4G นอกอวกาศ เตรียมความพร้อม ‘ภารกิจอาร์ทิมิส’ ส่งมนุษย์คืนสู่ดวงจันทร์

4G นอกอวกาศ เตรียมความพร้อม ‘ภารกิจอาร์ทิมิส’ ส่งมนุษย์คืนสู่ดวงจันทร์

นาซา - โนเกีย จับมือสร้างเครือข่าย 4G นอกอวกาศ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการสื่อสารแบบเรียลไทม์ให้กับนักบินอวกาศ เตรียมความพร้อมโครงการอาร์ทิมิส ส่งมนุษย์คืนสู่ดวงจันทร์อีกครั้ง

อินเทอร์เน็ต 4G บนดวงจันทร์ รองรับการสื่อสารความเร็วสูงช่วยให้นักบินอวกาศสามารถเล่นเน็ตและติดต่อกับครอบครัวได้แบบเรียลไทม์แม้ปฏิบัติภารกิจอยู่นอกโลก เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่คิดค้นมาเพื่อสนับสนุนโครงการอาร์ทิมิส (Artemis) ส่งนักบินอวกาศเยือนดวงจันทร์อีกครั้งตามรอย “นีล อาร์มสตรอง” จากองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) 

นักบินอวกาศสื่อสารผ่านทางคลื่นวิทยุที่ใช้เวลาราว 4 ถึง 20 นาที ตามตำแหน่งของดาวอังคารในแต่ละปี และเป็นการสื่อสารเพียงทางเดียว พวกเขาต้องการระบบที่สามารถพูดคุยกันแบบเรียลไทม์

จึงนำมาสู่ความร่วมมือระหว่าง โนเกีย (Nokia) บริษัทโทรคมนาคมชั้นนำของฟินแลนด์กับนาซา สร้างเครือข่าย 4G บนดวงจันทร์ เพื่อปฏิวัติการสื่อสารของนักบินอวกาศ และเตรียมพร้อมสำหรับภารกิจอาร์ทิมิส

อินเทอร์เน็ตนอกโลก

วอล เองเกลุนด์ รองผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีอวกาศของนาซา กล่าวว่า การมีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในอวกาศจะทำให้นักบินอวกาศสื่อสารกันง่ายและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย 4G ที่นาซาร่วมมือกับโนเกียทำให้สามารถส่งข้อความหากัน สตรีมมิงวิดีโอ และโทรศัพท์ได้แบบเรียลไทม์ ไม่ต่างกับการส่งไลน์หากันบนโลก

อุปกรณ์ต่างๆ ของเครือข่าย 4G ถูกพัฒนาจาก Bell Labs ของโนเกีย โดยใช้ส่วนประกอบเชิงพาณิชย์ที่มีอยู่ทั่วไป การขนส่งอุปกรณ์สื่อสาร 4G จะใช้จรวดของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ซึ่งมีกำหนดเดินทางภายในปี 2567 แต่ยังไม่สามารถระบุวันเวลาที่ชัดเจน โดยจะติดตั้งทางตอนใต้ของดวงจันทร์ และทดสอบการควบคุมระยะไกล

“ความสามารถด้านการสื่อสารบนดวงจันทร์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาร์ทิมิส สำคัญเท่ากับภารกิจอื่นๆ เช่น พลังงาน น้ำดื่ม และอากาศสำหรับหายใจ 4G จะช่วยสร้างเครือข่ายการสื่อสารบนดวงจันทร์ ที่ทำให้นักสำรวจสามารถส่งสัญญาณข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กลับมา หารือกับฝ่ายควบคุมภารกิจ และพูดคุยกับครอบครัวของพวกเขา

ราวกับว่าพวกเขากำลังอยู่บนโลกเดินไปตามถนนพร้อมโทรศัพท์มือถือได้ นับว่าเป็นก้าวสำคัญสำหรับการสำรวจอวกาศ นอกจากช่วยให้นักบินอวกาศทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว ยังช่วยวางรากฐานสำหรับการตั้งถิ่นฐานบนดวงจันทร์ในอนาคตได้อีกด้วย” เองเกลุนด์ กล่าว

อีกปัจจัยสำคัญสำหรับการสร้างเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตบนดวงจันทร์คือ การหาค้นหาน้ำแข็งบนดวงจันทร์ แม้ว่าปัจจุบันพื้นผิวของดวงจันทร์แห้ง แต่ภารกิจสำรวจดวงจันทร์ที่ผ่านมาก็เคยค้นพบซากน้ำแข็ง น้ำแข็งที่พบจะถูกนำมาใช้เป็นน้ำดื่มและยังสามารถแยกเป็นไฮโดรเจนและออกซิเจน ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับจรวด และสามารถใช้ออกซิเจนให้นักบินอวกาศใช้หายใจได้ด้วยเช่น

4G นอกอวกาศ เตรียมความพร้อม ‘ภารกิจอาร์ทิมิส’ ส่งมนุษย์คืนสู่ดวงจันทร์

ภารกิจอาร์ทิมิส

สำหรับภารกิจอาร์ทิมิสมีจุดประสงค์คือ การสำรวจอวกาศ ผลักดันขอบเขตและข้อกัดของเทคโนโลยีของมนุษย์ เพื่อหาทรัพยากรที่มีอยู่อย่างไม่จำกัดนอกโลก และเพื่อโอกาสตั้งถิ่นฐานระยะยาวบนดวงจันทร์

นาซาประกาศรายละเอียดของโครงการอาร์ทิมิส 6 ภารกิจ ดังนี้

อาร์ทิมิส 1 (29 ส.ค. 2565) ทดสอบจรวด SLS แล้วส่งยานอวกาศโอไรออนแบบไร้คนขับไปโคจรรอบดวงจันทร์

อาร์ทิมิส 2 (ปี 2567) ส่งนักบินอวกาศ 3 คนไปโคจรรอบดวงจันทร์กับยานอวกาศโอไรออน

อาร์ทิมิส 3 (ปี 2567-2568) ส่งนักบินอวกาศไปบนวงโคจรของดวงจันทร์ 4 คน โดยมี 2 คนที่จะได้ลงไปสัมผัสพื้นผิวดวงจันทร์ รวมทั้งการนำอินเทอร์เน็ต 4G ไปทดสอบติดตั้งด้วย

อาร์ทิมิส 4-5 (ปี 2570) ส่งนักบินอวกาศ 4 คนไปยังวงโคจรของดวงจันทร์ พร้อมกับติดตั้งโมดูลที่อยู่อาศัย I-HAB ของลูนาร์เกตเวย์

อาร์ทิมิส 6 (ปี 2571) ลงจอดดวงจันทร์ครั้งที่ 3 ของโครงการและนำแอร์ล็อคไปติดบนลูนาร์เกตเวย์สำหรับไว้ซ่อมแซมสถานีและทำการทดลองต่างๆ

ไทยได้อะไรจากเศรษฐกิจอวกาศ

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) รายงานว่า ดวงจันทร์เคยเป็นเพียงเป้าหมายทางการท่องเที่ยวทางอวกาศ แต่วันนี้ ดวงจันทร์กำลังกลายเป็นจุดสนใจใหม่สำหรับ “เศรษฐกิจอวกาศ” ที่กำลังเติบโต การแข่งขันด้านเทคโนโลยีอวกาศของแต่ละประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกเหนือจากมิติความมั่นคงของรัฐและสังคม ยังขยายไปถึงการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมอวกาศ

สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย พบว่า มีธุรกิจและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอวกาศกว่า 35,600 กิจการ

ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 5.6 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.6 ล้านคน สร้างมูลค่าทางสังคมกว่า 5.8 พันล้านบาท และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.9 หมื่นล้านบาท เรียกได้ว่าเป็นอีกเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน GDP ของประเทศ

ภาครัฐให้การสนับสนุนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งในด้านระบบนิเวศและกฎหมายอวกาศ ส่งผลให้เกิดการต่อยอดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งประเทศไทยจะช้าไม่ได้ เพราะวงโคจรอวกาศเป็นทรัพยากรร่วมที่มีอยู่จำกัด ในขณะที่จำนวนเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงขยะอวกาศนั้นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อ้างอิง: gizmochina , spaceth , NASA