อนาคตองค์กร กับ Chief AI Officer | ต้องหทัย กุวานนท์
เมื่อ 7 ปีที่แล้ว Andrew Ng อดีตผู้ก่อตั้งทีม Google Brain และ VP & Chief Scientist ของ Baidu ได้รับการยอมรับว่าเป็น AI Pioneer รุ่นบุกเบิกของโลก เขียนบทความไว้ใน Harvard Business Review แนะนำให้องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่จัดทัพองค์กรด้วยการแต่งตั้ง Chief AI Officer (CAIO)
Chief AI Officer (CAIO) ทำหน้าที่ควบคุมดูแลกลยุทธ์ด้าน AI ทำให้ทุกส่วนงานภายในองค์กรมีแนวทางการใช้ AI ที่สอดคล้องกันและสามารถนำข้อมูลไปก่อให้เกิดคุณค่าทางธุรกิจได้จริง โดยไม่ก่อให้เกิดเกิดปัญหาไซโลทางด้านเทคโนโลยี หรือเกิดปัญหาการใช้เทคโนโลยีแบบไร้ทิศทาง โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ทางธุรกิจในภาพรวม
หลายคนในเวลานั้นมองว่า โครงสร้างองค์กรที่มี CAIO น่าจะ “มาก่อนกาล” และไม่น่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับองค์กรทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจเทคโนโลยี ในปัจจุบัน AI ได้เข้าไปมีบทบาทช่วยการทำงานในหลายส่วนงาน และกลายเป็นกลไกหลักในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการในหลายอุตสาหกรรม
เช่น กลุ่ม Healthcare กับการพัฒนายารักษาโรค โดย Generative AI ช่วยออกแบบและพัฒนายา ทำให้ลดระยะเวลาในกระบวนการ R&D อย่างมีนัยสำคัญ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อวกาศ การบินและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ Generative AI ช่วยพัฒนาให้เกิดวัสดุขึ้นใหม่ โดยสามารถกำหนดคุณสมบัติทางกายภาพได้อย่างเฉพาะเจาะจง
กว่าครึ่งของบริษัทชั้นนำระดับ Fortune 500 ปรับผังโครงสร้างองค์กรโดยเพิ่มตำแหน่ง CAIO เข้าไปอยู่ในกลุ่มผู้บริหารระดับ C-Level หรืออย่างน้อยที่สุดมี Vice President ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกลยุทธ์ด้าน AI ทั้งหมดโดยแยกส่วนออกมาจากผู้บริหารสูงสุดด้านไอที
ผู้นำด้าน AI ที่มีประสิทธิภาพต้องเป็นผู้ที่สามารถผลักดันให้ทั้งองค์กรเกิดความคิดริเริ่มในการสร้างนวัตกรรม โดยบทบาทหน้าที่ของ CAIO ในแต่ละองค์กรจะมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจองค์กร
ตัวอย่างเช่น ผู้นำด้าน AI ของธุรกิจค้าปลีกอาจจะต้องโฟกัสการรวมศูนย์ข้อมูล เพื่อมุ่งเป้าทางด้าน Customer Personalization
ขณะที่องค์กรที่อยู่ในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมจะต้องมีผู้นำด้าน AI ที่เชี่ยวชาญเรื่อง Business Automation และระบบการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิต ส่วนในภาคการเงินบทบาทหลักของเทคโนโลยี AI อาจจะอยู่ที่การป้องกันระบบความปลอดภัยของข้อมูลและการตรวจสอบการทุจริต
แต่ไม่ว่าจะอยู่ในธุรกิจใด CAIO จะเป็นผู้ขับเคลื่อนกลยุทธ์และนโยบาย ร่วมกับ C-Level ในหน่วยงานอื่นเพื่อทำให้เกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน
ปัญหาที่หลายองค์กรต้องเผชิญในการขับเคลื่อน AI อย่างเต็มรูปแบบก็คือ ภาวะไซโลที่แต่ละส่วนงานต่างนำเอา AI เข้ามาใช้โดยไม่ได้สนใจการแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือหาจุดร่วมที่อาจนำไปสู่คำตอบหรือผลลัพธ์ที่ใหญ่กว่าเดิม
การมี CAIO น่าจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าสู่อนาคตได้ในอย่างยั่งยืน
คุณสมบัติที่สำคัญของผู้นำด้าน AI ในองค์กรไม่ได้มีเพียงแต่ความรู้ความสามารถทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องมีความสามารถในการทำงานร่วมกับทุกหน่วยงานในองค์กร เพื่อทำความเข้าใจโจทย์ที่หลากหลายของแต่ละฝ่าย
นอกจากนั้นยังต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ พร้อมที่จะฉกฉวยโอกาสใหม่ๆ ในการนำเสนอธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์และบริการใหม่
องค์กรที่จะสามารถดึงดูดทาเลนท์ด้าน AI ได้ จำเป็นต้องมีผู้นำที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี เก่งคนและยังต้องเก่งรูปแบบการทำงานแบบข้ามสายงานหรือ Cross-functional ซึ่งน่าจะเป็นโจทย์หินที่สุดสำหรับยุคนี้
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม