‘ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง’ แก้ไขปัญหาให้ชาวเมือง
กระทรวง อว. ผนึกความร่วมมือกับ กทม. จัดตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง นำนวัตกรรมแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ สู่เป้าหมาย “เมืองนวัตกรรมและน่าอยู่สำหรับทุกคน” (Innovative and Livable City for All)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงาน “ตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง” นำงานวิจัยและนวัตกรรม ต่อยอดสู่การแก้ปัญหาให้เมืองในหลากมิติ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการศึกษาและเรียนรู้
ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกอันรวดเร็วในปัจจุบันทำให้เมืองประสบกับปัญหาในหลายด้าน เช่น ภัยธรรมชาติและมลภาวะที่ส่งผลต่อการอยู่อาศัย ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความปลอดภัย ผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงบริการสาธารณสุข
ดังนั้น กระทรวง อว. จึงนำผลงานวิจัยมาและนวัตกรรมมาใช้สนับสนุนการทำงานของกรุงเทพฯ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาเมืองในมิติดังกล่าว ซึ่งโมเดลเมืองนวัตกรรมกรุงเทพฯ จะเป็นโมเดลที่ช่วยต่อยอดไปยังเมืองอื่นๆ ทำให้ทุกเมืองในประเทศไทยนั้นมีความน่าอยู่กับทุกคนมากยิ่งขึ้น
ด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวทิ้งท้ายว่า “กรุงเทพฯ มีปัญหาที่รอแก้ไขเยอะ และยังมีเทคโนโลยีน้อย ดังนั้น การได้ทำงานร่วมกับกระทรวง อว.และภาคีเครือข่ายต่างๆ ทำให้สามารถทำงานได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
เช่น ทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) แพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมืองที่ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งปัญหาที่เจอ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขให้ได้อย่างตรงจุด หรืองานบางกอกวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา เพื่อทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมนั้นสำคัญกับชีวิตในประจำวันและการอยู่รอดในอนาคต เราเอาปัญหากับเทคโนโลยีมาเจอกัน เพื่อสร้างและผลิตสิ่งใหม่ช่วยแก้ไขปัญหาเมือง”
ภายในงานตลาดนัดนวัตกรรม 3 มุมเมือง อว. ได้นำผลงานจำนวนมากมาแสดง เช่น
1. ด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติมีเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศ วัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 แบบเซ็นเซอร์ มีอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนโครงสร้างอาคารและระบบแจ้งเตือนภัย เพื่อทำให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยขึ้น
2. ด้านสุขภาพ มีย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เป็นพื้นที่ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนด้านการแพทย์และมีการทำงานร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลเพื่อทำให้การดูแลและส่งต่อผู้ป่วยทำได้รวดเร็วและสามารถเข้าถึงบริการด้านการแพทย์ได้ดีขึ้น
3. ด้านสังคม มีแอพพลิเคชั่นบริการรถแท็กซี่สำหรับผู้สูงอายุ, มีต้นแบบเผยแพร่วัฒนธรรมไทย – จีนจากมุมมองของคน 3 ช่วงวัย เพื่อให้เมืองดูแลกลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุม
4. ด้านเศรษฐกิจ มีแอปพลิชันระบบบัญชีอัจฉริยะ, มีแพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาแบบพุ่งเป้าเบ็ดเสร็จ
5. ด้านการศึกษาและการเรียนรู้ มีแอปพลิเคชันคัดกรองเด็กที่มีความลำบากในการอ่าน เพื่อเพิ่มสัมฤทธิผลทางการศึกษาของเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น
