Carbon Offset ปั้นเทค คว้าโอกาส | ต้องหทัย กุวานนท์

Carbon Offset ปั้นเทค คว้าโอกาส | ต้องหทัย กุวานนท์

หลายประเทศในอาเซียนกำลังแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงการเป็นศูนย์กลางของโลกในการซื้อขายคาร์บอน หลังจากที่สิงคโปร์ได้เปิดตัว Climate Impact X (CIX) ตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายคาร์บอนเครดิตไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

อินโดนีเซียก็ประกาศเดินหน้าเป็นศูนย์กลางในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนของภูมิภาค โดยระบุว่าอินโดนีเซียมีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนได้ถึง 400 กิกะตัน และต้องการเชิญชวนนักลงทุนจากประเทศต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนในโครงการชดเชยคาร์บอนและเทคโนโลยีดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศหรือในพื้นที่อุตสาหกรรม

ภายในครึ่งหลังของปีนี้  อินโดนีเซียจะเปิดตลาดการซื้อขายคาร์บอน ซึ่งเป็นความพยายามที่จะส่งเสริมให้เกิดโครงการชดเชยการปล่อยคาร์บอนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากกว่า 30% ภายในปี 2030 อินโดนีเซียถือเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในอาเซียน และเป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนอยู่ในสิบอันดับแรกของโลก

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา BCG ระบุว่าถึงแม้ภูมิภาคอาเซียนจะครอบคลุมพื้นที่น้อยกว่า 1% ของพื้นที่รวมทั่วโลก แต่เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพที่จะนำเสนอบริการหรือโครงการ ที่จะชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้ถึง 30%  

หมายความว่า อาเซียนสามารถเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนได้ไม่ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการชดเชยคาร์บอนที่เป็น "Nature-based Solutions" (NbS) นั่นคือการใช้ธรรมชาติและระบบนิเวศในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและสร้างความยั่งยืน

แต่สิ่งที่ยังเป็น Pain Points ในปัจจุบันก็คือยังขาดการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาโครงการชดเชยคาร์บอนวิถีธรรมชาติ เช่น เทคโนโลยีอัตโนมัติและระบบควบคุมการจัดการแหล่งพลังงานทดแทน เทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำและสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีที่ใช้เซ็นเซอร์, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์, และระบบติดตามและบริหารจัดการป่า เป็นต้น

Carbon Offset ปั้นเทค คว้าโอกาส | ต้องหทัย กุวานนท์  

ปัจจุบันสตาร์ทอัพที่พัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยให้โครงการชดเชยคาร์บอนที่ใช้ธรรมชาติในการแก้ปัญหายังมีจำนวนน้อยมาก

ข้อมูลจาก Pitchbook รายงานว่า สตาร์ทอัพในกลุ่มนี้ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 8 รายในปี  2017 เป็น 22 รายในปี 2022   ด้วยดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นและตลาดที่ขยายตัว เราได้เห็นสตาร์ทอัพเกิดใหม่ด้าน Nature Tech หลายรายในอาเซียนที่สามารถระดมทุนระดับ Seed ได้แตะระดับร้อยล้านบาทหลังจากเปิดตัวเพียงแค่ไม่กี่เดือน เช่น

Fairatmos  สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียที่ให้บริการเรื่อง Carbon Accounting และแพลตฟอร์มการจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิต  

Unravel Carbon จากสิงคโปร์ที่พัฒนาซอฟท์แวร์เพื่อติดตาม ตรวจสอบและรายงานผลการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการซัพพลายเชน  

นอกจากนั้นยังมีสตาร์ทอัพที่เรียกตัวเองว่า “Nature Tech” ที่นำเสนอเทคโนโลยีและโซลูชั่นในการพัฒนาโครงการชดเชยคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ เช่น

Carbon Offset ปั้นเทค คว้าโอกาส | ต้องหทัย กุวานนท์

Nature Metrics สตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีการตรวจสอบขั้นสูง เพื่อตรวจจับดีเอ็นเอในตัวอย่างน้ำและดิน ทำให้มีฐานข้อมูลเพื่อช่วยให้นักลงทุนในโครงการชดเชยคาร์บอนสามารถระบุพื้นที่ที่ต้องการการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้

Pachama Originals สตาร์ทอัพที่พัฒนาแผนที่คาร์บอนจากภาพถ่ายดาวเทียมโดยช่วยติดตามและกำหนดสถานที่เหมาะสมสำหรับโครงการปลูกป่า

การเร่งพัฒนาสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในการติดตาม ตรวจสอบ และรายงานผลโครงการชดเชยคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้กับประเทศและในระดับภูมิภาค

นี่อาจถึงเวลาที่จะดึงเอาผู้เชี่ยวชาญด้าน Nature Tech จากภาครัฐมาทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและคว้าโอกาสในตลาดคาร์บอนเครดิตมูลค่าหลายหมื่นล้านนี้มาให้ได้