พาวเวอร์แบงค์ระเบิด กรมวิทย์ฯมีคำแนะนำวิธีเลือกซื้อให้ปลอดภัย
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) แนะวิธีการเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ และการเก็บรักษา หลังพบพาวเวอร์แบงค์ระเบิดบนเครื่องบิน เตรียมประสานส่งทีมร่วมสอบสวน
KEY
POINTS
- กรมวิทยาศาสตร์บริการ แนะวิธีการเลือกซื้อพาวเวอร์แบงค์ และการเก็บรักษา
- ย้ำชัดๆ พาวเวอร์แบงค์ทุกชิ้นต้องผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย “มอก.”
- ล่าสุดเตรียมประสานเก็บตัวอย่างชิ้นส่วนพาวเวอร์แบงค์มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ จากเหตุการณ์พาวเวอร์แบงค์ของผู้โดยสารระเบิดบนเครื่องบินโดยสาร มีไฟลุกโชน ควันโขมง ลูกเรือบนเครื่องบินสามารถดับไฟได้สำเร็จอย่างชุลมุน ใช้เวลาประมาณ 2 นาที
นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้สั่งการให้ประสานการเข้าร่วมสอบสวนเหตุการณ์ดังกล่าว โดยจะประสานการเก็บตัวอย่างพาวเวอร์แบงค์ที่ระเบิด เพื่อมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติ เพื่อหาสาเหตุและเสนอแนวทางการป้องกันต่อไป
"โอกาสเกิดการระเบิด ถ้าเป็น พาวเวอร์แบงค์ที่ไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน หรือเสื่อมสภาพ โดยเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้เกิดการระเบิด หรือเกิดการติดไฟลุกไหม้ได้" นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าว
ปกติ พาวเวอร์แบงค์ จะมีระบบการตัดวงจรควบคุมไฟฟ้า แต่หากระบบนี้เกิดการชำรุด หรือเสื่อมสภาพ ก็จะไม่ทำงานและเกิดการลัดวงจรขึ้นได้ เช่น โดนน้ำ หรือได้รับความร้อนที่สูงเกินไป เนื่องจากลิเธียมเป็นโลหะไวไฟต่อปฏิกิริยาเคมีเป็นอย่างมาก
ดังนั้น กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ให้ข้อแนะนำประชาชน
1. ควรเลือกใช้ พาวเวอร์แบงค์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการทดสอบความปลอดภัย หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีราคาถูกแต่มีความจุที่สูง ซึ่งมันมีโอกาสที่จะเกิดการระเบิดได้
2. เมื่อเสียบชาร์จไฟควรจะถอดสายออกทันที เมื่อชาร์จจนเต็มไม่ควรที่จะเสียบชาร์จทิ้งไว้
3. ห้ามเก็บหรือวางไว้ในที่มีอุณหภูมิสูงหรือความชื้นสูง
4. พาวเวอร์แบงค์ทุกชิ้นต้องผ่านมาตรฐานด้านความปลอดภัย “มอก.” ซึ่งพาวเวอร์แบงค์ทุกยี่ห้อ หากจะวางจำหน่ายในประเทศไทยต้องมีเครื่องหมาย มอก.รับรอง และต้องขออนุญาตจาก สำนักมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.)ในการผลิตหรือนำเข้าด้วย
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ขอให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ประชาชนว่า พาวเวอร์แบงค์ส่วนใหญ่สร้างด้วยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เช่นเดียวกับถังน้ำมันเบนซินหรือกระสุนในปืน
แบตเตอรี่มีพลังงานอยู่ในนั้นมาก หากพลังงานนั้นปล่อยออกมาในลักษณะที่เราไม่ต้องการให้เกิดไฟไหม้หรือระเบิดได้นี่เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดในการทำความเข้าใจว่าทำไมพาวเวอร์แบงค์ถึงลุกไหม้และระเบิดมีชิ้นส่วนและกระบวนการมากมายที่ทำให้พาวเวอร์แบงค์ทำงานได้
หากกระบวนการใดผิดพลาด ก็มีโอกาสที่พลังงานจะถูกปล่อยออกมา ตัวทำละลายอิเล็กโทรไลต์ภายในแบตเตอรี่ติดไฟได้ ดังนั้นเมื่อแบตเตอรี่ไม่สามารถระบายและสร้างแรงกดดันในขณะที่อิเล็กโทรไลต์ไหม้ แบตเตอรี่ก็จะระเบิด
จากข้อมูลการวิจัยพบว่า สาเหตุหลักที่ทำให้พาวเวอร์แบงค์ระเบิดคือวงจรที่ไม่สมบูรณ์ อยู่ในการเชื่อมที่มีสารปนเปื้อน หรือไม่มีฉนวนวงจรที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการลัดวงจร มันทำให้เกิดความร้อนสูงเกินไป จากนั้นจึงเกิดไฟไหม้และระเบิด
ซึ่งพบว่ามีโรงงานขนาดเล็กบางแห่งยอมสละคุณภาพแบตเตอรี่เพื่อให้ได้ราคาที่ต่ำ มันก็มีอันตรายเช่นกัน และในฐานะผู้ใช้จะทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้หากวางพาวเวอร์แบงค์ไว้ในสภาวะที่มีความเสี่ยง เช่น ทิ้งไว้ในอุณหภูมิหรือความชื้นสูง.