‘ตราเสือ’ ส่งสถาบันเทคโนโลยีผนังและพื้น อัปสกิลช่างปูนไทย
ตราเสือ นำทีมโดย ซีแพค (CPAC) ส่งสถาบันเทคโนโลยีผนังและพื้น จ.สระบุรี ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานช่างไทย สาขางานก่ออิฐ ฉาบผนังและที่เกี่ยวข้องกับปูนซีเมนต์ ชูนวัตกรรมพร้อมโปรแกรมอบรม เสริมทักษะให้แข่งขันได้ในเวทีโลก
ตราเสือ หรือ ในนามบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จํากัด (CPAC) โดยเครือซิเมนต์ไทย (SCG) ยกระดับสถาบันเทคโนโลยีผนังและพื้น จ.สระบุรี ออกแบบ “หลักสูตรอบรมแรงงานช่างก่อสร้างไทย” สาขางานก่ออิฐ ฉาบผนังและที่เกี่ยวข้องกับปูนซีเมนต์ ให้ทันสมัยและรองรับพฤติกรรมความสนใจของผู้รับเหมารุ่นใหม่ให้มีความสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดการก่อสร้างมากขึ้น
ธีระยุทธ พันธ์มีเชาว์ ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์การบริการด้านเทคนิค ซีแพค กล่าวว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการก่อสร้าง ทั้งในด้านสินค้าที่หลากหลาย เทคนิคการก่อสร้างใหม่ๆ รวมไปถึงเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้น ล้วนเป็นปัจจัยที่ผู้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้าง
ไม่ว่าจะเป็นช่าง ผู้รับเหมา เจ้าของแบรนด์สินค้า หรือแม้กระทั่งเจ้าของบ้านเอง จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ ให้เท่าทันกับรูปแบบงานก่อสร้างที่เปลี่ยนแปลงไป แรงงานช่างฝีมือในไทยจึงจำเป็นต้องอัปสกิลของตนเองเพื่อสอดรับกับความต้องการในปัจจุบัน ด้วยการนำนวัตกรรมเข้ามาปรับใช้ภายในอุตสาหกรรมของตน
"นวัตกรรมการก่อสร้างที่น่าจับตามองคือ นวัตกรรมการสร้างพลังงานและการสร้างเมืองสีเขียว ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อุตสาหกรรมการก่อสร้างต้องมีส่วนร่วมออกแบบและวางโครงสร้างพื้นฐานของเมืองด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการประหยัดพลังงาน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้มากขึ้นเพื่อรองรับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้อาศัยในเมือง"
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ออกแบบโปรแกรมการพัฒนาทักษะแรงงานบุคคลของสถาบันเทคโนโลยีผนังและพื้นในปี 2566 โดยใช้องค์ประกอบ 4M ประกอบด้วย
- Man (การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานของบุคคล)
- Machine (การพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ตลอดจนประยุกต์ใช้เทคโนโลยี)
- Method (การพัฒนาขั้นตอนการทำงาน)
- .Material (การพัฒนาปูนซีเมนต์และต่อยอดวัสดุใหม่ๆ) ที่จะตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนผู้รับเหมาใหญ่ กลาง เล็ก ที่สามารถบริหารจัดการเวลา ต้นทุน งบประมาณ และคุณภาพได้
หลักสูตรฝึกอบรมรองรับมากกว่า 15 หลักสูตร ครอบคลุมความรู้เกี่ยวกับตัวผลิตภัณฑ์และการใช้งานปูนซีเมนต์ มาตรฐานการทำงานก่ออิฐ-ฉาบปูน มาตรฐานการทำงานเทปรับพื้น มาตรฐานการทำงานปูกระเบื้องขนาดใหญ่ งานตกแต่งเพื่อเพิ่มมูลค่าสำหรับงานฉาบและงานฉาบ Décor and Loft Wall และมาตรฐานงานก่ออิฐ ฉาบปูนตามมาตรฐาน
ทั้งนี้ ยังมี “สมาร์ทไทเกอร์ทีม" (Smart Tiger Team) ทีมผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา อบรม สาธิต และบริการ ณ ไซต์งานก่อสร้าง ทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ที่ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดในประเทศไทย และอีก 5 หลักสูตร ที่ได้รับการรับรองจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เป็นการทดสอบตามมาตรฐานวิชาชีพในหมวดสาขาอาชีพช่างก่อสร้างอีกด้วย
ตราเสือ เพิ่มประสิทธิภาพของการทำงานด้วยเครื่องมือกลุ่ม Smart Tiger Tools ที่ยื่นจดสิทธิบัตรไปแล้ว 5 ผลงาน คือ รางก่ออิฐ เกรียงก่ออิฐมวลเบา เกรียงก่ออิฐพันปี เครื่องเช็กความพร้อมก่อนปั่นหน้าปูน และเครื่องผสมเทปูน โดยในระยะแรกได้สนับสนุนเครื่องมือเหล่านี้ให้กับกลุ่มช่างโครงการ ส่วนการวางจำหน่ายยังอยู่ในการวางแผนขั้นต่อไป
สถาบันเทคโนโลยีผนังและพื้นปูนซีเมนต์ เสมือนเป็น “สำนักตักศิลา” (ศูนย์บ่มเพาะพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานช่างก่อสร้าง) (Incubator Center) แหล่งรวมองค์ความรู้ด้านการก่อ ฉาบ และตกแต่งผนังและพื้นปูนซีเมนต์ เพียงแห่งเดียวในประเทศไทยและระดับอาเซียน ที่มีการถ่ายทอดความรู้อย่างเป็นระบบ ไม่เพียงช่วยยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานและเพิ่มมูลค่าช่างฝีมือเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้แข็งแกร่ง
รวมถึงเป็นศูนย์เก็บตัวเสริมสร้างทักษะแก่เยาวชนอาชีวะที่พร้อมเป็นตัวแทนของประเทศไทยในหมวด สาขาก่ออิฐ ฉาบผนัง เพื่อแข่งขันทักษะฝีมือระดับโลก พร้อมก้าวสู่การเป็น Cement Wall and Floor Solution Provider ได้อย่างแท้จริง