เอนไซม์กับไฮโซสัตว์เลี้ยง | สุดาทิพย์ จันทร
ปัจจุบันคนหันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนกันมากมาย และเลี้ยงอย่างดีราวกับเป็นลูกรัก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องจึงเติบโตก้าวกระโดด ไม่เพียงในประเทศไทยแต่เป็นไปทั่วโลก โดยเฉพาะธุรกิจอาหารสัตว์ นับเป็นโอกาสของไทยที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์
ข้อมูลจากสมาคมการค้าอาหารสัตว์ระบุว่าปี 2565 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงสูงเป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากเยอรมนี และสหรัฐอเมริกา การที่คนจำนวนมากดูแลสัตว์เลี้ยงเหมือนคนในครอบครัว ส่งผลให้ความต้องการอาหารสัตว์คุณภาพสูงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อาหารสัตว์เลี้ยงสมัยใหม่จึงไม่ใช่เศษอาหารที่ให้กันตามมีตามเกิดแบบสมัยก่อน เดี๋ยวนี้ในอาหารสัตว์เลี้ยงทั้งหลายต้องมีการเติมเอนไซม์ไม่ต่างกับคนที่ต้องการเอนไซม์ช่วยย่อยด้วยเช่นเดียวกัน การเติมเอนไซม์ในอาหารสัตว์ช่วยให้สัตว์สามารถย่อยและดูดซึมธาตุอาหารที่จำเป็นจากอาหารสัตว์ได้ดีขึ้น
บทความนี้ชวนมาดูกันว่าการผลิตอาหารเพื่อสัตว์เลี้ยงระดับไฮโซนั้นมีเอนไซม์เป็นพระเอกอย่างไร
หากจำแนกประเภทอาหารสัตว์ตามสารอาหารที่ย่อยได้ จะแบ่งเป็น อาหารหยาบ ซึ่งเป็นอาหารสำคัญของสัตว์ประเภทกินหญ้าเป็นหลัก มีสารอาหาร เช่น โปรตีน และพลังงานน้อย แต่มีสารย่อยยากหรือกากมาก เช่น ต้นหญ้าต่างๆ ต้นข้าวโพด ฟางข้าว และใบพืชอื่นๆ ที่สัตว์กินได้
อาหารสัตว์แบบข้น เป็นกลุ่มอาหารสัตว์ที่มีสารอาหารสูง ย่อยง่าย มีกากหรือเยื่อใยน้อย เช่น เมล็ดธัญพืชต่าง ๆ เมล็ดข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วลิสง กากถั่วต่างๆ รำข้าว และปลาป่น อาหารข้นใช้เลี้ยงสัตว์ทุกชนิดได้
คุณภาพของอาหารสัตว์ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต อาหารสัตว์ที่มีคุณภาพดี มีสารอาหารสูงครบถ้วนตามความต้องการของสัตว์ เช่น อาหารสัตว์ที่มีโปรตีนสูง วัตถุดิบอาจได้จากกากถั่วต่างๆ หรือปลาป่น เศษเนื้อป่น มีการเสริมแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น กระดูกป่น เป็นต้น
แต่วัตถุดิบที่ใช้เหล่านี้เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีโครงสร้างซับซ้อน และมีคุณค่าทางอาหารที่แตกต่างกัน การควบคุมคุณภาพของวัตุดิบจึงเป็นสิ่งจำเป็น
ผู้ผลิตอาหารสัตว์ระดับไฮโซจึงต้องเอาความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพด้านเทคโนโลยีเอนไซม์ มาใช้เพื่อช่วยแก้ปัญหาด้วย เอนไซม์ ที่ว่านี้คือ ตัวเร่งปฏิกิริยาชีวภาพ เช่น การย่อย การหมัก ช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ต้องการ
การใช้เอนไซม์ในการผลิตอาหารสัตว์จะช่วยปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตอาหารสัตว์ โดยมีวัตถุประสงค์ในการใช้ 3 ประการ ได้แก่
ประการแรก สามารถปรับปรุงโครงสร้างของวัตถุดิบ ให้มีโครงสร้างที่สัตว์สามารถย่อยและดูดซึมสารอาหารได้ดีขึ้น เช่น การใช้เอนไซม์กลูคาเนส เพื่อย่อยสลายพอลิแซกคาไรด์ในข้าวสาลี ช่วยเพิ่มการย่อยของสัตว์กระเพาะเดี่ยวให้ย่อยข้าวสาลีได้ดียิ่งขึ้น
