eVTOL สำรวจป่า-ชายฝั่ง โดรนฝีมือไทยโกอินเตอร์ในงาน CES 2024
อีวีทัล (eVTOL) โดรนสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทย ขึ้น-ลงแนวดิ่ง พลังงานไฟฟ้า ประหยัดพลังงาน ตัวอย่างความสำเร็จผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศที่ร่วมจัดแสดงในงาน CES 2024
อีวีทัล (eVTOL) โดรนสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของไทย ร่วมจัดแสดงในงาน KMITL Innovation Expo 2024 งานจัดแสดงนวัตกรรมและผลงานวิจัยของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเพิ่งเข้าร่วมงาน CES 2024 งานแสดงเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก ที่เมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา
eVTOL เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการผสานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอวกาศ กับความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติริมชายฝั่งอย่างสอดคล้องและไปด้วยกันได้
การจัดการชายฝั่ง
อีวีทัลเป็นเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ ขึ้น-ลงแนวดิ่ง พลังงานไฟฟ้า ผลงานการออกแบบและพัฒนาเพื่อใช้งานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แบ่งเป็น 3 เฟส โดยเฟสที่ 1 บินนำร่องสำรวจทำแผนที่ทรัพยากรป่าไม้ของไทยให้อัปเดต 11 อุทยานแห่งชาติ 13 ล้านไร่ แผนงานเฟสที่ 2 เตรียมสำรวจชายฝั่งทะเลไทย และเฟสที่ 3 โครงการรักษาความปลอดภัยในเมือง
เสริมศักดิ์ อยู่เย็น คณบดีวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล.กล่าวว่า สจล.ได้ออกแบบและพัฒนาอีวีทัลพร้อมระบบควบคุม 14 ลำ ซึ่งส่งมอบกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อนำไปใช้งานแล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในเฟส 2 เป้าหมายเพื่อถ่ายภาพและอัปเดตแผนที่ชายฝั่งให้เป็นปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาฐานข้อมูลชายฝั่งของประเทศไทย
ในปี 2566 อีวีทัลนำร่องใช้สำรวจป่าไม้ 13 ล้านไร่ บินลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์และปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าแทนการใช้เฮลิคอปเตอร์ สามารถลดต้นทุนได้ครั้งละ 1 แสนบาท และเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ อีวีทัลมีประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่
- ติดตามการกัดเซาะชายฝั่ง เพื่อบันทึกภาพการเปลี่ยนแปลงของชายฝั่ง สามารถวางแผนป้องกันและฟื้นฟูชายฝั่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ติดตามมลพิษทางทะเล สามารถตรวจจับคราบน้ำมันและมลพิษทางทะเล เพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหามลพิษได้อย่างทันท่วงที
- ข้อมูลจากโดรนสามารถช่วยประเมินศักยภาพของทรัพยากรทางทะเล เช่น ปลา สัตว์น้ำ ปะการัง
- สามารถช่วยเรื่องการวางแผนการพัฒนาชายฝั่งที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ช่วยให้การพัฒนาชายฝั่งเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน
ไลดาร์ศึกษาแนวปะการัง
“ขณะนี้แผนการดำเนินงานของอีวีทัลกับชายฝั่งอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบเทคโนโลยี ระยะเวลาทั้งหมด 8 เดือน ครอบคลุมระยะทาง 480 กิโลเมตรตามแนวชายฝั่งอ่าวไทยรูปตัว ก เริ่มต้นตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์บินเลาะชายฝั่งมาเรื่อยๆ และสิ้นสุดที่ปากน้ำประแส จ.ระยองเพื่อเก็บข้อมูลคลื่นและปะการัง รวมทั้งเพื่อตรวจสอบข้อจำกัดต่างๆ ในการทำงาน เช่น ความแรงจากลมทะเล ทิศทางทั้งตอนสว่างและตอนมืด เป็นต้น"
เสริมศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมอีกว่า อีวีทัลที่ออกแบบเพิ่มกล้องไลดาร์ (LiDAR) ซึ่งมีคุณสมบัติวัดระยะหรือความสูงของพื้นผิว เพื่อนำมาใช้ศึกษาแนวปะการัง
“การนำกล้องไลดาร์มาติดตั้งไว้กับโดรนอีวีทัล ช่วยให้มองเห็นทรัพยากรที่อยู่ตามแนวชายฝั่ง เห็นความลึกของระดับผิวน้ำ ไลดาร์จะดูเรื่องความถี่และสะท้อนภาพขึ้นมา จากนั้นจะประมวลผลให้กลายเป็นรูปภาพ วิธีนี้จะช่วยให้เราแยกปะการังได้อย่างรวดเร็ว เพราะการตรวจสอบปะการังแบบเดิม ไม่สามารถแยกปะการังได้อย่างแม่นยำ และใช้ต้นทุนที่สูง”
ไลดาร์ยังสามารถนำไปใช้สำหรับงาน แผนที่ทางอากาศ ข้อมูลภาคสนาม นำไปประยุกต์ใช้ได้ทั้งการพัฒนาชายฝั่ง การประมง การท่องเที่ยว เรื่อยไปจนถึงการอนุรักษ์ เพื่อวางแผนการจัดการที่เหมาะสม ยังเป็นข้อมูลสำคัญมากในการติดตามผลกระทบจากเอลนีโญและโลกร้อน วิธีนี้เป็นวิธีที่ประหยัดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการสำรวจ เราจะช่วยแนวปะการังของไทยได้อย่างทันเวลา
นอกจากนี้ แผนการเฟสที่ 3 ของอีวีทัล คือ ทำความร่วมมือกับหน่วยงานตำรวจ เพื่อจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังภัยเพื่อประชาชน โดยใช้อีวีทัลบินลาดตระเวนสังเกตการณ์ และบริหารจัดการในเมืองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติภัยในอนาคต
โดรนไทยโกอินเตอร์
นิรันดร์ รัตนโกวิท นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สจล. เป็นตัวแทนประเทศไทย นำเสนอผลงานอีวีทัล ในงาน CES 2024 ภายใต้โครงการ Thailand Pavillion กล่าวว่า จุดเด่นของอีวีทัล คือ เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีลูกผสมระหว่างโดรนกับเครื่องบินขึ้น-ลงแนวดิ่ง ไม่ต้องใช้รันเวย์ น้ำหนักเบา
ทั้งยังประหยัดพลังงาน สามารถบินได้นาน 3 ชั่วโมง โดย 1 ชั่วโมงสามารถบินครอบคลุมพื้นที่ 10,000 ไร่ มีเสียงเงียบ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความแข็งแรงและปลอดภัย และกล้องมีความละเอียดสูง สามารถซูมเห็นทะเบียนรถได้มากกว่า Google หลายเท่าตัว
“หากเทียบเทคโนโลยีนี้กับต่างประเทศ จุดเด่นคือ อีวีทัลเริ่มคิดเร็วกว่า ทำให้พัฒนาก้าวหน้ากว่า อย่างฝรั่งเศสและสวีเดนยังอยู่ในขั้นตอนของการเริ่มต้นทำ ซึ่งภายในงาน CES มีบริษัทใหญ่ๆ หลายราย เช่น ฮุนได มิซูบิชิ พานาโซนิก ให้ความสนใจอีวีทัลของไทย โดยรวมจำนวนผู้ที่เข้ามาสอบถามข้อมูลอยู่ที่ 400-500 คน นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของวงการอีวีทัลไทย”