เอาจริง เศรษฐกิจอวกาศ กทปส.หนุนทุนวิจัยดาวเทียม NGSO
กทปส. บูมเทรนด์เศรษฐกิจอวกาศ หนุนจิสด้าพัฒนางานวิจัยดาวเทียม NGSO
อัปเลเวลระบบการสื่อสาร - ไลฟ์สไตล์ที่แม่นยำ พร้อมปูทางไทยไปสู่ยุค 6G
กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) โดย สำนักงาน กสทช. สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA
ในการศึกษาแนวนโยบายการให้บริการและการกำกับกิจการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทย
เศรษฐกิจอวกาศมีบทบาทต่อเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันหลายประเด็น และถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มสำคัญที่สามารถสร้างเม็ดเงินให้ประเทศพร้อมขับเคลื่อนความก้าวหน้าได้หลายมิติ อาทิ การสื่อสาร พยากรณ์อากาศ และสำรวจทรัพยากร
เศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่สามารถต่อยอดไปได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีส่วนช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในประเทศไทย
เศรษฐกิจอวกาศ นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการรับส่งสัญญาณ การส่งผ่านข้อมูล การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล การให้บริการระบบสื่อสารบนเรือ ตามท้องทะเลและบนอากาศยาน
รวมทั้งการรองรับเทคโนโลยีบริการใหม่ เช่น AI และ IoT เพื่อส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในทุกด้าน
อีกทั้ง เศรษฐกิจอวกาศยังเป็นส่วนหนึ่งที่ภาครัฐไทยให้ความสำคัญ ด้วยสัมพันธ์กับการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ร่วมด้วย
ในส่วนของ กทปส. นับว่ามีบทบาทในการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมตามแผนนโยบาย รวมถึงเล็งเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจอากาศ โดยเฉพาะดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ที่ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสนใจอย่างมากในการลงทุน
จึงมีการบริหารจัดการทุนเพื่อเป็นส่วนพัฒนาโครงสร้างเทคโนโลยีสมัยใหม่ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมทั่วประเทศ
การสนับสนุนการศึกษาวิจัยของ GISTDA เพื่อเป็นอีกส่วนในการช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างเทคโนโลยีอวกาศที่อยู่เบื้องหลังพื้นฐานชีวิตของคนไทยทุกคน ให้มีกำลังในการแข่งขันกับธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทย
สามารถใช้เทคโนโลยีอวกาศขับเคลื่อนธุรกิจและส่งเสริมเศรษฐกิจอวกาศ รวมทั้งเปิดโอกาสให้คนไทย ผู้วิจัยไทย และผู้ประกอบการไทย ได้ร่วมพัฒนาเพื่อไม่ทำให้เม็ดเงินรั่วไหลออกนอกประเทศ
นายดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ GISTDA และหัวหน้าโครงการศึกษาแนวนโยบายการให้บริการและการกำกับกิจการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทย
กล่าวว่า ปัจจุบันนี้คนไทยเป็นจำนวนมากคงคุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยีในการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้สมาร์ทโฟน โดย “อวกาศ” เข้ามาอยู่ในเบื้องหลังในหลากหลายเทคโนโลยี
อาทิ การใช้แผนที่นำทางในสมาร์ทโฟน การสั่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ นอกจากนี้ “อวกาศ” ยังมีบทบาทในการขับเคลื่อนประเทศในหลายมิติ อาทิ ดาวเทียมเพื่อการสำรวจและจัดทำแผนที่
การติดตามและวิเคราะห์สภาพอากาศ การเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ การป้องกันประเทศ ดาวเทียมทางการทหาร การบริหารจัดการการจราจรในอวกาศ รวมถึงการทดลองทางอวกาศด้วย
สำหรับ ดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ Non-Geostationary Satellite Orbit (NGSO) มีประเภทการใช้งานที่หลากหลาย เช่น ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมนำร่อง ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์
ดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things-IoT) ดาวเทียมที่ให้บริการด้านการสื่อสารในรูปแบบ 5G/6G เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ในอนาคต 4 – 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากจากการศึกษาและพัฒนาดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) อาทิ การเกิดขึ้นของ 6G ที่สามารถทำให้การสื่อสารเกิดขึ้นได้ในทุกที่ทุกเวลา เป็นต้น
จะเห็นได้ว่า ดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) ล้วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนในหลากหลายด้าน แต่ทว่าไม่ได้รับการพูดถึงมากเท่าที่ควร หากได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุดก็ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศไทยแน่นอน
“นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เมื่อ กทปส. เล็งเห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจอวกาศอย่างมาก พร้อมทั้งมีการศึกษาวิจัยในด้านนโยบาย และการกำกับดูแลดาวเทียมสื่อสารเพื่อผลประโยชน์ของประเทศมากขึ้น
จึงมีการสนับสนุนทุนวิจัยให้กับโครงการศึกษาแนวนโยบายการให้บริการและการกำกับกิจการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ (NGSO) เพื่อการพัฒนาระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทย และเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศสูงสุด
ประเทศไทยมีเศรษฐกิจอวกาศที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่น แต่ไม่ได้รับการพูดถึงอย่างชัดเจน เพราะถูกควบรวมไปกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีมูลค่าค่อนข้างสูง ทำให้ความสำคัญของอวกาศถูกลดทอนไปไม่น้อย
ถึงแม้เศรษฐกิจอวกาศของไทยจะไม่ได้ด้อยไปกว่าใคร แต่เราก็ต้องเร่งเครื่องพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศให้ดีขึ้น ในด้านเทรนด์อวกาศประเทศไทยยังเท่าทันกับประเทศอื่นๆ ในเอเชีย
เพียงแต่ว่าต้องผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น รวมถึงให้ความสำคัญกับอวกาศในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งทรัพยากรสำคัญของไทย.