หรือการใช้เอนไซม์ไซลาเนสเพื่อย่อยสลายเส้นใยและส่วนที่ไม่ใช่แป้งในข้าวโพดและรำข้าว เพื่อให้เกิดเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวทำให้สัตว์ดูดซึมได้ดียิ่งขึ้น หรือการเติมเอนไซม์โปรติเอสร่วมกับเอนไซม์ไซลาเนสเพื่อย่อยถั่วเหลืองและข้าวโพด จะช่วยเพิ่มปริมาณกรดอะมิโนในอาหารสัตว์มากขึ้น
ประการที่สอง สามารถกำจัดโครงสร้างของสารที่เกิดขึ้นหลังกระบวนการย่อยที่ขัดขวางการดูดซึมสารอาหารในทางเดินอาหารของสัตว์ เช่น การเติมเอนไซม์ไฟเตสในระหว่างกระบวนการผลิตอาหารสัตว์ที่มีส่วนประกอบของพืชตระกูลถั่วสูง เพราะไฟเตตในพืชตระกูลถั่วจะขัดขวางการดูดซึมธาตุอาหารและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการเจริญของสัตว์
เอนไซม์ไฟเตสจะไปช่วยกำจัดไฟเตต ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เป็นธาตุฟอสฟอรัส และแร่ธาตุอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเติบโตของสัตว์
ประการที่สาม สามารถช่วยปรับโครงสร้างของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าสารอาหารต่ำ ให้มีคุณค่าสารอาหารสูงขึ้น เช่น ใช้เอนไซม์เคราติเนส ย่อยสลายขนไก่ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนในอาหารสัตว์ แต่เนื่องจากสัตว์สามารถย่อยและดูดซึมขนไก่ได้น้อย
การเติมเอนไซม์เคราติเนสลงไปในอาหาร จะช่วยย่อยสลายขนไก่และปลดปล่อยกรดอะมิโนออกมาทำให้อาหารสัตว์ที่ผลิตได้มีปริมาณกรดอะมิโนสูงขึ้น สัตว์ดูดซึมสารอาหารได้ดียิ่งขึ้นตามไปด้วย
การใช้เอนไซม์ในอาหารสัตว์จะใช้ในรูปแบบเอนไซม์ผสม เพื่อให้เอนไซม์ทุกชนิดทำงานร่วมกัน ทำให้ได้อาหารสัตว์ที่มีคุณค่าสารอาหารสูง
นอกจากนั้น อาหารสัตว์ยุคใหม่ยังมีการเติมสารเสริมต่างๆ ซึ่งแบ่งเป็น 3 ประเภทได้แก่
1) สารยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ ที่ขัดขวางการย่อยและดูดซึมสารอาหาร หรือสารที่ช่วยทำให้จุลินทรีย์ที่ดีในทางเดินอาหารของสัตว์ทำงานได้ดีขึ้น ส่งผลให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันที่ดี
2) ฮอร์โมนหรือสารคล้ายฮอร์โมน ซึ่งมีทั้งรูปแบบฮอร์โมนจากธรรมชาติ และ
3) ฮอร์โมนสังเคราะห์ โดยจะเสริมในอาหารสัตว์ตามความต้องการจำเพาะและความต้องการอื่น ๆ เช่น กำจัดพยาธิ กำจัดเชื้อรา หรือปรุงแต่งกลิ่นและรสของอาหาร
เอนไซม์และสารเสริมเหล่านี้ จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอาหารสัตว์ ทำให้สัตว์เลี้ยงแสนรักเติบโต แข็งแรง มีสุขภาพดี สวยงาม สนองความต้องการของเจ้าของสัตว์เลี้ยงในกระแสโลกปัจจุบัน ธุรกิจการผลิตเอนไซม์จึงเติบโตก้าวกระโดดไปพร้อมกับธุรกิจผลิตอาหารสัตว์
ปัจจุบันเอนไซม์ผลิตจากจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรียและรา เพราะแบคทีเรียและราเพาะเลี้ยงได้ง่าย ผลิตได้ในปริมาณมาก และเอนไซม์ที่ผลิตได้มีประสิทธิภาพสูง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม BCG ที่น่าสนใจและควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่ง ในยามที่ผู้คนไม่ได้เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง แต่เลี้ยงและเอาใจใส่เหมือนอย่างคนในครอบครัวหรือยิ่งกว่าคนในครอบครัวด้วยซ้ำไป.