GENERATIVE AI เขย่าโลก ใช้ให้เป็น เพิ่มโอกาส 'ธุรกิจ-การศึกษา'
ในยุคที่ เทคโนโลยี AI ก้าวหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะ GENERATIVE AI อาทิ ChatGPT ซึ่งหลายคนเกิดคำถามว่า สิ่งเหล่านี้จะสามารถทดแทนมนุษย์ได้หรือไม่ แต่ความจริงแล้ว แม้ในหลายแวดวงจะใช้เป็นเพื่อนคู่คิด แต่ผู้ใช้ก็ยังต้องมีความรู้พื้นฐานที่สามารถใช้อย่างถูกต้องและปลอดภัย
Key Point :
- การพัฒนาที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด ของ เทคโนโลยี AI และนับวันยิ่งเพิ่มการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในด้านการคิดงานที่ซับซ้อนเหนือกว่ามนุษย์ ทำให้หลายคนกังวลว่าอาจถูก AI แย่งงาน
- อย่างไรก็ตาม ด้วยเป้าหมายของ จุฬาฯ ในการนำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI มองว่า AI เป็นเพื่อนคู่คิด ในหลายวงการ แต่ผู้ใช้ก็จำเป็นต้องมีพื้นฐานความรู้ด้วย
- ขณะเดียวกัน AI ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจทั่วโลกที่มองว่า จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น และหลายแห่งอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาอีกด้วย
หากย้อนกลับไปในอดีต เวลาเรียนหนังสือ หมายถึงว่า มีหนังสือเป็นแหล่งเรียนรู้และมีอาจารย์มาสอน จนกระทั่ง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ความรู้เปิดกว้าง ทำให้คนเข้าถึงความรู้ได้ไม่เฉพาะแค่สิ่งพิมพ์ แต่สามารถค้นคว้าหาข้อมูลได้ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต รูปแบบการเข้าถึงความรู้เปิดกว้างและสามารถนำความรู้มาใช้ได้รวดเร็ว
ขณะที่ปลายปีก่อนมี GENERATIVE AI อย่าง ChatGPT เกิดขึ้น ทำให้ได้เห็นถึงความก้าวหน้าของเครื่องมือใหม่ๆ การ์ทเนอร์ ได้วิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจ ซึ่ง AI นับเป็นเรื่องใหญ่ที่กำลังส่งผลกระทบไปหลายภาคส่วน จากการพัฒนาที่รวดเร็วแบบก้าวกระโดด และนับวันยิ่งเพิ่มการทำงานที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในด้านการคิดงานที่ซับซ้อนเหนือกว่ามนุษย์ งานศิลปะ AI ที่ชนะรางวัล เรื่องภาษา และการวิเคราะห์ผลลัพธ์ในเชิงลึก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เอไอรุกวงการแพทย์ ขับเคลื่อนสู่ “ระบบสุขภาพดิจิทัล”
-
ต้องเตรียมแผนรับมืออย่างไร ถ้า ‘AI’ จะทำให้ ‘มนุษย์สูญพันธุ์’
-
'กูเกิล' เล็งใช้ AI รุ่นใหม่สำหรับการโฆษณา-ช่วยครีเอเตอร์ยูทูบ
ผลสำรวจผู้นำธุรกิจกว่า 2,544 ราย พบว่า 45% ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่า ความร้อนแรงของ ChatGPT กระตุ้นให้พวกเขา เพิ่มการลงทุนด้าน AI และกว่า 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่า องค์กรของตนอยู่ในช่วงการสำรวจและศึกษาเทคโนโลยีเอไอแบบรู้สร้าง (Generative AI) ขณะที่ 19% นั้นอยู่ในช่วงของการทดลองหรือในช่วงของการผลิต
