อนาคตการกำกับดูแล AI | ธราธร รัตนนฤมิตศร

การเติบโตแบบทวีคูณของเอไอ (AI) โดยเฉพาะ Generative AI ในรอบปีที่ผ่านมา กำลังเปลี่ยนโฉมภูมิทัศน์ของโลกไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งได้เปิดให้เห็นถึงโอกาสมากมายในการสร้างสรรค์งานที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่ในขณะเดียวกัน พัฒนาการของเอไอก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงที่สำคัญในหลายด้าน
ที่ผ่านมา เริ่มมีการตั้งวงถกเถียงอย่างจริงจังมากขึ้นในวาระของ “การกำกับดูแลเอไอ” (AI Governance) ในหลายประเทศ รวมถึงหลายฝ่ายเห็นว่าการให้แต่ละประเทศออกระเบียบการกำกับดูแลยังไม่เพียงพอ หากจำเป็นต้องมีกรอบการกำกับดูแลระดับโลกด้วย
ความเสี่ยงของ AI มีหลายแง่มุม ตั้งแต่ความไม่ถูกต้องในการตีความภาพถ่ายทางการแพทย์ ไปจนถึงอคติที่เกิดขึ้นจากคำตอบใน Large Language Models (LLM) เช่น ChatGPT รวมไปถึงการใช้เอไอขั้นสูงในการสร้างอาวุธไซเบอร์หรือเชื้อโรค
นอกจากนี้ ภัยคุกคามจากเอไอในอนาคตที่น่ากลัว คือการที่เอไอจะมีศักยภาพเหนือกว่ามนุษย์จนทำให้เผ่าพันธุ์มนุษย์ตกอยู่ในความเสี่ยงในการสูญพันธุ์หรือลดความสำคัญลงไป
แม้ว่ากฎหมายภายในประเทศอาจสามารถจัดการกับแอปพลิเคชันเอไอพื้นฐานต่างๆ ได้ง่ายกว่า แต่โมเดลเอไอที่ซับซ้อนอาจต้องการแนวทางการกำกับดูแลระดับโลก การเรียกร้องให้มีกรอบการกำกับดูแลระดับโลกอย่างครอบคลุมกลายเป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากขึ้น ความซับซ้อนของ AI ก่อให้เกิดความท้าทายในการกำกับดูแลระดับโลกที่ไม่เหมือนเดิม
ในอดีต องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) องค์การเพื่อการวิจัยนิวเคลียร์แห่งยุโรป (CERN) และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ได้พัฒนาขึ้นมาเพื่อจัดการเทคโนโลยีในด้านการบิน การวิจัยนิวเคลียร์ และพลังงานปรมาณู ตามลำดับ สถาบันเหล่านี้กำลังเป็นต้นแบบที่ทุกฝ่ายอ้างอิงสำหรับการตั้งองค์กรระดับโลกเพื่อดูแลเอไอ
ที่ผ่านมา มีข้อเสนอมากมายสำหรับโครงสร้างขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อกับดูแลเอไอระดับโลกนี้ บริษัท ไมโครซอฟท์ ได้เสนอโมเดลหน่วยงานที่คล้ายกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยให้เน้น “การกำหนดมาตรฐาน” เป็นหลัก
ส่วนบริษัท OpenAI เสนอให้มีการสร้าง “IAEA for superintelligence” หรือใช้โมเดลของ IAEA เพื่อกำกับดูแลเอไอ โดยให้เน้น “การควบคุมและการกำกับดูแลเอไอ” ในขณะเดียวกัน นักวิจัยด้านเอไอส่วนใหญ่ต้องการให้ไปใช้โมเดลองค์กรที่เน้น “การวิจัย” เป็นศูนย์กลางซึ่งคล้ายกับ CERN
แนวคิดอีกประการหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจ คือการจัดตั้งองค์กรที่เทียบเคียงได้กับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) โดยมุ่งเน้น “การเผยแพร่งานวิจัยด้านเอไอและการประเมินผลกระทบ”
อนึ่ง นอกจากการพยายามค้นหาโมเดลองค์กรกำกับดูแลสำหรับเอไอระดับโลกแล้ว หลายประเทศก็มีโมเดลการดูแลเอไอของตนเอง โดยเฉพาะสหรัฐ สหภาพยุโรป และจีน
