‘ไก่ไร้กรง’ ต้นน้ำนวัตกรรม ผลผลิต ‘ไข่ปลอดภัย’ สู่ฟังก์ชันฟู้ด
ไอแทป (ITAP) สวทช. ผนึก พันธมิตรภาครัฐ-เอกชน ขับเคลื่อนศักยภาพ ‘การเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง’ ของประเทศไทย ผลผลิต ‘ไข่ปลอดภัย’ สู่ฟังก์ชันฟู้ด
ไข่ไก่จากแม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไม่ขังกรง (cage free) ตอบรับเทรนด์การบริโภคที่คำนึงถึงหลักสวัสดิภาพสัตว์ มีความปลอดภัย ปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่กำลังเป็นที่นิยม
ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า ในปี 2562 ตลาดไข่ไก่ cage free ของโลกมีมูลค่า 4.98 ล้านดอลลาร์ และเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.75 ต่อปี ในช่วงปี 2563-2568 มีแนวโน้มการเติบโตสวนทางกับไก่ไข่ที่เลี้ยงแบบกรงตับ (battery cage)
การเลี้ยงแบบตับนั้นมีข้อจำกัดด้านพื้นที่แออัด ส่งผลให้แม่ไก่มีความเครียดสูง สุขภาพไม่แข็งแรง เจ็บป่วยง่าย นำไปสู่การให้ยาปฏิชีวนะแบบหว่าน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของการเกิดเชื้อดื้อยา รวมถึงนําไปสู่การเกิดโรค
เช่น หวัดนก เป็นต้น จึงเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนและจูงใจให้ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่ปรับระบบการเลี้ยงไปสู่ cage free
วัตถุดิบต้องดีตั้งแต่ต้นน้ำ
สุรพล เค้าภูไทย กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส ดับบลิว ฟู้ดเทค จำกัด ที่ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์จากไข่โดยใช้นวัตกรรม กล่าวว่า ธุรกิจเคยได้รับผลกระทบจากวิกฤติไข้หวัดนกในปี 2546 หนักหนาสาหัสขนาดทำลายโครงสร้างระบบการเลี้ยงออกไปมากกว่าครึ่ง ลามไปถึงการที่ผู้บริโภคปฏิเสธการกินไข่ ดังนั้น การทำให้ผู้บริโภคกลับมาเชื่อมั่นในผลิตภัณฑ์จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทาย และวิธีเลี้ยงแบบ “ไร้กรง” จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม
แม่ไก่ที่เลี้ยงแบบไร้กรงจะอารมณ์ดี สามารถคุ้ยเขี่ยดินและเกาะคอนได้ แม่ไก่จะไม่เครียด ส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง ที่สำคัญไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยง ทำให้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงและได้ราคาไข่ไก่ราคาไม่แพง
ที่สำคัญคือ ไข่ที่มาจากแม่ไก่สุขภาพดีนั้น สามารถนำไปพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะไข่หนึ่งใบได้รับการการันตีแล้วจะไม่เกิดโรคที่ตามมา ไม่มีสารปนเปื้อนจากยาปฏิชีวนะ ผู้บริโภคปลอดภัยในการรับประทาน และยังสามารถใช้ประโยชน์จนถึงวงการแพทย์
ก่อนหน้านี้ได้ออกผลิตภัณฑ์ฟังก์ชันคือ โยเกิร์ตผสมไข่แดง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทนนมแม่ โดยใช้คุณประโยชน์จากนมมาผสมกับไข่ให้มีคุณค่าทางอาหารเท่ากับนมแม่ พร้อมกับการพัฒนาสินค้ากลุ่มพร้อมทาน (raw material)
“เราไม่ใช่แค่ตอกไข่ แยกไข่ ผ่านการฆ่าเชื้อแล้วขาย แต่เรายังศึกษาเรียนรู้ในเชิงลึกว่าถ้าจะทำเบเกอรีให้ดี วัตถุดิบไข่จะต้องเริ่มจากอะไร พอศึกษาแล้วก็ไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ไม่สูญเสียบทบาทเชิงหน้าที่ เช่น ถ้าจะพาสเจอไรส์ ต้องทำที่อุณหภูมิเท่าไหร่ที่จะทำให้ไม่มีผลกระทบกับบทบาทของไข่ เพราะฉะนั้น วัตถุดิบตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงไก่ คัดสรรไข่ จึงเป็นส่วนที่สำคัญ”