ขณะที่ 68% ของผู้บริหารเชื่อว่า Generative AI นั้น มีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง ซึ่งเมื่อเทียบกับเพียง 5% ของผู้ตอบแบบสอบถามที่เห็นว่า มีความเสี่ยงมากกว่ามีประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารอาจเปลี่ยนมุมมองไป เมื่อลงทุนในระดับที่ลึกขึ้น 38% ระบุว่า แม้จะมีอุปสรรคทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประสบการณ์ของลูกค้า (Customer experience) คือ หัวใจหลักที่ผู้บริหารให้ความสำคัญสำหรับการลงทุนใน Generative AI โดยมีเพียง 17% ชี้ว่าการเพิ่มประสิทธิภาพต้นทุน (Cost Optimization) เป็นเป้าหมายหลักที่เลือกลงทุน Generative AI
หลายองค์กรที่เริ่มทดลองใช้ Generative AI และมีหลายแห่งนำไปใช้ในหลายกรณี อาทิ ใช้ปรับปรุงเนื้อหาในสื่อหรือสร้างโค้ด แม้ความพยายามเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มมูลค่าได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ Generative AI ยังมีศักยภาพอีกมากที่สนับสนุนหรือรองรับการพัฒนาโซลูชัน ที่ช่วยเพิ่มความสามารถของมนุษย์หรือเครื่องจักร รวมถึงช่วยปรับการดำเนินธุรกิจและกระบวนการทางไอทีให้เป็นแบบอัตโนมัติ
จริงหรือไม่ที่ AI จะแย่งงาน
ทั้งนี้ ChatGPT เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยี GENERATIVE AI โดยผลลัพธ์ คือ การแชต พูดคุย รศ.ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ Chief Learning Innovation Officer จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 19 เรื่อง ‘จุฬาฯ มุ่งหน้าด้วย GENERATIVE AI’ จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI” อธิบายว่า บางคนอาจจะเคยเห็นลักษณะอื่นของ GENERATIVE AI คือ เป็นภาพ ใช้ AI สร้างคำตอบสิ่งที่เราต้องการในรูปแบบที่ต่างกัน เทคโนโลยีจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราต้องการว่าจะเป็นภาพ เป็นข้อความ หรือดนตรี เป็นต้น โดยให้ AI สร้าง
การศึกษาที่ผ่านมา พบว่า สิ่งที่ ChatGPT ทำได้ดีที่สุด คือ ผู้ช่วยเหลือเบื้องต้น ค้นข้อมูลให้ และสรุป แต่ยังไม่สามารถเชื่อทั้งหมด นี่คือ คีย์เวิร์ดว่า การทำงานของ ChatGPT คือ การทำนายในระดับลึกเท่านั้น สุดท้าย คนที่ใช้ควรจะมีความรู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ผิดหรือถูกต้องตัดสินใจอีกที
“การนำ ChatGPT มาใช้ในการเรียนการสอน พบว่า เป็นเพื่อนเตรียมการสอน และสุดท้ายอาจารย์ต้องตัดสินใจว่าเหมาะสมหรือไม่ ขณะเดียวกัน การใช้ ChatGPT ในเชิงเศรษฐศาสตร์ พบว่า อะไรก็ตามที่ใช้การพูดคุย เช่น แม่ค้าออนไลน์ ตอบอีเมล ตอบแชต ChatGPT จะเก่งเพราะทำได้แทบทุกภาษาซึ่งเป็นตัวช่วยลดงาน สำหรับการเขียนโค้ดคู่กับ AI หลายคนมองว่าคนที่ทำงานด้านนี้จะตกงานหรือไม่ แต่ความจริง ChatGPT เป็นเพื่อนคู่คิดของโปรแกรมเมอร์ จากเดิมใช้คนกับคน แต่ตอนนี้ใช้คนกับ AI”
รศ.ดร.โปรดปราน กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังเกิดคำถามว่า หาก ChatGPT ทำได้ขนาดนั้นจะต้องสอนกันหรือไม่ ความจริงแล้ว แม้จะใช้ ChatGPT เขียนได้ แต่หากเราไม่มีความรู้ เราจะไม่รู้เลยว่าโค้ดมีความปลอดภัยหรือไม่ หากถามว่าไม่ได้เรียนคอมพิวเตอร์เลยแต่ใช้ ChatGPT เขียนโค้ดแทนได้หรือไม่ ตอบได้เลยว่าไม่ได้แน่นอน อย่างน้อยต้องมีความรู้พื้นฐานแน่น สามารถรู้ได้ว่าถูกต้องและปลอดภัยหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุด คนที่ใช้ต้องมีพื้นฐานในศาสตร์นั้นๆ มากพอ
