“วิจัยไทย” อยู่ระดับไหน วช.ชวนหาคำตอบได้ที่ “มหกรรมงานวิจัยปี 66”
มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 “ท็อป พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร” นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมทำหน้าที่เป็น “ทูตวิจัย” ที่จะสร้างพลังเพื่อสื่อสารเรื่องงานวิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นเรื่องใกล้ตัว และเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัยจัด “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566” (Thailand Research Expo 2023) ระหว่างวันที่ 7-11 ส.ค.2566 ณ ชั้น 22-23 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์
พบกับผลงานวิจัยกว่า 1,000 ผลงานจาก 170 หน่วยงาน เน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
ในปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน เป็นประธานในพิธีเปิดงานในวันศุกร์ที่ 11 ส.ค.2566
วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ให้ความสำคัญกับความร่วมมือของเครือข่ายในระบบวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ได้สร้างกลไกการจัดงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี 2549
เพื่อเป็นเวทีระดับชาติในการนำเสนอความก้าวหน้าของผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีศักยภาพพร้อมใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนให้เกิดการเผยแพร่องค์ความรู้จากงานวิจัย และสร้างโอกาสในการเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากทุกภาคส่วน
การจัดงานในปีนี้ซึ่งเป็นปีที่ 18 ยังแสดงให้เห็นความต่อเนื่องและเข้มแข็งของกลไกความร่วมมือของหน่วยงานเครือข่ายในระบบวิจัย ในการนำผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์
รวมถึงการสนับสนุน การส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องที่จะนำสู่เป้าหมายในการพัฒนาขับเคลื่อน เศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างยั่งยืน ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และ มนุษยศาสตร์ ส่วนรายละเอียดของงานดูเพิ่มเติมได้ที่ www.researchexpo.nrct.go.th
สซ.โชว์กราฟีนมูลค่าสูงจากขยะ
ผลงานวิจัย “กราฟีนจากขยะ” จากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยกราฟีนเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงมากกว่าเหล็ก 200 เท่า เมื่อนำไปผสมกับคอนกรีตเพียง 0.1% จะเพิ่มความแข็งแรงให้คอนกรีตได้ถึง 35% ทั้งนี้ คอนกรีตซึ่งเป็นวัสดุหลักในอุตสาหกรรมก่อสร้างมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 39%
เทคโนโลยีการผลิตกราฟีนจากขยะนี้ จึงเป็นนวัตกรรมการนำคาร์บอน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของขยะกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ และสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาคอนกรีตคาร์บอนต่ำ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนในอุตสาหกรรมก่อสร้างได้
ในการพัฒนาผลงานต้นแบบดังกล่าว ทีมงานได้ศึกษาออกแบบระบบสังเคราะห์กราฟีนด้วยการให้ความร้อนฉับพลัน เพื่อผลิตกราฟีนจากขยะ โดยนำขยะที่ผ่านการเผาแล้วมาเข้าระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าปริมาณสูงเวลาสั้นๆ ไม่ถึงวินาที จนเกิดความร้อนสูงถึง 3,000 องศาเซลเซียส ทำให้เหลือเพียงคาร์บอนอะตอมที่จัดเรียงตัวใหม่กลายเป็นกราฟีน
กระบวนการผลิตนี้ใช้ได้กับขยะเกือบทุกชนิด เช่น ยางล้อรถยนต์ ขยะพลาสติกทุกประเภท ของเหลือทิ้งจากการเกษตร ชีวมวล เช่น กากกาแฟและกาบมะพร้าว และได้กราฟีนที่เพิ่มมูลค่าของเหลือทิ้งได้ 1,000 เท่า โดยได้กราฟีนที่มีราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท
“ข้าว” สู่เครื่องดื่มและขนม Healthy beauty
“ข้าว” นอกจากจะเป็นอาหารหลักของคนไทยแล้ว ยังสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายทั้งอาหาร เครื่องดื่ม วิตามินบำรุง ไปจนกระทั่งเครื่องสำอาง ตอบโจทย์การตลาดในช่วงปัจจุบัน ที่เกษตรกรต้องพบกับปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ
ผศ.ฐิตินาถ สุคนเขตร์ และคณะ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เล็งเห็นว่า “ข้าวไทย” มีคุณค่าทางโภชนาการสูง และอุดมไปด้วยสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงมีแนวความคิดที่จะมีการบูรณาการศาสตร์ตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มและขยายตลาดข้าวไทย
โดยนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มสุขภาพ 2 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องดื่มน้ำส้มสายชูหมักจากปลายข้าว และพุดดิ้งกล้วยหอมรสช็อกโกแลตจากแป้งข้าวนึ่ง
เครื่องดื่มน้ำส้มสายชูหมักจากปลายข้าว มีส่วนผสมของสารสำคัญจากกระชายดำกับสารสำคัญจากแป้งข้าว มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง และมีความคงทนของสารสกัด มีความสามารถในการละลายน้ำได้มากกว่าผงกระชายดำปกติ
ส่วนผลิตภัณฑ์พุดดิ้งกล้วยหอมรสช็อกโกแลตจากแป้งข้าวนึ่ง สืบเนื่องจากข้าวนึ่งเป็นอาหารสุขภาพที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่มีกลิ่นและรสที่ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค
ผู้วิจัยจึงมีความสนใจในการศึกษาคุณสมบัติของแป้งข้าวนึ่งเพื่อใช้ทดแทนการใช้แป้งสาลีในผลิตภัณฑ์พุดดิ้ง โดยทำการคัดเลือกสูตรพื้นฐานผลิตพุดดิ้งกล้วยหอมรสช็อกโกแลต เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างทางเลือกแก่ผู้ประกอบการในการนำไปต่อยอดขยายผลในเชิงพาณิชย์ต่อไป
นอกจาการแปรรูปข้าวเพื่อสร้างมูลค่าที่เพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังได้มีส่วนช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่ปลูกข้าวให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถขายข้าวเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากข้าวได้ตลอดทั้งปี และยังตอบโจทย์ในเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำในช่วงปัจจุบันได้อีกด้วย
ชวนชิม “ขนมขบเคี้ยวปลาแผ่นกรอบ” และ “กุ้งกรอบเม็ดมะม่วงหิมพานต์รสต้มยำ”
ผลงานวิจัย ของ ผศ.สุชาดา ไม้สนธิ์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ภูผาฟาร์ม จำกัด เพื่อนำไปทดลองผลิตขายจริงในเชิงพาณิชย์ แล้ว
ผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวปลาแผ่นกรอบ ผลิตจากเนื้อปลาทะเล 95% โดยใช้เทคโนโลยีการทอดกรอบแบบสุญญากาศ มีรสชาติอร่อย มีโปรตีนจากเนื้อปลา ไม่มีวัตถุกันเสีย และผงชูรส ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลานิลทอดกรอบและการยืดอายุการเก็บรักษา”
เพื่อศึกษาสูตรและการเตรียมปลาก่อนการทอดกรอบ รวมถึงเปรียบเทียบคุณภาพการทอดกรอบปลาด้วยวิธีทอดแบบน้ำมันท่วมและแบบสุญญากาศ และศึกษาอุณหภูมิและระยะเวลาในการฆ่าเชื้อปลาทอดกรอบที่บรรจุในรีทอร์ทเพาช์ นอกจากนี้ยังได้ศึกษาอายุการเก็บรักษาปลาทอดกรอบโดยวิธีเร่งสภาวะ
