จีนส่ง ‘ยานฉางเอ๋อ-6’ สำรวจเก็บตัวอย่างด้านมืดของดวงจันทร์
จีนปล่อยยานฉางเอ๋อ-6 ขึ้นสู่อวกาศ เพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่าง หิน ดิน จากมุมที่มองไม่เห็นของดวงจันทร์ โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี ส่งกลับมายังโลก
สำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน ประกาศว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พ.ค. จีนได้ปล่อยยาน “ฉางเอ๋อ-6” ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ เพื่อสำรวจและเก็บตัวอย่าง หิน ดิน จากมุมที่มองไม่เห็นของดวงจันทร์ ภารกิจดังกล่าวถือเป็นความพยายามครั้งแรกในประวัติศาสตร์เพื่อศึกษาวัตถุจากบริเวณที่มนุษย์ไม่เคยเยือนมาก่อน
ยานฉางเอ๋อ-6 ขึ้นไปโดยจรวด Long March-5 YB ถูกปล่อยจากศูนย์วิจัยอวกาศเวนชาง ที่มณฑลไหหลำ ทางตอนใต้ของจีน ตัวยานจะลงจอด ณ แอ่งขั้วโลกใต้-เอตเคน (South Pole-Aitken Basin) ซึ่งเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ด้านไกลของดวงจันทร์ จากนั้นจะเก็บตัวอย่างหินและดินบรรจุในแคปซูล และส่งกลับมายังโลก โดยคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 ปี
ในปี 2020 จีนประสบความสำเร็จในการนำตัวอย่างดินจากด้านใกล้ของดวงจันทร์กลับมายังโลก ถือเป็นการเก็บตัวอย่างดวงจันทร์ครั้งแรก นับตั้งแต่โครงการอะพอลโลของสหรัฐฯ ที่สิ้นสุดลงในช่วงทศวรรษ 1970 ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างเหล่านี้ พบว่ามีน้ำอยู่ในรูปของลูกปัดเล็กๆ ฝังอยู่ภายในดินบนดวงจันทร์
จีนมีเป้าหมายสร้างสถานีวิจัยถาวรบนดวงจันทร์ในอนาคต ข้อมูลที่ได้จากฉางเอ๋อ-6 จะเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการวางแผนการก่อสร้าง ข้อมูลที่ได้จากตัวอย่างหินและดิน จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจองค์ประกอบและวิวัฒนาการของดวงจันทร์ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น