โมเดลกำกับดูแลเอไอแบบสหรัฐ เน้นการกำกับดูแลที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยการดูแลของรัฐบาล
การมีส่วนร่วมของฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีสหรัฐกับบริษัท AI สะท้อนให้เห็นถึงการพึ่งพาข้อมูลเชิงลึกของอุตสาหกรรมสำหรับพัฒนากฎระเบียบเอไอเฉพาะภาคส่วน และมีสถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติสำหรับบทบาทในการกำหนดมาตรฐานเอไอเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในทุกภาคส่วน
แนวทางนี้เน้นส่งเสริมนวัตกรรม พร้อมกับสร้างสมดุลอย่างระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงการครอบงำโดยผู้เล่นหลักเพียงไม่กี่ราย และเน้นส่งเสริมการพัฒนาเอไออย่างเท่าเทียมกัน
โมเดลกำกับดูแลเอไอแบบสหภาพยุโรป กฎหมายเอไอของยุโรปได้ขยายหลักการของกฎระเบียบคุ้มครองข้อมูลทั่วไป (GDPR) ไปสู่เอไอ โดยมุ่งเน้นไปที่ความปลอดภัยของผู้ใช้ ความโปร่งใส และสิทธิขั้นพื้นฐาน
โดยจัดหมวดหมู่ของเอไอตามความเสี่ยง ใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดกับแอปพลิเคชันเอไอที่มีความเสี่ยงสูง หน่วยงานกำกับดูแลจะดูแลการใช้กฎระเบียบเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของโมเดลนี้อยู่ที่การปรับตัวให้เข้ากับภูมิทัศน์ของเอเอที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
โมเดลกำกับดูแลเอไอแบบจีน เน้นกฎระเบียบเอไอที่ควบคุมโดยรัฐ โดยผสานกฎระเบียบเอไอเข้ากับยุทธศาสตร์ระดับชาติ เน้นการควบคุมของรัฐและการใช้งานเชิงกลยุทธ์ ให้กฎระเบียบเอไอสอดคล้องกับแผนพัฒนาของประเทศ โดยรักษาสมดุลระหว่างการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะกับการสนับสนุนนวัตกรรม
โมเดลนี้นำเสนอรูปแบบที่น่าสนใจสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเอไอให้สอดคล้องกับลำดับความสำคัญของประเทศ
สำหรับประเทศไทยซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ใช้เอไอมากกว่าผู้ผลิตเอไอต้นแบบนั้น การพัฒนาเอไอและการกำกับดูแลเอไอจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาระดับชาติ เพื่อให้เอไอมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม
รวมถึงระบุภาคส่วนอุตสาหกรรมที่เอไอสามารถมีผลกระทบเชิงบวกที่สุด เช่น เกษตรกรรม การดูแลสุขภาพ และการศึกษา
นอกจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการสนับสนุนนวัตกรรมเอไอและการปกป้องผลประโยชน์สาธารณะ โดยการนำกฎระเบียบที่ส่งเสริมหลักปฏิบัติด้านเอไอที่มีจริยธรรม โดยไม่ปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์และการวิจัยมาใช้
จุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทยในมิติเอไอ คือ “ทุนมนุษย์” ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องลงทุนสร้างทักษะเอไอให้กับคนไทย ที่ไม่เพียงแต่หมายถึงทักษะทางเทคนิคเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเข้าใจในผลกระทบด้านจริยธรรม กฎหมาย และสังคมของเอไอด้วย