นักข่าวจะโดนแย่งงาน? เมื่อ Google พัฒนา A.I. เขียนข่าวได้ เสนอให้สื่อลองใช้

นักข่าวจะโดนแย่งงาน? เมื่อ Google พัฒนา A.I. เขียนข่าวได้ เสนอให้สื่อลองใช้

A.I. เขียนข่าวได้แล้ว! “นักข่าว” จะโดนแย่งงานไหม? เมื่อ Google กำลังทดสอบ “A.I. Genesis” พร้อมเสนอให้สื่อนอกหลายสำนักทดลองใช้

Key points:

  • Google กำลังทดสอบระบบ A.I. ที่ชื่อว่า Genesis ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถเขียนข่าวเองได้ เป้าหมายเพื่อนำมาใช้เป็นผู้ช่วยนักข่าว
  • นักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนในนิวยอร์กซิตี้ มองว่า เครื่องมือดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่สำคัญ หากใช้งานต้องระวังเรื่องข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลผิด
  • บางสำนักข่าวในต่างประเทศเริ่มใช้ A.I. ในการผลิตข่าวสั้นแล้ว ในขณะที่อีกหลายแห่งยังคงต่อต้านและไม่ยอมรับ 

ไม่น่าแปลกใจที่ A.I. รุกคืบเข้ามายังสายอาชีพ “นักข่าว” เร็วกว่าที่คาด ล่าสุดมีรายงานข่าวจาก The New York Times ระบุว่า Google ได้พัฒนาและกำลังทดสอบระบบ A.I. ที่ชื่อว่า Genesis ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถเขียนข่าวเองได้ 

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นมาในฐานะผู้ช่วยนักข่าว และถูกนำเสนอต่อผู้บริหารของสำนักข่าวยักษ์ใหญ่หลายแห่ง ได้แก่ The New York Times, The Washington Post และ News Corp (ซึ่งเป็นเจ้าของ The Wall Street Journal) เพื่อช่วยให้ผลิตบทความข่าวได้รวดเร็วมากขึ้น

นักข่าวจะโดนแย่งงาน? เมื่อ Google พัฒนา A.I. เขียนข่าวได้ เสนอให้สื่อลองใช้

 

  • A.I. Genesis ที่พัฒนาโดย Google ทำอะไรได้บ้าง?​

A.I. Genesis เป็นเครื่องมือรู้จักกันเป็นการภายใน และถูกนำเสนอต่อผู้บริหารจากสำนักข่าวเพียง 3 คนเท่านั้น โดยลักษณะที่โดดเด่นของเครื่องมือนี้ก็คือ มันสามารถรับข้อมูล เช่น รายละเอียดของเหตุการณ์ปัจจุบัน แล้วนำมาสร้างเนื้อหาข่าว และเรียบเรียงคำพูดจากผู้คนให้เป็นบทความได้ 

Google เชื่อว่าเครื่องมือนี้จะสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยส่วนตัวสำหรับนักข่าว โดยทำงานบางอย่างโดยอัตโนมัติเพื่อเพิ่มเวลาว่างให้กับนักข่าวได้ และเล็งเห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความรับผิดชอบ ซึ่งสามารถช่วยควบคุมดูแลอุตสาหกรรมสื่อให้ห่างไกลจากหลุมพรางของ Generative A.I. ได้ 

หมายเหตุ : Generative A.I. หมายถึง A.I. ที่เหนือกว่า A.I. ทั่วไป ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะให้มีความสามารถในการ “สร้างใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ด้วยอัลกอริทึมแบบ Generative Model โดยสามารถนำมาใช้งานหลากหลาย เช่น การสร้างภาพ สร้างข้อความ การประมวลผลจากการโดนตั้งคำถาม และการสร้างเสียงดนตรี เป็นต้น

ผู้บริหารบางคนที่ได้ชมการนำเสนอ A.I. Genesis ของ Google สะท้อนความคิดเห็น (โดยขอไม่ระบุตัวตน) ว่า เครื่องมือนี้ยังไม่เสถียร ในขณะที่ผู้บริหารอีกคนสองคนบอกว่า เครื่องมือนี้มีความพยายามในการผลิตข่าวที่ถูกต้องและมีศิลปะ

นักข่าวจะโดนแย่งงาน? เมื่อ Google พัฒนา A.I. เขียนข่าวได้ เสนอให้สื่อลองใช้

 

  • ในอนาคต A.I. Genesis จะมาแย่งอาชีพนักข่าวไหม?

คำถามต่อมาที่หลายคนอยากรู้แน่ๆ ก็คือ เจ้า A.I. Genesis จะมาแย่งอาชีพนักข่าวไหม?

เรื่องนี้ Jenn Crider โฆษกหญิงของ Google บอกว่า เครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้มีไว้เพื่อทดแทนนักข่าว พวกมันไม่สามารถแทนที่บทบาทสำคัญของนักข่าวในการรายงานข่าว สร้างเนื้อหาข่าว และตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แต่มันสามารถเข้ามาช่วยในแง่การเพิ่มตัวเลือกหัวข้อข่าว และนำเสนอรูปแบบการเขียนแบบอื่น ๆ 

ทั้งนี้ Google มีความร่วมมือกับผู้เผยแพร่ข่าว โดยเฉพาะผู้เผยแพร่รายเล็ก เพื่อทดสอบระบบ A.I. ดังกล่าว และกำลังอยู่ในขั้นตอนแรกสุดของการสำรวจแนวคิดเพื่อจัดหาเครื่องมือ A.I. เพื่อช่วยเหลือนักข่าวในการทำงานบางจุด”

ด้านโฆษกของ News Corp กล่าวในแถลงการณ์ว่า “เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับ Google และขอขอบคุณความมุ่งมั่นระยะยาวของ Sundar Pichai ที่ให้ความสำคัญกับวงการข่าว” ส่วนตัวแทนจาก The New York Times และ The Washington Post ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น

 

  • A.I. เขียนข่าวได้ของ Google ยังมีจุดบกพร่อง และบทความข่าวจากฝีมือเอไอก็อาจไม่น่าเชื่อถือ

ขณะเดียวกัน เจฟฟ์ จาร์วิส ศาสตราจารย์ด้านสื่อสารมวลชน จาก Craig Newmark Graduate School of Journalism แห่ง The City University of New York เผยมุมมองส่วนตัวว่า เครื่องมือใหม่ของ Google ชุดนี้มีศักยภาพทั้งด้านบวกและด้านลบ หากเทคโนโลยีนี้สามารถให้ข้อมูลข้อเท็จจริงได้อย่างน่าเชื่อถือ นักข่าวควรใช้เครื่องมือนี้

นักข่าวจะโดนแย่งงาน? เมื่อ Google พัฒนา A.I. เขียนข่าวได้ เสนอให้สื่อลองใช้

ในทางกลับกัน หากนักข่าวและองค์กรข่าวนำไปใช้ในทางที่ผิด เช่น อาจใช้โดยการไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ได้มา หรือไม่ตรวจทานและเรียบเรียงเนื้อหาของบทความให้ดีก่อน ข่าวที่ผลิตจาก A.I. นั้นก็จะขาดความเข้าใจพื้นฐานด้านสังคมและวัฒนธรรม จนอาจทำลายความน่าเชื่อถือของสำนักข่าวได้

แน่นอนว่าหลังจากมีการเผยแพร่ข่าวเกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ของ Google ชุดนี้ออกไป ก็ย่อมกระตุ้นความวิตกกังวลในหมู่นักข่าวที่เขียนบทความด้วยทักษะเฉพาะส่วนตัวมาอย่างยาวนาน รวมถึงบางสำนักข่าวอย่าง NBC News และ The Times ก็มีจุดยืนต่อต้าน A.I. ที่ดูดข้อมูลจากสำนักข่าวไปใช้งานโดยไม่ได้รับอนุญาต

แม้ว่าปัจจุบันนี้ Google จะสามารถพัฒนา A.I. ให้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่ต้องยอมรับว่า ยังคงมีความท้าทายและข้อขัดข้องบางประการ โดยเฉพาะแชทบอทอย่าง “Bard” ที่ผู้ใช้งานรายงานว่า ข้อมูลที่ได้มาบางครั้งก็ไม่ถูกต้อง และไม่นำพาผู้ใช้งานไปยังแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ ซึ่งหากผู้ใช้งานไม่ตรวจสอบและแก้ไขอย่างระมัดระวัง ก็อาจเผลอแพร่กระจายข้อมูลที่ผิด ๆ ออกสู่สาธารณะได้

----------------------------------------

อ้างอิง : New York Times