ด้าน ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า เมื่อมีเครื่องมือใหม่ ส่งผลให้คนเก่งขึ้น และผลิตภาพจะเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง การเพาะปลูกในอดีตจะใช้ควายมาไถนา ตอนหลังเริ่มมีรถไถเข้ามาช่วยทำให้การผลิตเพิ่มมากขึ้น ขณะที่การแพทย์ก็มีความก้าวหน้าเพราะเครื่องมือดีขึ้น ดังนั้น ทุกวงการเมื่อมีเครื่องมือดีขึ้น เราก็สามารถยกระดับความรู้ของคนในวงการนั้น และยกระดับผลิตภาพประเทศได้
ทำนองเดียวกัน เรื่องของการศึกษา จุฬาฯ มองว่า เมื่อมี GENERATIVE AI จะเสริมสิ่งที่มีในอดีตในการเข้าถึงองค์ความรู้ที่มีเฉพาะข้อมูลแค่ใน Google หรือใน CourseVille ระบบการจัดการการเรียนการสอน (Learning Management System: LMS) แต่เมื่อมีการเอาเครื่องมือใช้ประกอบในการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เชื่อว่าคนในยุคถัดไปจะเก่งขึ้นจากการมีเครื่องมือใหม่ๆ
ใช้เป็น อย่างเหมาะสม
สำหรับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งหน้าสนับสนุนการใช้ Generative AI โดยขับเคลื่อนสนับสนุนให้นิสิต คณาจารย์ และบุคลากรใช้ AI อย่างเต็มที่ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยในส่วนของผู้เรียนจะต้อง 'ปรับใช้' AI เพื่อพัฒนาการเรียนรู้อย่างเต็มที่ 'เข้าใจ' ว่า AI มีความสามารถและข้อจำกัดอะไร 'อ้างอิง' การใช้งาน AI ให้ชัดเจน ถูกต้อง 'ระมัดระวัง' ไม่นำข้อมูลลับเข้าระบบปัญญาประดิษฐ์ ในส่วนของผู้สอนจะต้อง 'ปรับใช้' AI ในการเรียนการสอน 'เข้าใจ' ถึงความสามารถและข้อจำกัดของ AI 'ออกแบบ' กระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสม และ 'ระบุ' ขอบเขตและแนวทางการใช้ AI ในประมวลรายวิชา
รศ.ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในแง่อุดมศึกษา พบว่า ChatGPT สามารถช่วยได้ทั้งอาจารย์และนักศึกษา เดิมการเรียนการสอนที่ต้องการให้นักเรียนไปหาความรู้ เขียน สรุปออกมาเองแต่ปัจจุบันเทคโนโลยีสามารถทำได้ ดังนั้น ต้องขยับไปอีกสเต็ปหนึ่ง ทำอย่างไรให้เกิดปัญญาและการเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้
ดังนั้น หลักการในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงสนับสนุนให้นิสิตและบุคลากรมีความรู้ความเข้าใจและสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างเหมาะสม อีกทั้ง สนับสนุนให้มีการปรับกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลตลอดจนการทำงานให้เหมาะสมกับการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์อย่างสร้างสรรค์และถูกหลักจริยธรรม
นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญและเข้มงวดกับเรื่องจริยธรรมทางวิชาการ และวางแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างครบถ้วน คือ ด้านการเรียนการสอนและการประเมินผล ด้านการใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ด้านการปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล