำเร็จก่อนที่จะเข้าสู่ระดับยูนิคอร์นนั้นมีอยู่เป็นสิบราย
หากผนวกกับผู้ประกอบการที่บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ อีก 4 แห่ง ตลอดจนผู้ประกอบการที่อยู่ภายนอกด้วยโอกาสที่จะไปสู่ 1,000x1,000 (IDE 1,000 ราย มีค่าเฉลี่ยยอดขาย 1,000 ล้านบาทต่อราย) เชื่อว่าเป็นไปได้สูงมาก
หนึ่งในผลงานการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมคือ แบรนด์ UTD RF ที่อยู่บนกล่องผลิตภัณฑ์ข้าว แม้อาจดูไม่คุ้นตา และหลายคนอาจไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร
คำนี้เป็นเสมือนตราประทับรับรองว่าข้าวในกล่องนี้ไม่มีแมลงและไข่แมลงใด ๆ มาเจือปน
เพราะข้าวนี้ผ่านการกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (Uniform Thermal Distribution of Radio Frequency Technology : UTD RF) แทนสารเคมีกำจัดมอดในโรงสีข้าว ลดอันตรายต่อผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าข้าวสาร เพิ่มรายได้แก่ชาวนา
ผลงานวิจัยของ รศ.สุชาดา เวียรศิลป์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ที่ริเริ่มเมื่อปี 2543 จากนั้นใช้เวลาอีก 15 ปีจึงออกสู่เชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ผู้ผลิตเครื่องจักรการเกษตรซึ่งเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมสีข้าว สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน
สะพานเชื่อมงานวิจัย-เอกชน
“อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ” หนึ่งในกลไกหลักที่ขับเคลื่อนผลงานวิจัยนี้ให้ก้าวข้ามหุบเหวแห่งความท้าทายนี้ โดยจัดสรรงบประมาณเบ็ดเสร็จ 36 ล้านบาทสเกลอัพจากเล็บสู่โรงงานต้นแบบ ให้เห็นศักยภาพสำหรับการใช้งานจริงในเชิงอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ โรงงานต้นแบบกำจัดแมลงและไข่แมลงด้วยเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุ ตั้งอยู่ภายในพื้นที่อุทยานฯ ต.แม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ผศ.ธัญญานุภาพ อานันทนะ
คอร์ของเทคโนโลยีคือ คลื่นวิทยุเป็นตัวทำความร้อนที่ทำให้เกิดความร้อน “สม่ำเสมอ” ภายในตัววัตถุดิบได้ลึกในเวลาอันสั้นมาก 2 นาที แล้วควบคุมได้ว่าอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส สามารถกำจัด แมลงมอดและทำให้ไข่มอดในเมล็ดข้าวโดยแปลงสภาพเป็นโปรตีน
และที่สำคัญคือข้าวไม่เปลี่ยนสี ไม่เปลี่ยนรสชาติ อีกทั้งยังช่วยให้กลิ่นหอมของข้าวหอมมะลิโดดเด่นขึ้นอีกด้วย
อุทยานฯ ยังสนับสนุนให้บริษัทนำเทคโนโลยีนี้ขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทยกับกรมบัญชีกลาง เราจึงต้องการให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพสูง ปลอดสารเคมี
เนื่องจาก มีการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มในการซื้อข้าวที่ผ่านเทคโนโลยี UTD RF อย่างน้อย 10 บาทต่อกิโลกรัม แทนการใช้สารเคมีรมยาฆ่ามอดในข้าว ขณะที่ปัจจุบันมีโรงสีติดตั้งใช้งานเทคโนโลยี UTD RF ประมาณ 13 แห่ง
ผศ.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) กล่าวในฐานะแม่ข่ายอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ กล่าวว่า
นอกจากเทคโนโลยีข้างต้นแล้ว อุทยานวิทย์ฯ มีผลงานวิจัยอื่นๆ อีกที่ส่งเสริมและสนับสนุนการต่อยอดสู่เอกชน ด้วยพันธกิจของหน่วยงานในการเป็นสะพานเชื่อมองค์ความรู้จากภาคมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรม
ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรม และการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีเริ่มต้น (tech startups) บนพื้นฐานของการบูรณาการทรัพยากรของมหาวิทยาลัยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
โดยสนับสนุนให้เกิดการสร้างและพัฒนาธุรกิจแก่ภาคเอกชน 6 ด้าน ได้แก่
1.การให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยให้บริการห้องปฏิบัติการหลากหลายรูปแบบ ทั้งทดสอบ สอบเทียบ วิเคราะห์ และด้านอื่น ๆ ที่ภาคเอกชนต้องการ
2.การให้บริการด้วยโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี พร้อมให้คำปรึกษาตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจไปจนถึงการนำธุรกิจออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์
3.การให้บริการด้านการวิจัยและพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยได้ร่วมกันนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดการใช้งานได้จริงในภาคธุรกิจ
4.การจับคู่ทางธุรกิจและแนะนำแหล่งทุนที่เหมาะสม เพื่อช่วยลดการลงทุนของภาคเอกชน
5.การให้บริการพื้นที่สำนักงานและห้องประชุมหลากหลายขนาดที่เหมาะกับทุกธุรกิจ และ
6.การให้บริการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคอื่น ๆ ที่ช่วยเติมเต็มสภาพแวดล้อมนวัตกรรม (innovation eco-system) ตอบสนองไลฟ์สไตล์การทำงานตลอด 24 ชั่วโมง.