‘ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3’ ขับเคลื่อนสังคมสร้างสรรค์-ยั่งยืน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เปิด 100 รายชื่อของนวัตกรผู้สร้างแรงบันดาลใจ จากหนังสือ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3” ร่วมขับเคลื่อนสังคม ส่งเสริมบุคคลต้นแบบส่งต่อแรงบันดาลใจสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยั่งยืน
นวัตกรรมที่เกิดมาจาก “นวัตกร” ภายในประเทศ เป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ภายในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้เกิดการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) จึงได้เฟ้นหานวัตกรภายในประเทศไทย ที่สร้างสรรค์นวัตกรรม ภายใต้แนวคิด “Sustainable innovation” โดยได้ประกาศ 100 รายชื่อ ที่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจ พร้อมเปิดนิทรรศการออนไลน์ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ “ร้อยคนไทยหัวใจนวัตกรรม 3” หรือ “100 Faces of Thailand’s Innovation inspirers”
ปัจจุบัน หนังสือดังกล่าวมีผู้ให้ความสนใจมากมาย ไม่เฉพาะคนภายในประเทศไทย แต่ยังรวมไปถึงต่างชาติ ที่เข้ามาดาวน์โหลดไฟล์หนังสือเพื่อศึกษานวัตกรรมโดยคนไทย
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า หนังสือร้อยคนหัวใจนวัตกรรม 3 ได้ร้อยเรียงเรื่องราวของคนไทยจำนวน 100 คน ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอีกร้อยล้านคน ทั้งที่เป็นคนไทยและคนต่างชาติให้ลุกขึ้นมาร่วมกันคิดร่วมกันทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นด้วยนวัตกรรม
“สองปีที่ผ่านมา เราได้ออกหนังสือไปสองเล่ม เป็นเล่ม The Founder มีนวัตกรทั้งหมด 200 คน และรวมปีนี้ไปอีก 100 คนเท่ากับว่า ตอนนี้เรามีผู้สร้างสรรค์แรงบันดาลใจด้วยนวัตกรรมถึง 300 คน” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว
และอธิบายเพิ่มว่า “เหตุผลที่ปีนี้ใช้ชื่อหนังสือว่า 100 Faces of Thailand’s Innovation inspirers ก็เพราะต้องการให้ทั่วโลกจดจำใบหน้าของผู้สร้างนวัตกรรมได้ เพื่อที่จะทำให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์”
อย่างไรก็ตาม NIA เชื่อว่าคนไทยจะสามารถทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นชาตินวัตกรรม และอยู่ในอันดับที่ 30 ของดัชนีนวัตกรรมโลกได้ โดยนวัตกรรมเด่นของประเทศไทยที่ทำให้ต่างชาติจดจำ คือ นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่ประณีต (Innovation for Crafted Living) ซึ่งเน้นวิถีไทย อัตลักษณ์ไทย และโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมไทย
ภายในวงสนทนายังมี 3 นวัตกรตัวอย่างจาก 100 คนที่ได้เข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับนวัตกรรมของตนเอง
โดยเริ่มต้นจาก พันชนะ วัฒนเสถียร ผู้ริเริ่มโครงการข้าวเพื่อหมอ จากกลุ่ม PLANET กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงแรก ได้ระดมทุนผ่านระบบคลาวด์ (Crowdfunding) เพื่อจัดหาข้าวกล่องจากร้านอาหารต่าง ๆ ส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอย่างหนัก
ในชื่อโครงการ “ข้าวเพื่อหมอ หรือ Food for Fighters” ซึ่งได้รับการรับรองจากทาง UNDP ต่อมาโครงการเติบโตอย่างรวดเร็วจนมีร้านอาหารที่อยู่ในระบบมากกว่า 20 จังหวัด จึงเกิดการวางระบบจับคู่โรงพยาบาลกับร้านอาหารในพื้นที่ขึ้นอีกส่วนหนึ่ง นับเป็นการทำงานเครือข่ายแบบครบวงจรอย่างแท้จริง และช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อน
โดยโปรเจกต์ข้าวเพื่อหมอไม่ได้มองปัจจัยด้านการเงินเป็นหลัก แต่เป็นการประยุกต์เครือข่ายที่มีมาสร้างคุณค่าและเพิ่มศักยภาพในการขยายผลจนกลายเป็นนวัตกรรมจากการร่วมมือกันที่สร้างความยั่งยืนสู่สังคม
ด้าน ผศ. พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน จากกลุ่ม PEOPLE กล่าวว่า เทคโนโลยีทำให้คนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผู้มีความรู้ในด้านต่าง ๆ มักจะเข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ซึ่งกันและกันนับว่าเป็นการเพิ่มโอกาสทางสังคม
จึงได้ริเริ่มเปิดเพจ “เลี้ยงลูกนอกบ้าน” เพื่อถ่ายทอดความรู้จากวิชาชีพ รวมถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา เล่าเรื่องราวการเลี้ยงดูเด็กในแต่ละช่วงวัย ประเด็นปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวกับเด็ก
ให้คุณพ่อและคุณแม่เข้าใจ เปลี่ยนแปลงทัศนคติการเลี้ยงลูกแบบเดิมสู่การเลี้ยงลูกในค่านิยมที่เรียกว่า “เลี้ยงลูกเชิงบวก” เป็นการสร้างเด็กให้มีการเติบโตอย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่นำไปสู่สังคมแห่งพลังบวกได้อย่างยั่งยืน เพราะการเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง ต้องใช้คนทั้งสังคม
ในขณะที่ ณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน จากกลุ่ม PROFIT กล่าวว่า จากความคิดริเริ่มที่ต้องการให้การตลาดที่ดูเป็นเรื่องเข้าใจยากกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวและเข้าใจง่าย จึงเกิดเป็น “เพจการตลาดวันละตอน”
ที่มีคอนเซปต์เล่าเรื่องการตลาดในภาษาที่แม่ค้าในตลาดอ่านแล้วเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง ทำให้การตลาดเป็นเรื่องที่บุคคลทั่วไปรู้ได้ ไม่ใช่เรื่องเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป ด้วยการหยิบยกศัพท์เทคนิคด้านการตลาดมาย่อยให้ง่ายขึ้น จนมีผู้ติดตามเพจนับแสนคน
และเติบโตมาเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดที่ยังคงไม่หยุดพัฒนา เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ความรู้ไม่สิ้นสุด” และการตลาดวันละตอนก็ยังคงพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดเช่นกัน
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถเข้าไปร่วมค้นหาแนวความคิดของบุคคลต้นแบบ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม ผ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ และชมนิทรรศการออนไลน์เสมือนจริงได้ทาง เว็บไซต์ nia100faces.com