วิจัยชี้ ‘เอลนีโญ’ กระทบไทยปานกลาง ส่อ ‘ภัยแล้ง’ ลากยาว 3 - 5 ปี

วิจัยชี้ ‘เอลนีโญ’ กระทบไทยปานกลาง ส่อ ‘ภัยแล้ง’ ลากยาว 3 - 5 ปี

ไทยเข้าสู่ ‘เอลนีโญ’ ปานกลาง คาดยาวนาน 3-5 ปี สกสว. เปิดเวทีรับมือเอลนีโญทำพิษน้ำแล้งยาว นักวิจัยแนะจัดการเชิงรุกลดความเสี่ยงเชิงระบบ

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเวทีแถลงรับมือเอลนีโญ นักวิจัยชี้ปีนี้ยังไหวแต่กังวลจะเกิดภัยแล้งระยะยาว แนะการจัดการเชิงรุกแบบบูรณาการและจัดการความเสี่ยงเชิงระบบ ขณะที่กรมชลประทานเร่งปรับตัวและวางแผนบริหารจัดการรองรับน้ำให้เพียงพอและมีคุณภาพดี

ทั้งนี้ คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเกิดเอลนีโญต่อเนื่อง ทำให้ฝนน้อยและเกิดความแห้งแล้ง ภาคเกษตรอาจจะได้รับผลกระทบสูง เพราะน้ำมีความผันแปร ดังนั้น การเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น

วิจัยชี้ ‘เอลนีโญ’ กระทบไทยปานกลาง ส่อ ‘ภัยแล้ง’ ลากยาว 3 - 5 ปี

สถานการณ์เอลนีโญอีก 3 - 5 ปีข้างหน้า

ดร.ชลัมภ์ อุ่นอารีย์ นักวิจัยศูนย์ภูมิอากาศ กองพัฒนาอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า สภาพอากาศและแนวโน้มของปริมาณฝนจากนี้ไป จากการใช้แบบจำลอง 7+1 คาดการณ์ว่ามีโอกาสจะเกิดเอลนีโญในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า 

โดยในช่วงปี 2023-2028 จะเกิดปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติทำให้เกิดความแห้งแล้ง ในปี 2025 จะค่อนข้างรุนแรงในภาคใต้ และในปี 2028 จะเกิดความแห้งแล้งในบริเวณกว้าง 

อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำอย่างเดียวไม่ได้บอกถึงความแห้งแล้ง จึงได้ศึกษาปริมาณน้ำฝนที่สัมพันธ์กับน้ำท่า รวมถึงหาความสัมพันธ์ของปริมาณน้ำท่ากับความชื้นในดิน 3 เดือนล่วงหน้าเพื่อการเตรียมตัวรับมือ 

เช่นเดียวกับ ดร.กนกศรี ศรินนภากร หัวหน้างานภูมิอากาศและสภาพอากาศ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กล่าวว่า สสน. ใช้แบบจำลองเชิงตัวเลขในการคาดการณ์สภาพอากาศในระยะสั้น 7 วัน รายฤดูกาล

และศึกษาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเพื่อวางแผนระยะยาวให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงได้ โดยพัฒนาเทคนิคใช้ machine learning ประยุกต์ใช้กับการคาดการณ์ระยะยาว 5 ปี เช่นเดียวกับการคาดการณ์ฤดูกาล 

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากเอนโซ่ (เอลนีโญและลานิญา) จะต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น ปัจจัยทางทะเล ลมมรสุม มหาสมุทรทั้งสองฝั่งทั้งมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยมีแนวโน้มว่าสภาพอากาศรุนแรงจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น 

“คาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะเกิดเอลนีโญต่อเนื่อง ทำให้ฝนน้อยและเกิดความแห้งแล้ง ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนจึงเป็นสิ่งจำเป็น” ดร.กนกศรี กล่าว 

วิจัยชี้ ‘เอลนีโญ’ กระทบไทยปานกลาง ส่อ ‘ภัยแล้ง’ ลากยาว 3 - 5 ปี

ภัยแล้งเสี่ยงกระทบเกษตรกร

ด้านสภาพน้ำท่าและแนวโน้มว่าจากการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับฤดูแล้งปี 2566/67 ผศ.ดร.ไชยาพงษ์ เทพประสิทธิ์ และ ผศ.ดร.จุติเทพ วงษ์เพ็ชร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คาดว่าภาพรวมน้ำต้นทุนจะมีปริมาณน้ำไหลเขาอ่างเก็บน้ำรวมเท่ากับ 11,202 ล้านลูกบาศก์เมตร 

เอลนีโญอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำต่อเนื่องในระยะยาวได้ ผลจากแบบจำลองเป็นที่ชัดเจนว่าน้ำท่าตามธรรมชาติมีแนวโน้มลดลง อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ยังมีความผันแปร โดยรวมแล้วในปีนี้ยังไหวมีน้ำเพียงพอสำหรับฤดูแล้งปีหน้า

แต่ก็กังวลในระยะยาวว่าผลของเอลนีโญจะรุนแรงเพียงใด หากรุนแรงมากจะทำให้น้ำที่เติมสู่แหล่งน้ำน้อยลง กระทบต่อการปลูกข้าวนาปรัง จึงต้องติดตามทิศทางความรุนแรงของเอลนีโญว่าจะเข้มข้นขึ้นหรือลดลง 

ทางด้าน ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีฝนน้อย การใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำในขณะนี้เทียบเท่ากับการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปีนี้ฝนทิ้งช่วงจะตกในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 

สิ่งที่แปรผันคือ น้ำภาคการเกษตร โดยวางแผนพื้นที่เพาะปลูกในลุ่มน้ำเจ้าพระยา รณรงค์ปลูกพืชใช้น้ำน้อยหรือการพักนา โดยมี 6 แนวทางในการรับมือช่วงฤดูแล้ง คือ 

  1. บริหารน้ำในอ่างให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำและเพียงพอกับความต้องการ 
  2. จัดหาแหล่งน้ำสำรองกรณีเสี่ยงภัยแล้ง 
  3. ตรวจสอบความต้องการใช้น้ำทุกกิจกรรมตามลำดับความสำคัญ 
  4. จัดสรรตามกิจกรรมหลัก 
  5. สำรองน้ำเก็บกักไว้ต้นฤดูฝนกรณีฝนทิ้งช่วง 
  6. ประเมินผลและประชาสัมพันธ์ข่าวสารให้ประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ

วิจัยชี้ ‘เอลนีโญ’ กระทบไทยปานกลาง ส่อ ‘ภัยแล้ง’ ลากยาว 3 - 5 ปี

รับมือเชิงรุก สู้วิกฤติน้ำแล้ง
รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ประธานแผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านบริหารจัดการน้ำ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยจะพบกับวัฏจักรน้ำท่วม-น้ำแล้งไปตลอด จึงต้องใช้การจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและระยะยาวมากขึ้น

ใช้ข้อมูลข่าวสารที่พยากรณ์ให้เป็นประโยชน์ ปรับการช่วยเหลือเชิงเดี่ยวเป็นการช่วยปรับตัว โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและด้อยโอกาส ซึ่งจำเป็นต้องมีนโยบายสนับสนุนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านน้ำและอาชีพกับประชาชนระดับรากหญ้า 

นอกจากนี้ ควรมีมาตรการเพิ่มแหล่งน้ำขนาดเล็กของชุมชนเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรอง โดยพัฒนาทีมงานในระดับพื้นที่ร่วมกับ อปท. ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากจังหวัดและหน่วยงานเทคนิค

ทั้งนี้ การจัดการภัยแล้งแบบบูรณาการ ต้องติดตาม พยากรณ์ และแจ้งเตือน ประเมินความเปราะบางและผลกระทบ มีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบ และการจัดการเชิงรุกตามความเสี่ยงของพื้นที่

“ภาวะไม่แน่นอนของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อรูปแบบและมาตราการในการจัดการน้ำ จึงต้องมองระยะยาวมากขึ้น ต้องใช้แนวคิดบริหารความเสี่ยงและบูรณการ (เชิงมาตรการ) ไปพร้อมๆ กับการวางแผน พัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ต้องวางแผนเกษตร เมือง การใช้ที่ดินน้ำ พัฒนาระบบการจัดการเชิงรุก (ก่อน ระหว่าง หลังเหตุการณ์) ตลอดจนศึกษาวิจัย พัฒนาแนวคิด ทางเลือก (การพัฒนา อนุรักษ์ ลดภัย) และเครื่องมือที่พึงมี” รศ. ดร.สุจริต กล่าวสรุป