ส่วน ผลิตภัณฑ์กุ้งกรอบเม็ดมะม่วงหิมพานต์รสต้มยำ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ในโครงการ “การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารว่างสำเร็จรูปพร้อมบริโภคจากกุ้ง” เพื่อศึกษาพฤติกรรม ทัศนคติและความต้องการของผู้บริโภคเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเลือกซื้อ อาหารว่างสำเร็จรูปพร้อมบริโภคจากกุ้ง
เพื่อหาสูตรและพัฒนาอาหารว่างสำเร็จรูปพร้อมบริโภคจากกุ้ง รวมถึงเพื่อพัฒนาสูตรและกรรมวิธีการผลิตอาหารว่างสำเร็จรูปพร้อมบริโภคจากกุ้ง และเพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงคุณภาพ ทางด้านเคมี กายภาพ จุลินทรีย์ และทางประสาทสัมผัสของ อาหารว่างสำเร็จรูปพร้อมบริโภคจากกุ้งในระหว่างการเก็บรักษา
ผลิตภัณฑ์กุ้งกรอบเม็ดมะม่วงหิมพานต์รสต้มยำ เป็นการนำกุ้งขนาดพอดีคำมาทอดทั้งเปลือกด้วยระบบสุญญากาศ เพื่อให้ได้กุ้งที่กรอบ เบา เพิ่มรสชาติและกลิ่นหอมด้วยเครื่องสมุนไพรไทยพร้อม ถั่วทอด และเครื่องต้มยำ มีไขมันต่ำ โปรตีนและแคลเซียมสูง เป็นอาหารว่าง และใช้ปรุงประกอบร่วมกับอาหารชนิดอื่นได้ เช่น ยำ สลัด และข้าวผัด เป็นต้น อร่อย ทานง่าย พกพาสะดวก เก็บได้นาน ด้วย
ตัวอย่างผลงานน่าใช้-น่าช้อป
ส่วนผลงานวิจัยอื่นๆ เช่น หุ่นยนต์ล้างแผงโซลาร์เซลล์ (Robotic Solar Cleaner) จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นนวัตกรรมหุ่นยนต์สำหรับล้างคราบฝุ่น หรือสิ่งสกปรกบนแผงโซลาร์เซลล์แบบอัตโนมัติ สามารถสั่งการได้ผ่านตัวเครื่องหรือผ่านสมาร์ตดีไวซ์ ช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุในการปฏิบัติงานบนที่สูงและค่าแรงในการล้างแผง รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์
โครงการฟื้นฟูและต่อยอดผ้าลายอย่าง เอกลักษณ์ อยุธยา “จุฬาพัสตร์” สู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน ผลงานจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา ที่ต่อยอดความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการฟื้นฟูและยกระดับลายผ้าโบราณให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีความร่วมสมัยแต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์จากมรดกภูมิปัญญาของชุมชน
เครื่องวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจพร้อมการตอบสนองด้วยเสียง ผลงานจากสถาบันพระบรมราชชนก ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในการคัดกรองระดับการติดบุหรี่และติดตามผลการเลิกบุหรี่
การใช้ประโยชน์จากโปรตีนจิ้งหรีด เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนอลฟู้ด สูตรโปรตีนสูงไขมันต่ำ และนวัตกรรมเซลล์เคมีไฟฟ้าขั้นสูงสำหรับบำบัดน้ำในระบบเลี้ยงปลาที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ
โคมไฟเซราสาน ผลงานจากมหาวิทยาลัยบูรพา ที่ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่โดยใช้วัสดุไผ่ท้องถิ่นในจังหวัดชลบุรีเป็นผลงานจักสานที่บูรณาการร่วมกับผลงานเซรามิกส์
ทรายแมวจากกากมันสำปะหลัง ผลงานจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เกิดจากกากมันสำปะหลังที่เป็นผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมผลิตแป้งมันสำปะหลังที่มีแป้งเป็นองค์ประกอบหลักในปริมาณที่สูง
การผลิตเครื่องปรุงรสจากปลาร้าด้วยเทคโนโลยีกล้าเชื้อจุลินทรีย์ ผลงานจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงที่สำคัญของอาหารไทย จากปลาน้ำจืดโดยกระบวนการหมักแบบธรรมชาติ ฯลฯ.