มาอีกหนึ่ง Lisa ผู้ประกาศข่าว AI จากอินเดีย อวดสรรพคุณพูดได้ 75 ภาษา

มาอีกหนึ่ง Lisa ผู้ประกาศข่าว AI จากอินเดีย อวดสรรพคุณพูดได้ 75 ภาษา

Odisha TV ช่องข่าวในประเทศอินเดีย เปิดตัว Lisa ผู้ประกาศข่าว AI ที่มาพร้อมชุดส่าหรีสีทองผสมม่วงแดง อ่านข่าวรายวัน ทำนายโชคชะตา ข่าวกีฬาและรายงานสภาพอากาศ โดยสามารถพูดได้ถึง 75 ภาษา

การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) รายงานข่าวไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อีกต่อไป เพราะในแต่ละสำนักข่าวได้นำเอไอเหล่านี้มาใช้ประโยชน์กับงานของตนเอง ตั้งแต่การใช้เอไอเขียนข่าว การใช้เอไอวาดรูปประกอบภาพข่าว ตลอดจนใช้เอไอรายงานข่าว

ในครั้งนี้ Odisha TV ช่องข่าวในอินเดีย ได้ส่ง “ลิซ่า (Lisa)” เอไอรายงานข่าวสวมชุดส่าหรีลงสนาม ลิซ่าสามารถพูดได้ถึง 75 ภาษา สามารถอ่านข่าวรายวัน ทำนายโชคชะตา ข่าวกีฬาและรายงานสภาพอากาศ ซึ่งโดนกระแสตอบกลับว่า “อ่านข่าวได้ไร้อารมณ์และดูไร้ชีวิตจิตใจ” 

จากี แมงกัต แพนดา (Jagi Mangat Panda) ประธานของช่องทีวี Odisha กล่าวว่า ผู้ประกาศข่าวเอไอนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญในการแพร่ภาพโทรทัศน์และสื่อสารมวลชนดิจิทัล

เป้าหมายของเอไอลิซ่าคือ ช่วยทำงานง่ายๆ ไม่ซับซ้อน บางงานก็เป็นงานที่ซ้ำซาก การเข้ามาของเอไอทำให้พนักงานใช้เวลาโฟกัสกับงานสร้างสรรค์ที่ยากกว่า เพื่อนำเสนอข่าวที่มีคุณภาพดีขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ลิซ่าไม่ใช่ผู้ประกาศข่าวเอไอคนแรกของอินเดีย ก่อนหน้านี้ยังมี ซานะ (Sana) เอไอรายแรกของอินเดีย พัฒนาโดย อินเดีย ทูเดย์ กรุ๊ป (India Today Group) สื่อซึ่งตั้งอยู่ในเดลี

ในแง่มุมหนึ่งการใช้เอไออาจเหมาะกับอินเดีย เพราะเป็นประเทศที่ผู้คนใช้ภาษาทางการกันถึง 22 ภาษา และภาษาพูดที่ต่างกันอีกมาก การเทรนเอไอด้วยภาษาถิ่นของอินเดีย จะทำให้เรื่องเหล่านี้ง่ายขึ้นสำหรับวงการสื่อสารมวลชนในอินเดีย 

มาอีกหนึ่ง Lisa ผู้ประกาศข่าว AI จากอินเดีย อวดสรรพคุณพูดได้ 75 ภาษา

กาลลี ปูรี (Kalli Purie) รองประธานหญิงของ India Today แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับซานะว่า “สดใส งดงาม ไม่แก่ชรา และไม่เหน็ดเหนื่อย” 

World Association of News Publishers พบว่า 49% ของห้องข่าวทั้งหมดทั่วโลกใช้เครื่องมือเอไอ เช่น ChatGPT มาช่วยทำงาน และเมื่อย้อนกลับไปในปี 2018 จีนเปิดตัวผู้ประกาศข่าวเอไอ

โดยจีนอ้างตั้งแต่ตอนนั้นว่าเป็นประเทศแรกที่เปิดตัวผู้ประกาศข่าวเอไอ ตั้งแต่นั้นมาผู้ประกาศข่าวเอไอ ก็ปรากฏในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน ในตะวันออกกลางก็เช่นเดียวกัน 

สำหรับประเทศไทย มีสตาร์ตอัปอย่างบริษัท Deus Works ที่นำเอไอมาใช้ผลิตคอนเทนต์และรายงานข่าว ซึ่งในภายหลังเนชั่น ไทยแลนด์ (Nation Thailand) นำเอไอของ Deus Works ไปรายงานข่าวที่มีความสั้น กระชับ เน้นความรวดเร็ว และความหลากหลายของภาษาพูด

นอกจากนี้ก็ยังมี ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) NECTEC ที่มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์แบบนี้เช่นเดียวกัน โดยการนำพิธีกรข่าวชื่อดัง สุทธิชัย หยุ่น มาสร้างเป็นตัวอวตาร และสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้ เมื่อปี 2019

อ้างอิง: asia.nikkei