รัฐบาลดิจิทัล (3) : ‘ท้องถิ่นดิจิทัล’ เมืองไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

รัฐบาลดิจิทัล (3) : ‘ท้องถิ่นดิจิทัล’ เมืองไทยไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ

ประเทศไทยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 7,850 แห่ง แบ่งเป็น อบจ. 76 แห่ง เทศบาลนคร 30 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อีก 5,300 แห่ง ยังมีองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 แห่งคือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา

การบริหารราชการส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น เป็นเรื่องซับซ้อนมาก เรามีทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย นายก อบจ. นายกเทศบาล และนายก อบต. ที่มาจากการเลือกตั้งในระดับจังหวัดและท้องถิ่น

ผู้ว่าฯ มีหน้าที่ประสานการปฏิบัติงานของข้าราชการในจังหวัด อบจ.ดูแลงบประมาณที่เกี่ยวกับการพัฒนาระดับจังหวัด เช่น การก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างอำเภอ การดูแลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ส่วนเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และ อบต. ดูแลพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่จำนวนแตกต่างกันไปตามลำดับ โดยอยู่ในเขตทับซ้อนกับพื้นที่จังหวัดที่ดูแลโดย อบจ. นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เป็น “ด่านแรกสุด” ในการดูแลประชาชนอย่างแท้จริงก็คือ เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบล

เทศบาลและ อบต. มีหน้าที่ตั้งแต่ดูแลการจัดการขยะ แก้ไขปัญหาร้องเรียน และการอนุมัติอนุญาต มีหลายงานที่ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติจบใน อปท. แต่ต้องส่งต่อไปยังจังหวัดหรือส่วนกลาง การทำงานของ อปท.เกือบทั้งหมดยังใช้กระดาษอยู่ ทำให้ประชาชนยังต้องเดินทางไปติดต่อที่สำนักงาน การเดินงานและติดตามเรื่องมีความล่าช้า บางครั้งก็สูญหาย ใช้เวลานานกว่าจะแล้วเสร็จ

อปท.หลายแห่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้บ้างแล้ว แต่ อปท.อีกจำนวนมาก ทำไม่ได้เพราะขาดงบประมาณและบุคลากรด้านไอที บางแห่งแม้จะมีงบประมาณ แต่ก็หาบริษัทเอกชนมาพัฒนาระบบไม่ได้ หรือเมื่อมีระบบแล้วก็ไม่ได้รับการดูแลให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง หรือมีความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพียงพอ

เทศบาลเมืองแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นต้นแบบขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับรางวัลจากสำนักงาน กพร. และหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ได้พัฒนาระบบงานออนไลน์เพื่อให้บริการ

1) รับแจ้งเรื่องร้องเรียน เช่น ไฟดับ ถนนชำรุด 2) การขออนุญาตก่อสร้างสำหรับพื้นที่ไม่เกิน 150 ตร.ม. ซึ่งไม่ต้องมีการไปสำรวจหน้างาน 3) การออกหนังสือรับรองการแจ้งสถานที่จำหน่ายอาหารหรือสะสมอาหาร 4) การชำระค่าธรรมเนียมการจัดเก็บขยะ และ 5) ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์

จะเห็นได้ว่า บริการเหล่านี้ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อนแต่มีจำนวนมาก เมื่อนำระบบมาใช้ ทำให้ประชาชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางหลายกิโลเมตรเพียงเพื่อมาแจ้งเหตุ ขออนุญาต หรือจ่ายค่าธรรมเนียมขยะเพียงไม่กี่สิบบาท ผู้บริหารของ อปท.สามารถอนุมัติผ่านระบบได้โดยไม่ต้องวิ่งเข้าสำนักงานตอนเย็นเพื่อลงนามหนังสือ สามารถติดตามเรื่องได้ว่าไปอยู่ที่กองไหน ดำเนินการแล้วเสร็จหรือไม่ เพียงดูผ่านโทรศัพท์มือถือเท่านั้น

จากปัญหาความพร้อมที่แตกต่างกันของ อปท. แนวทางที่เหมาะสมในการขับเคลื่อนไปสู่ดิจิทัลของ อปท. ทั่วประเทศ จึงไม่ใช่การปล่อยให้ อปท.แต่ละแห่งต่างคนต่างพัฒนาระบบขึ้นมา ซึ่งจะใช้เวลานานกว่าทุกแห่งจะพร้อมและทำระบบเสร็จ ทางออกคือการนำระบบแพลตฟอร์มกลาง (common platform) ไปให้ อปท.ทุกแห่งใช้