สุรพล กล่าวเสริมว่า ทิศทางของการพัฒนาตลาดไก่ไร้กรงคือ การสร้างแบรนด์ให้เกิดเป็นสูตรอาหารฟังก์ชัน เพื่อต่อยอดจากวัตถุดิบที่มี ไปเพิ่มคุณประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นผลดีแก่ทั้งเกษตรกรเลี้ยงไก่ ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารตลอดจนผู้บริโภค องค์ประกอบทั้งสามนี้จะเกิดความเชื่อมโยงกัน
นอกจากนี้ การเลี้ยงไก่แบบไร้กรงก็เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ที่แวดวงคนทำธุรกิจจะต้องคำนึงถึงความยั่งยืน เพราะต่อให้เราทำสินค้ามาดีแค่ไหน แต่ถ้าทำลายสิ่งแวดล้อม ปลายทางอย่างผู้บริโภคก็รับไม่ได้ ธุรกิจจึงจะเพิกเฉยในเรื่องนี้ไม่ได้
ต่อยอดไก่ไร้กรงในประเทศไทย
นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สวทช. กล่าวว่า การจัดสัมมนาแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อเสริมศักยภาพการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรงในประเทศไทย เป็นกิจกรรมภายใต้ “โครงการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับระบบการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง ให้มีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์”
เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการและฟาร์มไก่ไข่ มีความรู้ ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสู่การพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่แบบไม่ขังกรง โดยทีมวิจัยจะร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการเชิงลึก พร้อมทั้งนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม
การสร้างเทรนเนอร์ เพื่อรองรับและให้คำปรึกษาผู้ประกอบการในอนาคตในการทำให้การเลี้ยงไก่ cage free มีรูปแบบที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานตามหลักของ animal welfare ในบริบทของประเทศไทย และสากลยอมรับ
สารทางเลือกทดแทนยาปฏิชีวนะ
ทั้งนี้ ในงานสัมมนาดังกล่าว ทางศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสนอเทคโนโลยีสารธรรมชาติทางเลือกทดแทนยาปฏิชีวนะ สำหรับเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรง เพื่อช่วยเสริมศักยภาพการเลี้ยงไก่ไข่ไร้กรงให้ประสบผลสำเร็จ ตามเทรนด์ของกระแสโลกสู่ภูมิภาคเอเชียอาคเนย์และประเทศไทย
วีระพงษ์ วรประโยชน์ นักวิจัยกลุ่มวิจัยส่วนผสมฟังก์ชั่นและนวัตกรรมอาหาร ไบโอเทค กล่าวว่า สารทางเลือกมีด้วยกันหลายชนิดทั้งโพรไบโอติกส์ พรีไบโอติกส์ ไฟโตจีนิกส์ เอนไซม์และอิมมูโนโกลบูลินวาย เป็นต้น
ค่อนข้างใหม่สำหรับอุตสาหกรรมไก่ไข่ไร้กรง แต่มีศักยภาพสูงเนื่องจากมีการทดลองใช้ในสัตว์เศรษฐกิจอื่น ๆ รวมถึงไก่เนื้อ และไก่ไข่ขังกรงแล้ว พบว่า ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ โดยไม่เพียงแค่จัดการกับเชื้อก่อโรคในสัตว์ แต่ยังทำให้สัตว์มีสุขภาพดี และผลผลิตดีขึ้น
นอกจากนี้ สารทางเลือก เช่น โพรไบโอติกส์ น้ำมันหอมระเหย เอนไซม์ย่อยอาหาร และเปปไทด์ต้านจุลชีพกลุ่มไลโซไซม์ ยังมีความพร้อมในด้านการผลิตระดับนำร่องและระดับอุตสาหกรรมแล้ว ขณะนี้ไบโอเทคอยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมกับไข่ไก่ไร้กรง รวมถึงต้องการผู้ประกอบการที่สนใจร่วมศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาหาสารสำคัญดังกล่าว