รัฐบาลดิจิทัล (5) : ไหนใครว่า "ติดระเบียบ" นะ
งานบริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุญาตมีอยู่ประมาณ 3,830 บริการ สามารถพัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2,420 บริการ ณ กลางปี 2566 สามารถให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้วประมาณร้อยละ 60
จะทำอย่างไรให้เป็นบริการที่เหลืออีกเกือบหนึ่งพันบริการ กลายเป็นบริการอิเล็กทรอนิกส์ได้ครบทั้งหมด
กระบวนการขอรับบริการจากภาครัฐมีรูปแบบที่คล้ายๆ กัน คือเริ่มจาก “รู้” คือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับบริการ เอกสาร และขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง “ยื่น” คือการไปยื่นเรื่องที่สำนักงาน “จ่าย” คือการชำระค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) และท้ายสุดคือ การ “รับ” บริการหรือใบอนุญาต
ในการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล ไม่ใช่เพียงการนำกระบวนการทำงานที่ทำอยู่บนกระดาษไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น สิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือการทบทวนความจำเป็นเพื่อ “ลดขั้นตอนและเอกสาร” ให้เหลือน้อยที่สุด (Lean Process) โดยยึดถือ “ประชาชนเป็นศูนย์กลาง” (Citizen-Centric) ไม่เช่นนั้นแล้ว เราอาจทำได้แค่ลดการใช้กระดาษ แต่ก็ยังต้องใช้เวลานานเท่าเดิม
การลดขั้นตอนการทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับภาครัฐ หลายครั้งอาจจะเป็นเพียงความเคยชินในการปฏิบัติงานตามๆ กันมา จึงไม่ได้คิดปรับเปลี่ยน แต่หลายกรณี เจ้าหน้าที่มักจะบอกว่า “ติดระเบียบ” เพราะถูกเขียนไว้ว่าต้องใช้เอกสารและยื่นเรื่องด้วยตนเอง เป็นต้น
แน่นอนว่าไม่ใช่ความผิดของเจ้าหน้าที่ที่ต้องทำตามระเบียบ แต่เราต้องสืบให้ถึงที่สุดให้ได้ว่า ติดที่ระเบียบอะไร เป็นคำสั่ง ระเบียบภายในหน่วยงาน กฎกระทรวง หรือพระราชบัญญัติ เมื่อเป็นกฎเกณฑ์ที่มนุษย์เราสร้างขึ้นเอง การแก้ไขจึงอยู่ที่การปรับปรุงกฎระเบียบให้ทันสมัย
ที่ผ่านมา มีการศึกษาพร้อมจัดทำข้อเสนอให้มีการ “ยกเลิกกฎระเบียบที่ล้าสมัย” (Regulatory Guillotine) แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การยกเลิกได้จริง
ล่าสุด ผลสำรวจพบว่า มีกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการนำบริการอิเล็กทรอนิกส์มาใช้กับภาครัฐอยู่หลายสิบฉบับ หากจะแก้กฎหมายดังกล่าวทีละฉบับโดยต้องไปผ่านสภา กว่าจะแล้วเสร็จ เจ้าหน้าที่รัฐก็คงจะ “ทำงานจนเกษียณ” กันไปอีกหลายรุ่นทีเดียว
ดังนั้น แทนที่จะแก้กฎหมายทีละฉบับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงยกร่างกฎหมายขึ้นฉบับหนึ่งเพื่อเป็นกฎหมายกลาง (Omnibus Law) ในการให้หน่วยงานให้บริการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
นั่นก็คือ พ.ร.บ. ปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 โดยมีสาระสำคัญ คือการกำหนดให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วย “มีหน้าที่” ต้องจัดให้มีช่องทางและวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับประชาชน ในการติดต่อและขออนุญาตหรือรับบริการทุกชนิดจากภาครัฐได้ในทุกขั้นตอน
ที่น่าสนใจคือ กฎหมายนี้มี “สภาพบังคับ” หน่วยงานรัฐ หากไม่ทำย่อมมีความผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาได้ (เราจึงเรียกชื่อเล่นกันว่า “พ.ร.บ.วิ อิเล็กทรอนิกส์”)
นับตั้งแต่ พ.ร.บ.วิ อิเล็กทรอนิกส์ มีผลใช้บังคับ ประชาชนไม่ต้องถ่ายเอกสารของทางราชการอีกต่อไปแล้ว เป็น “หน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ” ในการทำและรับรองสำเนาโดย “ห้าม” เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ประชาชนสามารถยื่นขออนุญาต ตรวจสอบสถานะ หรือติดตามเรื่อง ตลอดจนได้รับใบอนุญาตและการติดต่อกลับทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