DGA จึงขอนำระบบต้นแบบของเทศบาลเมืองแม่เหียะ ไปทดลองใช้กับเทศบาลอื่น จำนวน 45 แห่ง ทั่วประเทศ แล้วพัฒนาต่อยอดเป็น “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” ซึ่งขยายให้รองรับผู้ใช้งานจากหลายหน่วยงาน (Multi-tenant Users) ด้วยการใช้ระบบคลาวด์กลาง จึงขยายระบบได้ง่าย และเพิ่มการดูแลเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

เราพบว่า อปท.ที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงนั้น ผู้บริหารระดับสูงสุดของ อปท. คือนายกเทศมนตรีกับปลัดเทศบาลหรือ นายกกับปลัด อบต.ต้องมี “วิสัยทัศน์เดียวกัน” ที่ต้องการปรับเปลี่ยน อปท.ให้เป็นดิจิทัล

จากนั้นก็ต้องสร้างการรับรู้ร่วมกันของเจ้าหน้าที่ทุกคน DGA จึงเริ่มจากการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงผ่านที่ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วก็ต้องติดตามไปยัง อปท.ต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม และท้ายสุดก็ยังต้องจัดอบรมให้เจ้าหน้าที่ทุกคนใน อปท.แต่ละแห่งที่จะนำระบบ “ท้องถิ่นดิจิทัล” ไปใช้ด้วย

จะเห็นได้ว่า การขยายผลนั้นไม่ใช่เมื่อมีระบบแพลตฟอร์มกลางแล้ว จะเนรมิตให้ อปท.ทุกแห่งเปลี่ยนได้ในช่วงข้ามคืน หากแต่ต้อง “สร้างความเข้าใจและความเต็มใจในการปรับเปลี่ยน” จึงจะเกิดแรงขับเคลื่อนและความยั่งยืน

DGA ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ร่วมจัดอบรมให้ อปท.แล้วเกือบ 1 พันแห่ง และใช้งานระบบแล้วหลายร้อยแห่ง นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมาธิการปฏิรูปราชการแผ่นดินของวุฒิสภา ก็ช่วยผลักดันให้ท้องถิ่นใช้ระบบท้องถิ่นดิจิทัลและแอป “ทางรัฐ” สำหรับประชาชนอีกด้วย

แน่นอนว่างานในท้องถิ่นไม่ได้มีเพียงการรับเรื่องร้องเรียน อนุมัติอนุญาต และจ่ายค่าธรรมเนียมเท่านั้น แต่ยังมีภารกิจอื่นๆ อีกมากมาย DGA จึงจัดประกวดนวัตกรรมเพื่อมอบรางวัล “ท้องถิ่นดิจิทัล” ให้แก่ อปท.ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล เช่น เทศบาลนครยะลา พัฒนาระบบ Big Data เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการ เทศบาลตำบลครึ่ง อ.เชียงของ จ.เชียงราย พัฒนาระบบบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการด้วยแอปถังเงิน ถังทอง เป็นต้น ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และนำไปขยายผลกับ อปท.อื่นๆ ต่อไป

ระบบท้องถิ่นดิจิทัล ที่ DGA พัฒนาขึ้นนี้ ไม่ได้เป็นการ “ผูกขาด” หรือ “บังคับ” ให้ อปท.ต้องใช้ระบบนี้เท่านั้น วัตถุประสงค์คือต้องการให้ อปท.เริ่มการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ดิจิทัลได้ง่ายขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ลดภาระในการพัฒนาและดูแลระบบ

ต่อไปอาจจะมีเอกชนพัฒนาระบบงานใหม่ๆ ไปเสนอให้ อปท. ทำให้บางแห่งอาจจะยกเลิกการใช้งาน “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” แต่ก็ถือว่า DGA และหน่วยงานพันธมิตรได้ช่วยกัน “สร้างความตื่นตัว” ให้กับ อปท. เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่การเป็นดิจิทัล “สำเร็จ” แล้ว

เป้าหมายต่อไปคือการขยายจำนวน อปท.ที่ใช้งานระบบให้ได้ถึงอย่างน้อยหนึ่งพันแห่ง และพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องให้มีเวอร์ชันใหม่ทุกปี ในระยะยาวเราต้องการให้ “ระบบท้องถิ่นดิจิทัล” กลายเป็น “แพลตฟอร์มเปิด” เพื่อสร้างระบบนิเวศ (ecoysystem) ให้ระบบงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนมาทำงานร่วมกันได้