3 ประการของ “3 มุมเมือง”
1. การสะท้อน “ประเด็นปัญหาที่สำคัญ” ของเมืองและชุมชนท้องถิ่น ได้แก่
- ด้านการศึกษาและการส่งเสริมการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อการพัฒนาเมืองและชุมชนในอนาคต
- ด้านเศรษฐกิจ ความยากจน ปัญหาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนเมือง
- ด้านระบบกายภาพของเมือง อาทิ การจัดการระบบคมนาคมและผังเมือง การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการความปลอดภัย และภัยพิบัติสำหรับชุมชนเมือง
2. ครอบคลุม “กลุ่มเป้าหมาย” ได้แก่
- คณะผู้บริหารและบุคลากรของกรุงเทพมหานคร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ในฐานะผู้ใช้ประโยชน์ (Key users) ของผลงานวิจัยและนวัตกรรม
- เด็ก เยาวชน และบุคลากรด้านการศึกษา ในฐานะพลเมืองที่จะมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับอนาคต
- ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป ในฐานะพลเมืองผู้อยู่อาศัยในเมืองกรุงเทพฯ และเป็นภาคีหุ้นส่วนในการสร้างเมืองกรุงเทพฯ สำหรับอนาคต
3. สื่อถึง “พื้นที่จัดงาน” โดยจัดแบ่งเป็น 3 โซนที่สำคัญ ได้แก่
- เมืองนวัตกรรมการเรียนรู้ (Learning City) พื้นที่บริเวณภายในหอศิลป์ฯ และบริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน ซึ่งมีบอร์ดนิทรรศการต่าง ๆ ที่ประกอบไปด้วยเนื้องานเกี่ยวกับย่านสุขภาพ ย่านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ ย่านการศึกษาและการเรียนรู้ ย่านเศรษฐกิจและชุมชน และย่านการจัดการเมืองและการมีส่วนร่วม
- เมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (Smart and Livable City) พื้นที่บริเวณภายหน้าหอศิลป์ฯ ประกอบไปด้วย CityLab Livabele and Smart City และการจำหน่ายหนังสืองานวิจัย
- เมืองนวัตกรรมสำหรับทุกคน (Innovative City for All) เพื่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ได้แก่ พื้นที่บริเวณลาน Skywalk สี่แยกปทุมวัน จะมีการออกร้านสินค้าชุมชน งานหัตถกรรม สินค้าเกษตรงานหัตถกรรมและศิลปวัฒนธรรม
นโยบายพัฒนาเมือง
รมว.อว ได้มอบนโยบายการพัฒนาเมืองให้กับหน่วยงานในกระทรวง อว. ไว้ 4 เรื่อง เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานร่วมกัน คือ
1. เร่งรัดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปช่วยในการพัฒนาเมืองในทุกมิติ โดยให้ใช้ศักยภาพด้านการวิจัยและนวัตกรรมของ อว. สนับสนุนการทำงานของทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน
สำหรับกรุงเทพฯ ให้ทำงานร่วมกับ Bangkok City Lab และส่วนงานอื่นๆ ในการนำโจทย์ความต้องการมา จับคู่กับผลงานวิจัยของ อว. ที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง และมุ่งพัฒนาความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง
2. สนับสนุนการพัฒนาต้นแบบเมืองหรือย่าน (City Sandbox) ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี รวมถึงการสนับสนุนให้นำผลงานด้านศิลปวัฒนธรรม มาส่งเสริมให้เกิดย่านวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิตไปพร้อมๆ กับการรักษาเอกลักษณ์ความเป็นไทย
3. สนับสนุนการจัดทำข้อมูล (City Data Platform) ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพเมือง ทำให้สามารถคาดการณ์อนาคตและแก้ปัญหาได้ตรงจุด เช่น ตัวชี้วัดการพัฒนาเมือง แพลตฟอร์มข้อมูลชี้เป้าครัวเรือนยากจน ฐานข้อมูลพื้นที่เสี่ยง อาคารสูง และการจัดการภัยพิบัติ
4. สนับสนุนการสร้างผู้นำท้องถิ่นและผู้นำเมืองยุคใหม่ เพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ผ่านหลักสูตรที่มีชุดความรู้ที่ได้จากการวิจัยและนวัตกรรม