นอกจากนี้สามารถแสดงใบอนุญาต รวมถึงการตรวจสอบบัตรหรือใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ นั่นหมายความว่า ต่อไปประชาชน “ไม่ต้องพกบัตร” หรือติดใบอนุญาตไว้ที่ข้างผนังร้านค้าอีกต่อไป
ตัวอย่างผลสำเร็จของกฎหมายฉบับนี้คือ เราสามารถใช้แอป ThaID แทนการแสดงบัตรประชาชน ในการขึ้นเครื่องบินที่สนามบินในประเทศได้แล้ว รวมถึงการใช้ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอป DLT QR License
เมื่อมีกฎหมายมาช่วยขจัดอุปสรรคแล้ว หน่วยงานก็เกิดการตื่นตัวต้องเร่งทำให้เกิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ประชาชนใช้งานให้ได้ DGA จึงร่วมกับ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
จัดทำมาตรฐานและแนวปฏิบัติ ในแต่ละขั้นตอนย่อยของการ “รู้-ยื่น-จ่าย-รับ” โดยแนะนำวิธีการและเครื่องมือที่จะมาช่วยหน่วยงานในการทำให้เกิดช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
การทำบริการของหน่วยงานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์นั้น คือ “หน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของบริการ” นั้นๆ DGA และหน่วยงานกลางอื่นๆ ทำได้เพียงการ “สนับสนุน” ด้วยการจัดทำ มาตรฐาน แนวทางปฏิบัติ ให้คำปรึกษา และจัดให้มีแพลตฟอร์มกลาง เพื่อช่วยลดภาระให้หน่วยงานทำได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น
DGA ได้จัดทำ ระบบแพลตฟอร์มกลาง หลายระบบเพื่อรองรับการทำงานตามขั้นตอนมาตรฐานเหล่านี้ ในรูปแบบ microservice เพื่อให้หน่วยงานเลือกใช้ตามความต้องการได้ ไม่ต้องไปเสียเวลาทำทุกระบบขึ้นเองใหม่ทั้งหมด
เริ่มจาก ระบบเว็บไซต์กลางรวบรวมข้อมูลบริการของหน่วยงานรัฐ (info.go.th) ระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยใช้แอป ThaID ระบบพอร์ทัลกลางสำหรับประชาชน (แอปทางรัฐ) ระบบพอร์ทัลกลางสำหรับธุรกิจ (bizportal.go.th)
ซึ่งรวบรวมการขอใบอนุญาตธุรกิจทางออนไลน์ไว้กว่า 100 ใบอนุญาต ระบบยื่นและติดตามคำขอทางออนไลน์ (Service Request and Tracking : SRAT) ระบบลงนามเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) รวมถึง ระบบ “ท้องถิ่นดิจิทัล” สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย
การเปลี่ยนบริการภาครัฐให้เป็นดิจิทัลทั้งหมด 100% เป็นเป้าหมายของรัฐบาลดิจิทัลทุกประเทศ การขับเคลื่อนให้สำเร็จสำหรับประเทศไทยต้องอาศัยความตั้งใจจริงของรัฐบาล ในการเร่งรัดให้หน่วยงานทุกหน่วยงานทำตาม พ.ร.บ.วิ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำหนดให้ สำนักงาน ก.พ.ร.ต้องติดตามเร่งรัดหน่วยงานทุกสองสัปดาห์ และรายงานความคืบหน้าให้คณะรัฐมนตรีทราบทุก 60 วัน พร้อมทั้ง “ประกาศ” ให้ประชาชนทราบด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลควรจะให้ความสำคัญกับการ “ลด ละ เลิก” การขออนุมัติ อนุญาต ที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัย ด้วยการผลักดันให้เกิดการยกเลิกกฎระเบียบ (Regulatory Guillotine) ให้ได้จริง อย่างที่รัฐบาลเกาหลีใต้เคยทำสำเร็จมาแล้ว
เป็นที่น่าเสียดายว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงสิทธิของตนตาม พ.ร.บ.วิ อิเล็กทรอนิกส์ นี้ ภาครัฐจึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ จะได้เป็น “แรงเสริม” ให้หน่วยงานเร่งปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบครบทุกขั้นตอนโดยเร็ว
อย่างน้อยที่สุด ในวันนี้ เวลาประชาชนไปติดต่อราชการแล้วจะไม่มีใครถูกบอกให้ไป “ทำสำเนาแล้วเซ็นรับรองสำเนา” มายื่นเอกสารใหม่อีกต่อไป อย่ารอจนถึงวันที่มีใครไปฟ้องอธิบดีว่า “ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่” เลยครับ